ร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน ครั้งที่ 33 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง

ข่าวการเมือง Tuesday October 6, 2015 18:00 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน ครั้งที่ 33 ร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน+3 (จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) ครั้งที่ 12 ร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมสุดยอดรัฐมนตรีพลังงานเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 9 และร่างแถลงการณ์ร่วมของรัฐมนตรีพลังงานอาเซียนกับทบวงพลังงานระหว่างประเทศ ครั้งที่ 5

2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (หรือผู้ที่ได้รับมอบอำนาจจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน) เป็นผู้ให้การรับรองในร่างแถลงการณ์ร่วมฯ นี้ ร่วมกับรัฐมนตรีพลังงานของกลุ่มประเทศสมาชิกดังกล่าวได้

3. หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน ครั้งที่ 33 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญหรือกระทบต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย และไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไว้ ให้ พน.และคณะผู้แทนไทยที่เข้าร่วมการประชุมดังกล่าวสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง

สาระสำคัญของร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ที่จะมีการรับรองในการประชุมฯ สรุปได้ ดังนี้

1. ร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน ครั้งที่ 33 จะเป็นแถลงการณ์ร่วมสรุปผลการประชุม ซึ่งประกอบด้วยสาระหลัก คือ ความพยายามของประเทศสมาชิกในการบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ตามแผนปฏิบัติการพลังงานของอาเซียน ระหว่างปี พ.ศ. 2553 – 2556 (ASEAN Plan of Actions on Energy Cooperation : APAEC 2010–2015) เพื่อให้ภาคพลังงานของอาเซียนสามารถบรรลุเป้าหมายสู่การเป็นประชาคมอาเซียนภายในปี 2015 และการพัฒนาแผน ปฏิบัติการพลังงานอาเซียนระหว่างปี พ.ศ. 2559 – 2568 (APAEC 2016–2026) ความพยายามของอาเซียนในการรักษาเสถียรภาพ ความมั่นคง และการพัฒนาพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน รวมทั้งการผลักดันการดำเนินการโครงการเชื่อมโยงท่อส่งก๊าซธรรมชาติอาเซียน (Trans–ASEAN Gas Pipeline–TAGP) การพัฒนาและโครงการเชื่อมโยงสายส่งไฟฟ้าอาเซียน (ASEAN Power Grid–APG) การดำเนินตามเป้าหมายของการใช้พลังงานหมุนเวียนในภูมิภาคให้เพิ่มขึ้นการส่งเสริมความร่วมมือด้านเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด ความร่วมมือด้านพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในอาเซียน การพัฒนาขีดความสามารถของศูนย์พลังงานอาเซียน (ASEAN Centre for Energy : ACE) และการสร้างเครือข่าย การกำกับกิจการพลังงานของอาเซียน

2. ร่างแถลงการณ์ร่วมของรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน+3 ครั้งที่ 12 จะเป็นแถลงการณ์ร่วมสรุป ผลการประชุม ซึ่งประกอบด้วยสาระหลัก คือ การให้ประเทศในกลุ่มอาเซียน+3 สนับสนุนในเรื่องการแบ่งปันข้อมูลและประสบการณ์พลังงานของโลกและอาเซียน+3 การแบ่งปันข้อมูลและประสบการณ์ตลอดจนแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศของประเทศสมาชิกและประเทศคู่เจรจา การพัฒนาแนวทางการสำรองน้ำมันในอาเซียนการพัฒนาและพิจารณาถึงผลกระทบจากสถานการณ์พลังงานในภูมิภาคตะวันออกกลางและราคาน้ำมันดิบโลกที่ปรับตัวลดลง การถ่ายทอดเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดและการสนับสนุนด้านการเงิน การส่งเสริมพลังงานสะอาดและการอนุรักษ์พลังงาน การเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากรด้านพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติในอาเซียน เป็นต้น

3. ร่างแถลงการณ์ร่วมของรัฐมนตรีพลังงานแห่งเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 9 จะเป็นแถลงการณ์ร่วมสรุปผลการประชุม ซึ่งประกอบด้ายสาระหลัก คือ การประกาศจุดยืนที่จะร่วมมือกันอย่างจริงจังในสาขาพลังงานต่าง ๆ อาทิ การปรับปรุงการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การพัฒนาโครงการเชื้อเพลิงชีวภาพเพื่อการขนส่งและวัตถุประสงค์อื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดทำฐานข้อมูลเชื้อเพลิงชีวภาพในประเทศเอเชียตะวันออก และการร่วมมือในโครงการมองภาพอนาคตด้านพลังงาน (Energy Outlook) ตลอดจนการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเป็นต้น

4. ร่างแถลงการณ์ร่วมของรัฐมนตรีพลังงานอาเซียนกับทบวงพลังงานระหว่างประเทศ ครั้งที่ 5 จะเป็นแถลงการณ์สรุปผลการประชุมซึ่งประกอบด้วยสาระหลัก คือการร่วมมือในการสนับสนุนและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านตลาดก๊าซธรรมชาติให้สามารถแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนพัฒนาการตั้งศูนย์กลาง การซื้อขายก๊าซในภูมิภาคนี้ รวมถึงการพัฒนาความร่วมมือระหว่างภูมิภาคอาเซียนและทบวงพลังงานระหว่างประเทศ ในข้อตกลงเรื่องการสำรองน้ำมันเพื่อความมั่นคงด้านพลังงานอาเซียน และมาตรการการตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉิน

พน.พิจารณาแล้วเห็นว่า ร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ทั้ง 4 ฉบับ เป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในความร่วมมือด้านพลังงานของประเทศสมาชิกอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา เป็นการวางกรอบแนวทางกว้างๆ ในการดำเนินงาน และไม่มีข้อผูกมัด รวมทั้งไม่ก่อให้เกิดพันธกรณีทางกฎหมาย จึงไม่มีผลเป็นการผูกพันโดยเจาะจงแก่ประเทศไทยในด้านความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือการค้าการลงทุนอย่างกว้างขวางแต่อย่างใดจึงมิใช่สนธิสัญญาระหว่างประเทศและหนังสือสัญญาที่จะต้องขอรับความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตามมาตรา 23 วรรคสองและวรรคสามของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 6 ตุลาคม 2558--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ