โครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา (THEOS – 2)

ข่าวการเมือง Tuesday May 19, 2015 17:07 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและรับทราบตามที่รองนายกรัฐมนตรี (หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล) ประธานกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบในหลักการการดำเนินโครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนาในลักษณะความร่วมมือกับต่างประเทศแบบรัฐต่อรัฐ ตามรูปแบบการดำเนินการและองค์ประกอบของโครงการ

2. รับทราบการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเจรจา

สาระสำคัญของเรื่อง

รองนายกรัฐมนตรี (หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล) ประธานกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ รายงานว่า

1. เดิมคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2556 เห็นชอบให้ วท. โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (สทอภ.) เป็นหน่วยงานกลางในการดำเนินโครงการระบบดาวเทียมสำรวจระยะไกล (Remote Sensing) ของประเทศไทย หรือดาวเทียมธีออส (ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานชื่อว่าดาวเทียมไทยโซต) ร่วมกับบริษัท EADS Astriumประเทศฝรั่งเศส โดยให้ดำเนินการในลักษณะการค้าต่างตอบแทน (Counter Trade) ร้อยละ 100 และให้ยกเว้นภาษีและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการนำเข้าเครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ ภายใต้โครงการดังกล่าว

2. ดาวเทียมไทยโชตถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2551 และเริ่มให้บริการข้อมูลภาพแก่หน่วยงานทั้งภายในและต่างประเทศอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2552 โดยจนถึงปัจจุบันได้ให้บริการภาพแก่หน่วยงานต่าง ๆ ไปแล้วกว่า 110,000 ภาพ คิดเป็นมูลค่าการทดแทนการนำเข้าภาพจากดาวเทียมต่างประเทศกว่า 6,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ดาวเทียมไทยโชตมีอายุใช้งานตามการออกแบบ 5 ปี ซึ่งครบกำหนดไปแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 จึงมีความจำเป็นต้องดำเนินการพัฒนาระบบดาวเทียมสำรวจของประเทศ ระยะที่ 2 เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องของการให้บริการภาพถ่ายและข้อมูลภูมิสารสนเทศต่าง ๆ แก่ผู้ใช้งาน

3. รูปแบบการดำเนินโครงการ

3.1 เป็นการลงทุนของรัฐเพื่อการพัฒนาระบบสำรวจโลกของประเทศผ่านการถ่ายทอดเทคโนโลยีขั้นสูงจากประเทศเจ้าของเทคโนโลยีแบบรัฐต่อรัฐ [Government to Government (G to G)

3.2 เป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ เพื่อการพัฒนาขีดความสามารถของประเทศ ทั้งทางด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ที่ประกอบด้วยดาวเทียมสำรวจโลก ระบบรับสัญญาณและผลิตภูมิสารสนเทศเพื่อการประยุกต์ใช้งานให้เกิดประโยชน์ในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงผู้ใช้งานที่ปลายน้ำ

3.3 เป็นโครงการแห่งชาติที่พัฒนาและดำเนินการร่วมกันระหว่างหน่วยงานด้านอวกาศ หน่วยงานสนับสนุนเทคโนโลยีสารสนเทศและหน่วยงานที่มีภารกิจในการประยุกต์ใช้ภูมิสารสนเทศ ใน 5 ด้านหลัก ได้แก่ การเกษตร ภัยพิบัติ ทรัพยากรธรรมชาติ เมือง พื้นที่อยู่อาศัยและโครงสร้างพื้นฐาน และความมั่นคงของประเทศที่เชื่อมโยงกับมิติและประเด็นทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เช่น การเพิ่มรายได้ การลดความเหลื่อมล้ำ การลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม การเพิ่มความมั่นคง เป็นต้น โดยหน่วยงานผู้ใช้จะมีส่วนร่วมในการพัฒนาตั้งแต่เริ่มต้น

คณะอนุกรรมการเจรจา มีองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่

องค์ประกอบผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ เป็นประธานอนุกรรมการ และอนุกรรมการประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาที่เกี่ยวข้อง 1-3 คน ผู้แทน วท. ผู้แทนกระทรวงกลาโหม ผู้แทนกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้แทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนสำนักงบประมาณ ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด และให้เจ้าหน้าที่ สทอภ. เป็นเลขานุการ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้

1. ศึกษาในรายละเอียดและดำเนินการเจรจากับประเทศที่คณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติให้ความเห็นชอบ ในประเด็นทางเทคนิคของเทคโนโลยีดาวเทียม การพัฒนาระบบประยุกต์ การถ่ายเทคโนโลยีและการพัฒนาขีดความสามารถของประเทศ ข้อเสนอด้านการเงิน และเงื่อนไขอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

2. คัดเลือกและเสนอชื่อประเทศที่เหมาะสมพร้อมรายละเอียดเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติพิจารณาให้ความเห็นชอบและมอบหมายหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบโครงการเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป

3. จัดทำร่างข้อกำหนดขอบเขตของงาน (TOR) พร้อมรายละเอียดโครงการเสนอคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ พิจารณาให้ความเห็นชอบ

4. เสนอต่อคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ เพื่อแต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อปฏิบัติงานตามความจำเป็นและเหมาะสม

5. ประสานขอข้อมูลและขอข้อคิดเห็นจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง

6. รายงานผลการดำเนินงานต่อคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติอย่างต่อเนื่อง

7. ปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติมอบหมาย

ทั้งนี้ ให้คณะอนุกรรมการเจรจาดำเนินการเจรจากับประเทศที่คณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติให้ความเห็นชอบไว้ว และคัดเลือกประเทศที่เหมาะสมให้คณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 4 เดือน หลังจากคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบหลักการโครงการฯ เพื่อจัดทำร่างข้อกำหนดขอบเขตของงาน (TOR) และรายละเอียดโครงการเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาภายในเดือนธันวาคม 2558

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 19 พฤษภาคม 2558--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ