แนวทางการพัฒนาท่าเทียบเรือสำราญ (Yacht) และท่าเทียบเรือโดยสารเพื่อการท่องเที่ยวขนาดใหญ่ (Cruise)

ข่าวการเมือง Tuesday July 28, 2015 17:58 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ ดังนี้

1. รับทราบความก้าวหน้าในการพิจารณาแนวทางการพัฒนาท่าเทียบเรือสำราญ (Yacht) และท่าเทียบเรือโดยสารเพื่อการท่องเที่ยวขนาดใหญ่ (Cruise)

2. เห็นชอบแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ในการพัฒนาท่าเทียบเรือสำราญ (Yacht) และท่าเทียบเรือโดยสารเพื่อการท่องเที่ยวขนาดใหญ่ (Cruise)

3. มอบหมายกระทรวงคมนาคม (กค.) โดยกรมธนารักษ์เร่งพิจารณาหาผู้ประกอบการท่าเรือน้ำลึกภูเก็ตเพื่อให้สามารถปรับปรุงท่าเรือน้ำลึกภูเก็ตให้มีความพร้อมในการรองรับเรือโดยสารเพื่อการท่องเที่ยวขนาดใหญ่ (Cruise) ได้โดยเร็ว

สาระสำคัญของเรื่อง

คค. รายงานว่า กรมเจ้าท่าได้เสนอแนวทางการพัฒนาท่าเทียบเรือสำราญ (Yacht) และท่าเทียบเรือโดยสารเพื่อการท่องเที่ยวขนาดใหญ่ (Cruise) ซึ่งสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

1. ท่าเทียบเรือสำราญ (Yacht) ปัจจุบันประเทศไทยมีท่าเทียบเรือ Yacht ทั้งหมด 11 แห่ง กระจายอยู่ในบริเวณจังหวัดภูเก็ต กระบี่ ตราด ชลบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งกรมเจ้าท่าได้เคยศึกษาความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ วิศวกรรมและสิ่งแวดล้อมเพื่อก่อสร้างท่าเทียบเรือ Yacht บริเวณชายฝั่งทะเลอ่าวไทยและอันดามัน เมื่อปี 2547 พบว่ามีความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาท่าเทียบเรือ Yacht ได้ในพื้นที่ 33 แห่ง ประกอบด้วย พื้นที่ทะเลอันดามัน 11 แห่ง (ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล) และพื้นที่ทะเลอ่าวไทย 22 แห่ง (สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส)

2. ท่าเทียบเรือโดยสารเพื่อการท่องเที่ยวขนาดใหญ่ (Cruise) ปัจจุบันประเทศไทยไม่มีท่าเรือโดยสารเพื่อการท่องเที่ยวขนาดใหญ่ (Cruise) เป็นการเฉพาะ โดยต้องเทียบท่าผ่านท่าเทียบเรือสินค้า เช่น ท่าเรือกรุงเทพ ท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต ซึ่งไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่สอดคล้องกับความต้องการของเรือ Cruise เช่น ทัศนียภาพของท่าเทียบเรือ การตรวจคนเข้าเมือง ร้านค้าและสถานบริการต่าง ๆ เป็นต้น และพื้นที่อื่น ๆ ไม่มีท่าเทียบเรือที่สามารถรองรับเรือ Cruise ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงต้องใช้วิธีการทอดสมอกลางทะเลและให้ผู้โดยสารลงเรือเล็กเพื่อขึ้นฝั่งต่อไป

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าประเทศไทยจะไม่มีท่าเทียบเรือที่สามารถรองรับเรือ Cruise เป็นการเฉพาะ โดยต้องเทียบท่าผ่านท่าเทียบเรือสินค้า แต่จากกำหนดการท่องเที่ยวด้วยเรือ Cruise ในปี 2558 ที่แจ้งไว้ล่วงหน้าพบว่า มีเรือ Cruise เข้ามาท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพการท่องเที่ยวของประเทศไทยด้วยเรือ Cruise และเรือ Cruise ส่วนใหญ่จะจอดแวะพักที่ท่าเรือกรุงเทพและท่าเรือแหลมฉบังเฉลี่ยประมาณ 2 วัน ในขณะที่พื้นที่อื่น ๆ เรือ Cruise จะเป็นเพียงการจอดแวะพักแบบเช้าเย็นกลับ ซึ่งเรือ Cruise ที่เข้ามาในประเทศไทยเป็นการท่องเที่ยวระหว่างประเทศไทยกับประเทศสิงคโปร์มากที่สุด โดยเป็นการท่องเที่ยวที่มีจุดเริ่มต้นหรือจุดสิ้นสุดการเดินทางที่ท่าเรือสิงคโปร์ คิดเป็นร้อยละ 80.9

3. แนวทางการพัฒนาท่าเทียบเรือ Yacht และท่าเทียบเรือ Cruise

กรมเจ้าท่าได้เสนอแนวทางการพัฒนาท่าเทียบเรือ Yacht และท่าเทียบเรือ Cruise ดังนี้

3.1 ท่าเทียบเรือ Yacht

3.1.1 ศึกษาเพื่อกำหนดพื้นที่ที่มีความเหมาะสมจะพัฒนาเป็นท่าเทียบเรือ Yacht เพิ่มเติม พร้อมทั้งรับฟังความเห็นจากประชาชนในพื้นที่และทดสอบตลาด (Market Sounding)

3.1.2 ปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย/ระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่ออำนวยความสะดวกแก่เรือ Yacht และบุคคลที่เข้ามากับเรือ Yacht ให้แล้วเสร็จภายในปี 2558

3.1.3 จัดมหกรรมเรือ Yacht เพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางมารีน่าของอาเซียน (Thailand : Marina Hub of ASEAN) ณ จังหวัดภูเก็ต ระหว่างเดือนธันวาคม 2558 – มกราคม 2559 อันเป็นการจูงใจและสร้างบรรยากาศการท่องเที่ยวทางทะเลและธุรกิจต่อเนื่อง ตลอดจนกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

3.2 ท่าเทียบเรือ Cruise

3.2.1 ระยะแรก (ปี 2558) : พัฒนาท่าเรือเดิมให้มีศักยภาพ ดังนี้

1) ท่าเรือกรุงเทพและท่าเรือแหลมฉบัง โดยการปรับปรุงท่าเรือหมายเลข 22A ของท่าเรือกรุงเทพ และท่าเทียบเรือ A1 ของท่าเรือแหลมฉบัง ให้สอดคล้องกับความต้องการของเรือ Cruiseอย่างเหมาะสม

2) ท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต โดยการพิจารณาผู้บริหารท่าเรือรายใหม่ หรือขยายระยะเวลาสัมปทานการบริหารท่าเรือให้กับผู้บริหารรายเดิมเพื่อปรับปรุงและพัฒนาท่าเรืออย่างเร่งด่วน

3.2.2 ระยะที่ 2 (ปี 2558 – 2565) : พัฒนาท่าเทียบเรือ Cruise แห่งใหม่ ที่จังหวัดกระบี่ และอำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นท่าเรือเพื่อเริ่มต้นหรือสิ้นสุดการเดินทาง (Home Port) ของเรือ Cruise ในภูมิภาค ดังนี้ 1) พัฒนาท่าเทียบเรือ Cruise 2) จัดหาผู้บริหารท่าเรือ 3) ปรับปรุงการบริหารจัดการ สิ่งอำนวยความสะดวก กฎ ระเบียบ พิธีการ และบุคลากร 4) ส่งเสริมการตลาดและการท่องเที่ยวด้วยเรือ Cruise

ทั้งนี้ ท่าเทียบเรือ Cruise แห่งใหม่ต้องสามารถรองรับความต้องการของนักท่องเที่ยว ทั้งการเดินทางที่มาทางเรือและทางเครื่องบิน เพื่อให้ประเทศไทยเป็น Home Port และมีศักยภาพในการเชื่อมโยงการเดินทางทุกระบบสามารถเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยว และการให้บริการที่ตรงตามความต้องการของกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพในการใช้จ่าย โดยคำนึงถึงปัจจัยที่สำคัญ เช่น ความเหมาะสมทางกายภาพ วิศวกรรมและสิ่งแวดล้อม ความสามารถในการรองรับเรือ Cruise ขนาดใหญ่ระดับมาตรฐานสากล และการเป็นท่าเรือแบบ One-Stop Service เป็นต้น เพื่อให้สามารถขยายระยะเวลาพักจอดของเรือ Cruise ที่จังหวัดกระบี่ และเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี จากระยะเวลาประมาณ 1 วัน เป็น 2 วัน โดยเฉลี่ยภายในเวลา 5 ปี และเพิ่มเป็น 2.5 – 3 วัน โดยเฉลี่ยภายในระยะเวลา 10 ปี

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 กรกฏาคม 2558--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ