มาตรการสินเชื่อเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของประชาชนรายย่อย (สินเชื่อ Nano-Finance)

ข่าวการเมือง Tuesday December 9, 2014 19:01 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบมาตรการสินเชื่อเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของประชาชนรายย่อย (สินเชื่อ Nano-Finance) เพื่อที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะได้ดำเนินการออกประกาศกระทรวงการคลัง ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ดังนี้

1. อาศัยอำนาจตามความในข้อ 5 ข้อ 7 ข้อ 8 และข้อ 14 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ลงวันที่ 26 มกราคม 2515 ลงนามในร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ 5 แห่งประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 (เรื่อง สินเชื่อรายย่อเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ) เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์กำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อ Nano-Finance

2. อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 3(4) และมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ. 2523 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ลงนามในร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การกำหนดสถาบันการเงินและอัตราดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินอาจคิดได้จากผู้กู้ยืม (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2557 เพื่อกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อ Nano-Finance เป็นสถาบันการเงินตามกฎหมายดังกล่าวและให้คิดอัตราดอกเบี้ยได้ไม่เกินร้อยละ 36 ต่อปี

สาระสำคัญของมาตรการสินเชื่อ Nano-Finance

กระทรวงการคลังเห็นควรกำหนดรายละเอียดการประกอบธุรกิจและหลักเกณฑ์การกำกับดูแลธุรกิจสินเชื่อ Nano-Finance ดังนี้

1. ประเภทสินเชื่อที่จะกำกับดูแล

กำหนดนิยามสินเชื่อที่จะกำกับดูแลประเภทใหม่ โดยใช้ชื่อว่า “สินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ” ซึ่งหมายความถึง การให้กู้ยืมเงิน การรับซื้อ ซื้อลดหรือรับช่วงซื้อลดตั๋วเงิน หรือตราสารเปลี่ยนมืออื่นใด และการให้เช่าซื้อหรือเช่าแบบลีสซิ่งแก่บุคคลธรรมดาที่มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการประกอบอาชีพที่มีหรือไม่มีทรัพย์สินเป็นหลักประกัน โดยมีวงเงินรวมสินเชื่อไม่เกิน 100,000 บาท ต่อลูกหนี้แต่ละราย และมีระยะเวลาการให้สินเชื่อตามที่ผู้บริโภคและผู้ประกอบธุรกิจได้ตกลงกัน ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะต้องอาศัยอำนาจตามความในข้อ 5 ข้อ 7 ข้อ 8 และข้อ 14 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ลงวันที่ 26 มกราคม 2515 ออกประกาศกระทรวงการคลังเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์กำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าว

2. ผู้กำกับดูแล

กระทรวงการคลังและ ธปท. จะเป็นผู้กำกับดูแลสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพ ภายใต้การกำกับ โดย ธปท. จะมีหน้าที่ในการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือเงื่อนไขที่ผู้ประกอบธุรกิจต้องถือปฏิบัติ และมีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามแนวทางการกำกับดูแลและตรวจสอบการดำเนินงานของผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อ Nano-Finance

3. คุณสมบัติผู้ประกอบธุรกิจ

เป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนที่มีทุนจดทะเบียนซึ่งชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท โดยสามารถระดมทุนเพิ่มเติมได้จากการออกตั๋วเงินที่เสนอต่อผู้ลงทุนในวงจำกัด (Private Placement : PP) และการออกหุ้นกู้ โดยเป็นไปตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

4. ดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมใด ๆ

โดยที่สินเชื่อ Nano-Finance เป็นสินเชื่อประเภทใหม่ที่มีกระบวนการพิจารณาให้สินเชื่อที่มีความผ่อนปรนกว่าสินเชื่อประเภทอื่นที่มีอยู่แล้วในระบบสถาบันการเงิน ดังนั้น เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น แต่อยู่ในระดับที่ไม่เป็นภาระมากจนเกินควรต่อผู้บริโภค โดยอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อนอกระบบในปัจจุบัน จึงกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจอาจเรียกเก็บดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมใด ๆ จากลูกหนี้รวมกันแล้วเป็นอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Effective rate) ไม่เกินร้อยละ 36 ต่อปี

ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถเรียกเก็บดอกเบี้ยได้เกินร้อยละ 15 ต่อปี ตามมาตรา 654 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโดยคำแนะนำของ ธปท. จะต้องอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ. 2523 ออกประกาศกระทรวงการคลังเพื่อกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อ Nano-Finance เป็นสถาบันการเงินตามกฎหมายดังกล่าว และให้คิดอัตราดอกเบี้ยได้ไม่เกินร้อยละ 36 ต่อปี

5. วงเงินให้กู้ยืม

กำหนดวงเงินให้สินเชื่อไม่เกินรายละ 100,000 บาท ซึ่งเป็นระดับที่เหมาะสมต่อการประกอบอาชีพของประชาชนรายย่อย และอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าวงเงินให้สินเชื่อไมโครไฟแนนซ์ของ ธพ. ตามแนวนโยบายของ ธปท. ที่กำหนดไว้ไม่เกิน 200,000 บาทต่อราย และเป็นการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการรายย่อยที่เป็นนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา ซึ่งแตกต่างจากการประกอบธุรกิจ “สินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ” ที่กำหนดให้บริการได้เฉพาะบุคคลธรรมดา จึงควรมีการจำกัดวงเงินต่อรายที่ไม่สูงมากนักเพื่อคุ้มครองผู้ใช้บริการไม่ให้มีภาระการกู้ยืมมากเกินควร

6. เงื่อนไขการดำเนินงานอื่น ๆ

กำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานอื่น ๆ ที่ใกล้เคียงกับที่ให้ผู้ประกอบธุรกิจ “สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ” ถือปฏิบัติ เช่น แนวทางการเรียกให้ชำระหนี้และการติดตามทวงถามหนี้ การปฏิบัติและจัดการเกี่ยวกับข้อมูลผู้บริโภค การปฏิบัติเมื่อมีข้อร้องเรียน เป็นต้น

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 9 ธันวาคม 2557--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ