การเตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล

ข่าวการเมือง Tuesday July 28, 2015 18:06 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบการเตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

มท. รายงานว่า ได้จัดประชุมการเตรียมความพร้อมในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2558 โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบร่วมหารือ แนวทางปฏิบัติร่วมกัน ดังนี้

1. การคาดการณ์สภาพอากาศเพื่อการเฝ้าระวังในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยกรมอุตุนิยมวิทยาได้ให้ข้อมูลที่ประชุมว่า โดยทั่วไปจะมีฝนตกต่ำกว่าค่าปกติ สำหรับช่วงการเกิดฝนในพื้นที่กรุงเทพมหานครจะมีฝนไปจนถึงเดือนกันยายน 2558 จึงควรเฝ้าระวังสถานการณ์ในช่วงดังกล่าว

2. การเตรียมความพร้อมเฝ้าระวังและการปฏิบัติของหน่วยงาน

2.1 กรุงเทพมหานคร

2.1.1 รับผิดชอบเรื่องการระบายน้ำ การกำจัดขยะ การประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

2.1.2 ได้เฝ้าระวังและเตรียมการแก้ไขปัญหาในพื้นที่เสี่ยงเดิม 22 จุด และสำหรับพื้นที่เสี่ยงใหม่ 4 จุด เพิ่มเติม ได้แก่ อโศกมนตรี ถนนสุขุมวิท บริเวณซอยแบริ่ง ถนนรามคำแหง ซอย 1-3 และถนนพหลโยธิน ช่วงทางไปลำลูกกา ได้เตรียมการแก้ไขปัญหาและประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว

2.1.3 ดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยการเพิ่มการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่จัดการขยะ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ รวมถึงการประสานหน่วยที่เกี่ยวข้องร่วมแก้ไขปัญหาด้วยแล้ว

2.1.4 ตั้งกลุ่ม LINE ร่วมกับหน่วยที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้เป็นช่องทางแจ้งเตือนก่อนเกิดฝนตก

2.1.5 ประสานการปฏิบัติร่วมกับการไฟฟ้านครหลวง ในการแก้ไขปัญหาไฟฟ้าดับ โดยเฉพาะจุดที่ส่งผลกระทบต่อเครื่องสูบน้ำ และกองบังคับการตำรวจจราจรในการแก้ไขปัญหาการจราจรตลอด 24 ชั่วโมง

2.1.6 เพิ่มมาตรการกำจัดขยะที่มาอุดตันทางน้ำ เครื่องสูบน้ำและอุโมงค์ระบายน้ำ โดยเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่

2.2 ตช.

2.2.1 ได้เพิ่มกำลังใน 22 จุดเสี่ยงเดิม และ 4 จุดเสี่ยงเพิ่มเติม ตลอด 24 ชั่วโมง

2.2.2 เสนอข้อมูลจุดเสี่ยงอื่นเพื่อการเฝ้าระวังและแก้ไขปัญหาร่วมกัน ได้แก่ บริเวณด่านเพลินจิต แยก อ.ส.ม.ท. หน้าโรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี บริเวณหน้าปั๊ม ป.ต.ท. สี่แยกบางนา และอุโมงค์ดินแดง

2.2.3 จุดเสี่ยงในส่วนของเขตรอยต่อระหว่างเขตปริมณฑล และกรุงเทพมหานคร ดังนี้

1) เขตรอยต่อจังหวัดนนทบุรี และกรุงเทพมหานคร ได้แก่ ถนนงามวงศ์วาน บริเวณใต้ทางด่วน ถนนรัตนาธิเบศร์ ถนนแจ้งวัฒนะ เช่น บริเวณหน้าเซ็นทรัลแจ้งวัฒนะ

2) เขตรอยต่อจังหวัดปทุมธานี และกรุงเทพมหานคร ได้แก่ บริเวณอนุสรณ์สถาน แยกทางเข้าลำลูกกา ตลาดสี่มุมเมือง เมืองเอก หน้ามหาวิทยาลัยกรุงเทพ

3) เขตรอยต่อจังหวัดสมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร ได้แก่ ตลาดสำโรง แยกปู่เจ้าสมิงพราย

2.3 กองทัพบก

2.3.1 ทุกเหล่าทัพแบ่งกำลังรับผิดชอบในทุกเขต โดยในส่วนของกองทัพบก เช่น พล 1 รอ. กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ และกองพลทหารราบที่ 9 รับผิดชอบเขตกรุงเทพมหานคร กองพลทหารราบที่ 2 รับผิดชอบ เขตสมุทรปราการ กองพลทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน รับผิดชอบเขตจังหวัดนนทบุรี และจังหวัดปทุมธานี เป็นต้น

2.3.2 ภารกิจที่มอบหมาย ได้แก่ การช่วยอำนวยความสะดวกการจราจร การเข็นรถเสียออกจากผิวจราจร การจัดชุดซ่อม สนับสนุนเครื่องสูบน้ำในบางจุด เป็นต้น

2.3.3 การปฏิบัติงานร่วมกับกองบังคับการตำรวจจราจร (บก.02) โดยการเสริมกำลังสารวัตรทหารปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ

2.3.4 การออกปฏิบัติการ เมื่อตรวจสอบจากเรดาร์ของสำนักการระบายน้ำและกรมอุตุนิยมวิทยา หากพบฝนตกในพื้นที่กรุงเทพมหานครเกิน 40 มิลลิเมตร ขึ้นไปจะออกปฏิบัติการทันที

2.4 สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา

2.4.1 สถานศึกษาในสังกัด จำนวน 21 แห่ง ในกรุงเทพมหานคร เข้าร่วมภารกิจ

2.4.2 สถาบันในเขตปริมณฑล ได้แก่ สมุทรปราการ นนทบุรี และปทุมธานี โดยเฉพาะที่อยู่ใกล้พื้นที่รอยต่อกับกรุงเทพมหานครเข้าร่วมภารกิจด้วย และในอนาคตสถาบันอาชีวะในทุกจังหวัดจะประสานการปฏิบัติในภารกิจนี้ร่วมกับจังหวัดผ่านทางสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด

2.4.3 นักศึกษาที่เข้าร่วมภารกิจจะเตรียมการอยู่ ณ ที่ตั้ง แห่งละ 20-30 คน และจะออกปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือประชาชนในเขตพื้นที่จุดเสี่ยงใกล้เคียงกับพื้นที่ของสถาบัน

2.4.4 ภารกิจ คือ การซ่อมรถจักรยานยนต์/รถยนต์เบื้องต้น ให้สามารถใช้ต่อได้ และการเข็นรถออกไม่ให้กีดขวางการจราจร

2.5 การไฟฟ้านครหลวง

2.5.1 ประสานการปฏิบัติโดยตรงระหว่างกรุงเทพมหานคร และการไฟฟ้านครหลวงเขต ตั้งแต่การเฝ้าระวังสถานการณ์ การแจ้งเตือน และการเตรียมการแก้ไขปัญหา

2.5.2 จัดชุดปฏิบัติการเตรียมความพร้อมในจุดเสี่ยงสำคัญ โดยการจัดรถพร้อมเจ้าหน้าที่ชุดบำรุงรักษา ประจำใกล้ ๆ จุดเสี่ยงสำคัญ โดยเฉพาะบริเวณสถานีสูบน้ำ เป็นต้น

2.5.3 ให้ตัดแต่งกิ่งไม้บริเวณที่อาจจะส่งผลกระทบต่อระบบการจ่ายไฟฟ้าให้เรียบร้อย

2.5.4 ในจุดเสี่ยงสำคัญที่ห้ามไฟดับโดยเด็ดขาด ได้ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรอง (Generator) และช่างซ่อมไฟฟ้าประจำไว้ เพื่อไม่ให้กระทบต่อการสูบน้ำของกรุงเทพมหานคร

2.6 กรมป้องกันและบรรเทาสาธาณภัย

2.6.1 จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชนกรณีน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อใช้เป็นศูนย์กลางในการประสานการปฏิบัติในภารกิจต่าง ๆ สนับสนุนการปฏิบัติงานของกรุงเทพมหานครและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

2.6.2 จัดชุดปฏิบัติการสนับสนุนกรณีรถเสียกีดขวางการจราจรช่วงน้ำท่วม ตลอดจนความเดือดร้อนอื่น ๆ ของประชาชน

2.6.3 สรุปการปฏิบัติงานของทุกหน่วยงานให้ผู้บริหารระดับสูงทราบอย่างต่อเนื่อง

2.6.4 ประสานการแจ้งเตือนประชาชนหลีกเลี่ยงเส้นทาง กรณีพื้นที่การจราจรติดขัดในช่วงฝนตกหนัก ร่วมกับกองบังคับการตำรวจจราจร (บก.02) โดยเพิ่มช่องทางในการสื่อสารถึงประชาชนให้มากขึ้น

ทั้งนี้ ที่ประชุมขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้

3.1 ให้ทุกหน่วยงานยังคงภารกิจในการเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วม และการให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะสิ้นสุดฤดูฝนตามข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยา

3.2 ให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นศูนย์กลางในการประสานการปฏิบัติกับทุกหน่วย และรายงานต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อสรุปผลเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี

                 3.3 ปัญหาขยะอุดตันเส้นทางการระบายน้ำ ตลอดจนการก่อสร้างที่ส่งผลให้เกิดการกีดขวางการระบายน้ำ เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหา ลำพังกรุงเทพมหานครประสานการปฏิบัติในการร่วมแก้ไขปัญหานั้น ไม่เพียงพอ หน่วยงานอื่น ๆ เช่น กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท การรถไฟแห่งประเทศไทย                                  การประปานครหลวง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง บริษัท ท่าอากาศยานไทย  จำกัด (มหาชน)  การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ตลอดจนภาคเอกชนผู้รับเหมาก่อสร้างเส้นทางคมนาคม เป็นต้น ต้องให้ความร่วมมือในการปฏิบัติอย่างจริงจัง

3.4 ให้กรุงเทพมหานครเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ ในการร่วมจัดการกรณีขยะที่มาอุดตันทางน้ำ และสร้างปัญหาให้กับระบบสูบน้ำ

3.5 ให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รับข่าวสารเพื่อการแจ้งเตือนประชาชน ในการสัญจรในพื้นที่การจราจรติดขัดในช่วงฝนตกหนักจากกองบังคับการตำรวจจราจร (บก.02) และเพิ่มช่องทางในการสื่อสารกับประชาชนให้มากขึ้น

3.6 ในอนาคตสถาบันอาชีวะในทุกจังหวัดจะปฏิบัติการขยายผลในภารกิจเพื่อสังคม โดยเฉพาะในเรื่องการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยร่วมกับจังหวัด ผ่านทางสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดทั่วประเทศ

3.7 ให้แต่ละหน่วยงานจัดทำช่องทางการสื่อสารระหว่างเจ้าหน้าที่ในแต่ละระดับ โดยเฉพาะในระดับหัวหน้าชุดปฏิบัติการที่ต้องมีความพร้อม และสามารถสื่อสารกันได้ตลอด 24 ชั่วโมง เมื่อเกิดปัญหาในแต่ละแห่ง

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 กรกฏาคม 2558--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ