ขอความเห็นชอบในการจัดทำแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแทนแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศไทย

ข่าวการเมือง Wednesday September 30, 2015 16:21 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ทก.) เสนอ ดังนี้

1. มอบหมายให้ ทก. จัดทำแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแทนแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศ

2. เห็นชอบให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2554 เฉพาะในส่วนที่มอบหมายให้ ทก. จัดทำแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศ จำนวน 2 ฉบับ แต่ละฉบับครอบคลุมระยะเวลา 5 ปี ในช่วงระยะเวลาของกรอบนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ระยะ พ.ศ. 2554 – 2563 ของประเทศไทย (ICT 2020)

3. เห็นชอบให้ ทก. ยกเว้นการดำเนินการตามหนังสือกระทรวงการคลัง (กค.) ด่วนที่สุด ที่ กค 0406.6/ว 98 ลงวันที่ 4 กันยายน 2558 เรื่อง การกันเงินไว้เบิกเหลื่อมปีกรณีไม่มีหนี้ผูกพันและการขยายเวลาเบิกจ่ายเงินงบประมาณในส่วนของการกันเงินงบประมาณปี พ.ศ. 2558 ไว้เบิกเหลื่อมปีกรณีไม่มีหนี้ผูกพันตามนัยของหนังสือดังกล่าว

4. มอบหมายให้ ทก. ดำเนินการจัดทำแผน (ตามข้อ 1) ร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)

สาระสำคัญของเรื่อง

ทก. รายงานว่า เพื่อให้การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศบรรลุผลสำเร็จสอดคล้องกับความต้องการแก้ไขและพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง และเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับคณะกรรมการ/สำนักงานที่จะมีการจัดตั้งขึ้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเริ่มดำเนินการจัดทำแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมขึ้น โดยมีกรอบแนวทางการพัฒนาที่ได้กำหนดเบื้องต้นเป็น 5 ด้าน ดังนี้

1. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านกายภาพ (Hard Infrastructure) ให้มีความทันสมัย มีคุณภาพ มีเสถียรภาพ และมีขนาดเพียงพอ สามารถให้บริการได้อย่างต่อเนื่องครอบคลุมทุกพื้นที่ในระดับราคาที่เหมาะสม เอื้อต่อการเข้าถึงและใช้งานของประชาชนในทุกชุมชน และภาคธุรกิจกลุ่มต่าง ๆ

2. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านมาตรฐาน (Soft Infrastructure) เพื่อสร้างความมั่นคงปลอดภัย และความเชื่อมั่นในการทำธุรกรรมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลให้กับผู้ประกอบการและผู้ทำงาน ซึ่งถือได้ว่าเป็นปัจจัยพื้นฐานที่ช่วยขับเคลื่อนประเทศสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลและเป็นบทบาทหน้าที่หลักของภาครัฐในการอำนวยความสะดวกให้กับภาคส่วนต่าง ๆ

3. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการบริการ (Service Infrastructure) เป็นการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างแพลตฟอร์มการให้บริการ (Service Platform) และนวัตกรรมบริการ (Service Innovation) ของภาครัฐและเอกชน

4. การส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Economy Promotion) โดยมุ่งเน้นการสร้างระบบนิเวศสำหรับธุรกิจดิจิทัล (Digital Business Ecosystem) ควบคู่กับการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลในเชิงธุรกิจ และการพัฒนาอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล โดยเป้าหมายในระยะสั้น คือ การยกระดับและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจไทย และในระยะยาวคือการขยายฐานเศรษฐกิจและอัตราการจ้างงานของไทยอย่างยั่งยืน

5. การส่งเสริมและพัฒนาการใช้ประโยชน์จากดิจิทัล (Digital Society) โดยมุ่งหวังที่จะสร้างสังคมดิจิทัลให้เกิดขึ้นในประเทศไทยโดยเร็วเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางโอกาสของประชาชนที่เกิดจากการเข้าไม่ถึงโครงสร้างพื้นฐานด้วยความห่างไกล การขาดการออกแบบระบบที่เหมาะสมตามหลักการออกแบบที่เป็นสากลสำหรับผู้พิการ การขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องเทคโนโลยีหรือการไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารผ่านเทคโนโลยีที่มีราคาสูงเกินไป

ทั้งนี้ แผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นแผนที่ใช้กำหนดทิศทางการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐในระดับกระทรวงและกรมนำไปใช้ประกอบเป็นแนวทางในการจัดทำแผนระดับองค์กร และการกำหนดแผนงานและคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 30 กันยายน 2558--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ