การเข้าเป็นภาคีความตกลงว่าด้วยไม้เขตร้อนระหว่างประเทศ ค.ศ 2006

ข่าวการเมือง Tuesday April 7, 2015 17:35 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบให้ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงว่าด้วยไม้เขตร้อนระหว่างประเทศ ค.ศ.2006 (International Tropical Timber Agreement 2006 : ITTA 2006) และมอบหมายให้ ทส. โดยกรมป่าไม้ เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงาน

2. มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ดำเนินการตามขั้นตอนการเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงว่าด้วยไม้เขตร้อนระหว่างประเทศ ค.ศ.2006 (ITTA 2006) ต่อไป

สาระสำคัญของ ITTA 2006 มีดังนี้

1. ITTO ได้จัดตั้งขึ้นโดยสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ ณ เมืองโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น โดยมีคณะมนตรีองค์การไม้เขตร้อนระหว่างประเทศ (International Tropical Timber Council : ITTC) เป็นองค์กรสูงสุดในการกำกับนโยบายและดูแลบริหารการดำเนินงานของ ITTO ประกอบไปด้วยผู้แทนประเทศภาคีสมาชิกทั้งหมดและมีผู้อำนวยการบริหารองค์การ (Executive Director) และเจ้าหน้าที่องค์การฯ เป็นฝ่ายเลขานุการของคณะมนตรีองค์การไม้เขตร้อนระหว่างประเทศ (ITTC) และมีหน้าที่ในการบริหารและปฏิบัติงานของ ITTO ให้เป็นไปตามนโยบายต่าง ๆ ที่ได้กำหนดโดยมติคณะมนตรีฯ

2. ปัจจุบันองค์การไม้เขตร้อนระหว่างประเทศประกอบด้วย ประเทศภาคีสมาชิก 69 ประเทศ โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มประเทศผู้ผลิต และกลุ่มประเทศผู้บริโภค สำหรับประเทศไทยจัดอยู่ในประเทศผู้ผลิต โดยมีประเทศในภาคีอาเซียนเข้าร่วมเป็นสมาชิกด้วย คือ กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มประเทศผู้ผลิตด้วยเช่นกัน

3. วัตถุประสงค์ของ ITTA 2006 คือการปรับปรุงวัตถุประสงค์ของความตกลงฯ (จากเดิม ค.ศ.1983 มีวัตถุประสงค์ 8 ข้อ ค.ศ.1994 มีวัตถุประสงค์ 14 ข้อ และ ค.ศ.2006 มีวัตถุประสงค์ 18 ข้อ) เพื่อให้ความตกลงฯ มีวัตถุประสงค์ที่ครอบคลุมประเด็นต่าง ๆ อย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น และเพื่อให้ทันสมัยกับสภาวการณ์ที่ เปลี่ยนแปลงไป

4. การเป็นภาคีสมาชิกองค์การ ITTO นั้น ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์ด้านต่าง ๆ ดังนี้

4.1 ภาพลักษณ์ของประเทศไทยในเวทีสากลในความมุ่งมั่นที่จะจัดการทรัพยากรป่าไม้อย่างยั่งยืน

4.2 โอกาสในการเข้าร่วมกำหนดนโยบายการดำเนินงานของ ITTO โดยการส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุมคณะมนตรีองค์การไม้เขตร้อนระหว่างประเทศ

4.3 ได้รับข้อมูลข่าวสารจากการประชุมด้านการป่าไม้เขตร้อนต่าง ๆ ซึ่งเป็นประโยชน์ในการวางแผนรองรับสถานการณ์ด้านไม้เขตร้อนที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลก

4.4 ได้รับสิทธิในการเสนอโครงการต่าง ๆ เพื่อขอรับการสนับสนุนเงินทุนในการดำเนินการเพื่อความร่วมมือทางวิชาการในการพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถของประเทศในการบริหารจัดการ การวิจัยและอื่น ๆ ด้านป่าไม้

4.5 ได้รับประโยชน์ในการจัดทำโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการจัดการทรัพยากร ป่าไม้อย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นการได้รับความช่วยเหลือที่ชัดเจน เป็นรูปธรรม และเกิดประโยชน์ต่อการดำเนินงานของประเทศ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 เมษายน 2558--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ