การให้สัตยาบันอนุสัญญาว่าด้วยแรงงานทางทะเล พ.ศ. 2549

ข่าวการเมือง Wednesday April 1, 2015 07:07 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการให้สัตยาบันอนุสัญญาว่าด้วยแรงงานทางทะเล พ.ศ.2549 ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ

รง. เสนอว่า

1. อนุสัญญาว่าด้วยแรงงานทางทะเล พ.ศ. 2549 มีเนื้อหาที่ครอบคลุมการคุ้มครองคนประจำเรือบนเรื่อเดินทะเลในทุกด้าน ๆ ทั้งในสภาพการทำงานและความเป็นอยู่บนเรือนอกเวลางาน โดยคำนึงถึงความแตกต่างทางด้านสัญชาติ ศาสนา และวัฒนธรรมของคนประจำเรือทั้งหลายที่ต้องมาทำงานอยู่ในสถานที่เดียวกัน ทั้งยังให้ความสำคัญกับลักษณะการจ้างงานและการทำงานที่เฉพาะด้านบนเรือ ซึ่งแตกต่างจากการทำงานในสถานประกอบกิจการบนบก นอกจากนั้น ยังให้รัฐสมาชิกองค์การแรงงานระหว่างประเทศที่ให้สัตยาบันอนุสัญญานี้แล้วสามารถขึ้นตรวจสภาพความเป็นอยู่และสภาพการทำงานของคนประจำเรือบนเรือเดินทะเลของต่างประเทศที่มาเทียบท่าประเทศของตนได้ว่าถูกต้องตามมาตรฐานแรงงานทางทะเลหรือไม่ แม้ว่าประเทศนั้นจะยังไม่ได้ให้สัตยาบันอนุสัญญานี้ก็ตาม

2. อนุสัญญากำหนดให้รัฐเจ้าท่าที่ให้สัตยาบันแล้วต้องยอมรับ “ใบรับรองมาตรฐานแรงงานทางทะเล” ของเรือเดินทะเลซึ่งออกให้โดยรัฐบาลของประเทศที่ให้สัตยาบันอนุสัญญานี้แล้ว โดยกำหนดการตรวจมาตรฐานแรงงานทางทะเลบนเรือดังกล่าวผ่านระบบเอกสารรับรองเป็นสำคัญ และไม่ต้องขึ้นตรวจบนเรือ เว้นแต่จะประจักษ์หรือมีเหตุอันเชื่อได้ว่า เรือนั้นไม่เป็นไปตาม “ใบรับรองมาตรฐานแรงงานทางทะเล” ดังนั้น การให้สัตยาบันอนุสัญญานี้จะเป็นประโยชน์ต่อเจ้าของเรือ คนประจำเรือ และรัฐบาลไทย ซึ่งได้จัดการสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาจากสมาคมเจ้าของเรือไทย สมาคมวิชาชีพชาวเรือไทย กรมเจ้าท่า กรมอนามัย และหน่วยงานงานภายใน รง. ซึ่งผลการรับฟังความคิดเห็นสรุปได้ว่าเห็นด้วยกับการให้สัตยาบันอนุสัญญานี้ เนื่องจากช่วยลดอุปสรรคในการเดินเรือทะเลของนายจ้างและยกระดับการคุ้มครองแรงงานของคนประจำเรือบนเรือไทย

3. การให้สัตยาบันอนุสัญญานี้ไม่เพียงแต่จะยกระดับการคุ้มครองแรงงานของคนประจำเรือบนเรือเดินทะเลที่ซักธงไทยแล้ว ยังช่วยลดอุปสรรคในการเดินเรือทะเลของเจ้าของเรือ และช่วยส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้อีกทางหนึ่ง ประกอบกับได้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียแล้ว

สาระสำคัญของอนุสัญญาฯ

1. รัฐสมาชิกองค์การแรงงานระหว่างประเทศที่ให้สัตยาบันอนุสัญญานี้แล้วต้องคุ้มครองคนประจำเรือทุกคนที่ทำงานบนเรือเดินทะเลของตนในด้าน (ก) การจัดหางาน (ข) สภาพการทำงานบนเรือ (ค) สภาพความเป็นอยู่หรือการดำรงชีวิตบนเรือ และ (ง) การได้รับการส่งตัวกลับ

2. รัฐสมาชิก ฯ ที่ให้สัตยาบันอนุสัญญานี้ นอกจากจะต้องคุ้มครองคนประจำเรือบนเรือของตนยังต้องช่วยรับผิดชอบดูแลคนประจำเรือบนเรือของชาติอื่น ๆ ที่มาเทียบท่าของประเทศของตนด้วยด้วย โดย (ก) การตรวจใบรับรองด้านแรงงานทางทะเลสำหรับเรือของรัฐสมาชิกที่ให้สัตยาบันแล้ว หรือ (ข) การตรวจเอกสารอื่น ๆ หรือการขึ้นตรวจสภาพบนเรือของรัฐสมาชิกที่ยังไมให้สัตยาบัน

3. อนุสัญญานี้บังคับใช้กับ “เรือ” “เจ้าของเรือ” และ “คนประจำเรือ”

4. อนุสัญญานี้แบ่งเนื้อหาข้อบังคับออกเป็น 5 ข้อ ดังนี้

4.1 กำหนดเงื่อนไขหรือมาตรฐานขั้นต่ำสำหรับคนประจำเรือที่จะต้องมีก่อนขึ้นทำงานบนเรือ ได้แก่ อายุขั้นต่ำ ใบรับรองแพทย์ การฝึกอบรมและการมีคุณสมบัติที่เหมาะสม และการคัดเลือกและการบรรจุคน

4.2 กำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดทำข้อตกลงการจ้างงานของคนประจำเรือ ค่าจ้างและวิธีการจ้างค่าจ้าง ชั่วโมงการทำงานและชั่วโมงการพักผ่อน การให้สิทธิในการลา การส่งตัวคนประจำเรือกลับ การจ่ายค่าทดแทนให้แก่คนประจำเรือในกรณีเรือหายหรือเรือจม การจัดอัตรากำลัง การพัฒนาทักษะและอาชีพ และโอกาสในการมีงานทำของคนประจำเรือ

4.3 กำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดสภาพที่พักอาศัย ได้แก่ พื้นที่ทำงาน ห้องนอน ห้องรับประทานอาหาร ห้องน้ำ และห้องรักษาพยาบาล การจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตบนเรือ การทำอาหาร และการจัดหาอาหาร

4.4 กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขด้านการรักษาพยาบาลบนเรือและบนฝั่ง ภาระรับผิดชอบของเจ้าของเรือด้านการออกค่าใช้จ่ายหรือการทำประกันที่เกี่ยวข้อง การป้องกันอุบัติเหตุและการคุ้มครองความปลอดภัยและสุขภาพอนามัย การจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสวัสดิการบนฝั่ง และการคุ้มครองด้านการประกันสังคมแก่คนประจำเรือ

4.5 กำหนดเกี่ยวกับการปฏิบัติตามและการบังคับใช้ (ก) ในฐานะรัฐเจ้าของธงเรือ ได้แก่ การกำหนดให้เรือที่ชักธงประเทศตนมีการคุ้มครองแรงงานทางทะเลตามอนุสัญญานี้ การคัดเลือกองค์กรและการมอบอำนาจบางประการให้แก่องค์กรนั้น การออกใบรับรองด้านแรงงานทางทะเลและใบประกาศการปฏิบัติด้านแรงงานทางทะเล การจัดทำระบบการตรวจเรือที่ซักธงประเทศตน การกำหนดวิธีปฏิบัติด้านการร้องเรียนสำหรับคนประจำเรือ และการสอบข้อเท็จจริงเมื่อคนประจำเรือได้รับผลกระทบจากความเสียหายอันเนื่องจากภัยพิบัติทางทะเล (ข) ในฐานะรัฐเจ้าท่า ได้แก่ การตรวจแรงงานทางทะเลบนเรือในท่าเรือของตน การกำหนดวิธีปฏิบัติเมื่อมีการร้องเรียนของคนประจำเรือบนฝั่งของตน (ค) ในการจัดระบบและควบคุมการคัดเลือกและการบรรจุคนเข้าทำงานบนเรือเดินทะเล

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 31 มีนาคม 2558--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ