เอกสารผลการประชุมรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือเอเชีย ครั้งที่ 13

ข่าวการเมือง Tuesday November 18, 2014 18:53 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบต่อร่างปฏิญญาริยาดสำหรับการประชุมรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือเอเชีย (Asia Cooperation Dialogue – ACD) ครั้งที่ 13

2. ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หรือผู้ได้รับมอบหมายร่วมให้การรับรองร่างปฏิญญาข้างต้น

3. หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างปฏิญญาข้างต้นที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้ กต. ดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง

สาระสำคัญของเรื่อง

กต. เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาว่า

1. กรอบความร่วมมือเอเชียจัดตั้งขึ้นโดยข้อริเริ่มของไทยเมื่อปี 2545 เพื่อเป็นเวทีของภูมิภาคเอเชียในการเสริมสร้างผลประโยชน์ร่วมกันจากการพัฒนาและการเจริญเติบโตของเอเชีย รวมทั้งเป็นเวทีหารือระดับนโยบายเพื่อวางแนวทางร่วมกันในการแก้ไขปัญหา และความท้าทายต่าง ๆ ตลอดจนส่งเสริมการค้า ขยายตลาด และขีดความสามารถในการแข่งขันของภูมิภาค ปัจจุบันกรอบความร่วมมือ ACD มีรัฐสมาชิก 33 รัฐ โดยไทยมีบทบาทเป็นประเทศผู้ประสานงาน ACD มาโดยตลอด

2. รัฐสมาชิก ACD จะหมุนเวียนกันเป็นประธานและเป็นเจ้าภาพการประชุมรัฐมนตรี โดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง 1 ปี ปัจจุบันมีซาอุดีอาระเบียเป็นประธาน ซาอุดีอาระเบียเข้ารับตำแหน่งประธานในการประชุมรัฐมนตรี ACD คู่ขนานกับการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ 69 เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2557

3. การประชุมรัฐมนตรี ACD ครั้งที่ 13 ซึ่งซาอุดีอาระเบียจะเป็นเจ้าภาพในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2557 ณ กรุงริยาด จะมีการพิจารณารับรองร่างปฏิญญาริยาดสำหรับการประชุมรัฐมนตรี ACD ครั้งที่ 13 ภายใต้หัวข้อ “การศึกษาที่เป็นเลิศ – เส้นทางสู่อนาคต” (“Outstanding Education – the Road to the Future”) เป็นเอกสารผลการประชุม

4. ร่างปฏิญญาริยาดสำหรับการประชุมรัฐมนตรี ACD ครั้งที่ 13 ให้ความสำคัญกับความร่วมมือด้านการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฐานความรู้ ภายใต้หัวข้อการประชุม “การศึกษาที่เป็นเลิศ เส้นทางสู่อนาคต” นอกจากนี้ร่างปฏิญญามีสาระสำคัญอื่น ๆ อาทิ เช่น การส่งเสริมความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และการถ่ายทอดเทคโนโลยี ความร่วมมือทางวัฒนธรรม การดำเนินงานภายใต้เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ความร่วมมือด้านพลังงาน เป็นต้น การลดอุปสรรคทางการค้าและการลงทุน การสร้างความมั่นคงทางอาหาร

5. โดยที่ร่างปฏิญญาริยาดมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐสมาชิกในสาขาที่ ACD ให้ความสำคัญ โดยมิได้ใช้ถ้อยคำหรือมีบริบทที่เป็นการแสดงเจตนาที่จะก่อให้เกิดพันธกรณีระหว่างกันตามกฎหมายระหว่างประเทศอีกทั้งจะไม่มีการลงนามในร่างปฏิญญาฯ ดังนั้น ร่างปฏิญญาริยาดจึงไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศและไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 23 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 18 พฤศจิกายน 2557--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ