(ร่าง) ข้อเสนอการมีส่วนร่วมของประเทศไทยในการลดก๊าซเรือนกระจกและการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายหลังปี ค.ศ. 2020

ข่าวการเมือง Wednesday September 30, 2015 16:39 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง (ร่าง) ข้อเสนอการมีส่วนร่วมของประเทศไทยในการลดก๊าซเรือนกระจกและการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายหลังปี ค.ศ. 2020

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบต่อ (ร่าง) ข้อเสนอการมีส่วนร่วมของประเทศในการลดก๊าซเรือนกระจกและการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายหลังปี ค.ศ. 2020 (Intended Nationally Determined Contribution : INDC) และเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก ปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) โดยกำหนดเป้าหมายขั้นต่ำที่ร้อยละ 20 จากกรณีปกติ และกำหนดเป้าหมายขั้นสูงที่ร้อยละ 25 จากกรณีปกติ โดยมีเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยภายหลังปี พ.ศ. 2563 (ค.ศ. 2020) ขั้นต่ำที่ร้อยละ 20 และกำหนดเป้าหมายขั้นสูงที่ร้อยละ 25

2. เห็นชอบให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหน่วยประสานงานกลางของอนุสัญญาฯ ยื่นข้อเสนอการมีส่วนร่วมของประเทศในการลดก๊าซเรือนกระจกและการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภายหลังปี ค.ศ. 2020 (INDC) ต่อสำนักเลขาธิการอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อไป

3. เห็นชอบให้เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นนโยบายสำคัญของประเทศ โดยเริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ทั้งนี้ ให้สำนักงบประมาณ (สงป.) สนับสนุนงบประมาณ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกดังกล่าวและการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อไป รวมทั้ง ให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) สนับสนุนการประสานงานกับองค์กรและกองทุนระหว่างประเทศเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของประเทศไทยให้สามารถบรรลุเป้าหมายขั้นสูงได้

สาระสำคัญของเรื่อง

ทส. รายงานว่า

1. ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันเพื่อเข้าเป็นภาคีในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2537 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม 2538 โดยมีสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทำหน้าที่เป็นหน่วยประสานงานกลางของอนุสัญญาฯ และได้ดำเนินการตามพันธกรณีของอนุสัญญาฯ มาโดยตลอด

2. ประเทศไทยในฐานะประเทศกำลังพัฒนาที่มีความเปราะบางสูงจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ให้ความสำคัญในความร่วมมือระดับสากลที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหานี้ตามข้อตัดสินในของที่ประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 19 (1/CP.19) และสมัยที่ 20 (1/CP.20) จึงได้จัดทำ (ร่าง) ข้อเสนอการมีส่วนร่วมของประเทศในการลดก๊าซเรือนกระจกและการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายหลังปี ค.ศ. 2020 (INDC) เพื่อเสนอต่อสำนักงานเลขาธิการอนุสัญญาฯ

3. (ร่าง) ข้อเสนอการมีส่วนร่วมของประเทศในการลดก๊าซเรือนกระจกและการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายหลังปี ค.ศ. 2020 (INDC) มีสาระสำคัญ ประกอบด้วย

3.1 INDC “ประเทศไทยมีความตั้งใจที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 20 จากปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกรณีปกติ ภายในปี พ.ศ. 2573 ทั้งนี้ ระดับของการมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสามารถเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 25 ขึ้นอยู่กับการเข้าถึงกลไกการสนับสนุนทางการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเงิน และการเสริมสร้างศักยภาพที่เพิ่มขึ้นและเพียงพอ ภายใต้กรอบข้อตกลงใหม่ภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”

3.2 ข้อมูลประกอบ

3.3 คำอธิบายการคำนึงถึงความเป็นธรรมและความมุ่งมั่นของ INDC ภายใต้บริบทของประเทศและการมีส่วนร่วมในการบรรลุถึงวัตถุประสงค์ของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (มาตรา 2) และ

3.4 การดำเนินงานด้านการปรับตัว

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 30 กันยายน 2558--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ