การแก้ไขปัญหาหนี้สินให้แก่เกษตรกร

ข่าวการเมือง Wednesday October 21, 2015 08:20 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอผลความคืบหน้าการดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินให้แก่เกษตรกร โดย มท.จะรายงานผลให้คณะรัฐมนตรีทราบเป็นระยะต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

มท.รายงานว่า ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี มท. โดยกรมการปกครอง ได้มอบหมายให้นายอำเภอสำรวจข้อมูลหนี้สินเกษตรกรแล้ว ผลการดำเนินการ ณ วันที่ 21 กันยายน 2558 มีดังนี้

1. เกษตรกรที่นำที่ดินไปค้ำประกันการกู้เงินไว้กับภาคเอกชนหรือนายทุนเงินกู้ โดยทำเป็นสัญญาขายฝาก เรียกว่า หนี้นอกระบบ ซึ่งจะต้องให้ความช่วยเหลือโดยเร่งด่วนเนื่องจากศาลได้มีคำพิพากษาให้บังคับคดีแล้ว จำนวน 2,292 ราย มูลหนี้ 2,184,105,350 บาท มีรายละเอียด ดังนี้

หนี้นอกระบบที่ศาลได้มีคำพิพากษาให้บังคับคดีแล้ว
รายละเอียดหนี้                                           จำนวน (ราย)    มูลหนี้ (บาท)
หนี้สินเกษตรกรที่มีหมายบังคับคดีแต่ยังไม่ตั้งเรื่องบังคับคดี             1,546          1,968,479,382
หนี้สินเกษตรกรที่อยู่ในขั้นตอนยึด                               127            49,769,726
หนี้สินเกษตรที่อยู่ในขั้นตอนการขายทอดตลาด                      177            68,711,245
หนี้สินที่อยู่ในการดำเนินการของเจ้าพนักงานบังคับคดี                442            97,144,997
รวม                                                   2,292          2,184,105,350

ขณะนี้กรมการปกครองได้ประสานงานกับกรมบังคับคดี ยธ. ดำเนินการช่วยเหลือเพื่อไม่ให้เกษตรกรถูกยึดที่ดินทำกิน และส่งให้ ธ.ก.ส. เพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือแหล่งเงินกู้ต่อไปแล้ว

2. เกษตรกรที่นำที่ดินไปจำนองหรือขายฝากแต่ยังไม่อยู่ในชั้นบังคับคดี กรมการปกครองได้มอบหมายให้นายอำเภอแต่งตั้งคณะทำงานคัดกรองข้อมูลและไกล่เกลี่ยซึ่งมีผลการดำเนินการไกล่เกลี่ยแล้ว จำนวน 43,825 ราย มูลหนี้ 8,039,219,839 บาท สามารถปลดเปลื้องหนี้สินแล้ว จำนวน 5,342 ราย มูลหนี้ 780,425,607 บาท มีรายละเอียด ดังนี้

หนี้นอกระบบที่ยังไม่อยู่ในชั้นบังคับคดี ซึ่งกรมการปกครองดำเนินการไกล่เกลี่ย

และสามารถปลดเปลื้องหนี้สินแล้ว

                                              รายละเอียด                                จำนวน (ราย)     มูลหนี้ (บาท)
กรณีวงเงินกู้ไม่เกิน 150,000 บาท ส่งข้อมูลหนี้สินเกษตรกรให้ ธกส.ดำเนินการ                            3,972           454,979,969
กรณีไม่เข้าหลักเกณฑ์ของ ธกส. ส่งหนี้สินเกษตรกรให้คณะอนุกรรมการช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจนส่วนอำเภอ     1,370           325,445,638
                                                 รวม                                   5,342           780,425,607

ดังนั้น หนี้นอกระบบ (ทั้งกรณี 1 และ 2) ขณะนี้ มท.พร้อมส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรแล้ว จำนวน 7,634 ราย มูลหนี้ 2,964,530,957 บาท สำหรับหนี้นอกระบบที่เหลือ อีกจำนวน 36,191 ราย มูลหนี้ 5,074,688,882 บาท อยู่ระหว่างการดำเนินงานของศูนย์ประสานการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร กษ.

3. สำหรับหนี้ในระบบสถาบันการเงิน กค. ได้ตรวจสอบพบว่ามีลูกหนี้ในความรับผิดชอบของ ธ.ก.ส. ธนาคารออมสิน และธนาคารอาคารสงเคราะห์จำนวนประมาณ 1,200,000 ราย ได้มอบหมายให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับของ กค.ดำเนินการช่วยเหลือโดยพิจารณาปรับปรุงโครงสร้างหนี้หรือให้ความช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์ ระเบียบ และวิธีการปฏิบัติของผลิตภัณฑ์สินเชื่อและโครงการต่าง ๆ ต่อไป

4. มท.พิจารณาแล้วเห็นว่า การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่มีรายได้น้อยซึ่งเป็นหนี้โดยนำที่ดิน ทำกินเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้ยืมเงินเป็นการป้องกันมิให้นายทุนเข้าครอบครองที่ดินเกษตรกรอย่างไม่เป็นธรรม ทั้งช่วยให้เกษตรกรไม่สูญเสียที่ดินทำกินโดยการบูรณาการร่วมกันระหว่าง มท. กษ. ยธ. กค. และ ธ.ก.ส.รวมทั้งนายกรัฐมนตรีมีบัญชาให้ดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการเจรจาหนี้สินเกษตรกรนอกระบบให้แล้วเสร็จภายใน เดือนสิงหาคม 2558

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 20 ตุลาคม 2558--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ