มติคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า เรื่อง การกำหนดขอบเขตพื้นที่เมืองเก่า

ข่าวการเมือง Tuesday February 10, 2015 16:00 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง มติคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า เรื่อง การกำหนดขอบเขตพื้นที่เมืองเก่า และการปรับปรุงมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2552 เรื่อง มาตรการในการควบคุมการก่อสร้างอาคารของภาครัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐอย่างอื่นที่อาจพึงมีในบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ ให้ครอบคลุมพื้นที่เมืองเก่าด้วย

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบขอบเขตพื้นที่เมืองเก่า และกรอบแนวทางอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า 4 เมือง ได้แก่ เมืองเก่าแพร่ เมืองเก่าเพชรบุรี เมืองเก่าจันทบุรี และเมืองเก่าปัตตานี เพื่อประกาศเขตพื้นที่เมืองเก่า ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า พ.ศ. 2546

2. เห็นชอบให้ปรับปรุงมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2552 โดยเห็นชอบมาตรการในการควบคุมการก่อสร้างอาคารของภาครัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐอย่างอื่นที่อาจพึงมีในบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ และในบริเวณเมืองเก่าที่ได้รับประกาศเขตพื้นที่เมืองเก่า ตามมติคณะรัฐมนตรี โดยให้หน่วยงานราชการต่าง ๆ รวมทั้งรัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐอย่างอื่นที่อาจพึงมีที่จะดำเนินการก่อสร้างภายในบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ และในบริเวณเมืองเก่าที่ได้ประกาศเขตพื้นที่เมืองเก่าตามมติคณะรัฐมนตรี ส่งเรื่องและแบบแปลนให้คณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า โดยผ่านทางสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทส. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และเมื่อได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่าแล้ว จึงให้เสนอสำนักงบประมาณ (สงป.) เพื่อขอจัดตั้งงบประมาณต่อไป ทั้งนี้ ให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐ ถือปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีในเรื่องนี้อย่างเคร่งครัด

สาระสำคัญของเรื่อง

ทส. รายงานว่า

1. “กรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า” เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดความเจริญรุ่งเรืองทางด้านศิลปวัฒนธรรมอันยิ่งใหญ่ของชาติ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอนุรักษ์คุณค่าของมรดกทางวัฒนธรรมไว้ รัฐบาลจึงได้กำหนด “ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า พ.ศ. 2546” เพื่อวางนโยบายเฉพาะพื้นที่ มีคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า ประกอบด้วย รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้กำกับการบริหารราชการ ทส. เป็นประธานกรรมการ หัวหน้าส่วนราชการ องค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้องและผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกินเจ็ดคน ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งเป็นกรรมการ เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นกรรมการและเลขานุการ และให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทส. ทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการ ของคณะกรรมการฯ มีอำนาจหน้าที่ในการวางนโยบาย กำหนดพื้นที่ และจัดทำแผนแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี รวมทั้งออกระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมาย โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี

2. โดยเหตุที่เมืองเก่าปรากฏร่องรอยการอยู่อาศัยของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยประวัติศาสตร์ ภายในบริเวณเมืองเก่ามีโบราณสถานและอาคารที่มีคุณค่าจำนวนมาก ในการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าจึงมีความจำเป็นต้องมีขอบเขตพื้นที่เมืองเก่า และกรอบแนวทางในการดำเนินงานคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า ได้มีการดำเนินงานตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า พ.ศ.2556 เพื่อวางนโยบายด้านการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีได้ประกาศเขตพื้นที่เมืองเก่าตามที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแล้ว รวม 9 เมือง ได้แก่ เมืองเก่าน่าน เมืองเก่าเชียงใหม่ เมืองเก่าลำปาง เมืองเก่ากำแพงเพชร เมืองเก่าลพบุรี เมืองเก่าพิมาย เมืองเก่านครศรีธรรมราช เมืองเก่าสงขลา และเมืองเก่าลำพูน เมื่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบขอบเขตพื้นที่เมืองเก่า และกรอบแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าแล้ว จังหวัดจะได้ใช้เป็นแนวทางในการจัดทำแผนแม่บท ผังแม่บท กลไก และกระบวนการบริหารจัดการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่เมืองเก่า เพื่อให้บริเวณเมืองเก่าได้รับการคุ้มครอง ดูแลอย่างถูกต้องเหมาะสม มีการบริหารจัดการอย่างเป็นรูปธรรม เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมต่อไป

3. ในการก่อสร้างอาคารของภาคเอกชนจะปฏิบัติตามมาตรการควบคุมการก่อสร้างอาคารของท้องถิ่น ขณะที่การก่อสร้างอาคารของภาครัฐบาลจะได้รับการยกเว้นตามกฎกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการยกเว้น ผ่อนผัน หรือกำหนดเงื่อนไขในการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร พ.ศ. 2550 ซึ่งการยกเว้นผ่อนผันการก่อสร้างอาคารดังกล่าวอาจจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าได้ ซึ่งการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าจำเป็นต้องดำเนินการอย่างถูกหลักวิชาการ โดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อมควบคู่ไปด้วย เพื่อเป็นการป้องกันและรักษาคุณค่าความสำคัญของพื้นที่ให้คงอยู่ตลอดไป เพื่อป้องกันการทำลายหลักฐานที่สำคัญและอนุรักษ์เมืองเก่าไว้เป็นมรดกของอนุชนรุ่นหลัง ตลอดจนเพื่อป้องกันผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินการก่อสร้างของภาครัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐอย่างอื่นที่อาจพึงมีในบริเวณเมืองเก่าที่ประกาศเขตพื้นที่ตามมติคณะรัฐมนตรี (ปัจจุบันมีจำนวน 9 เมือง ตามข้อ 2 ) ทส. จึงเห็นสมควรให้มีการกำกับดูแลการก่อสร้างอาคารของภาครัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐอย่างอื่นที่อาจพึงมีในบริเวณเมืองเก่า เช่นเดียวกันกับบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติเห็นชอบให้มีมาตรการในการควบคุมการก่อสร้างอาคารของภาครัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐอย่างอื่นที่อาจพึงมีในบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์แล้ว

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2558--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ