แนวทางเพื่อสนับสนุนการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ

ข่าวการเมือง Tuesday June 28, 2016 17:06 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบแนวทางสนับสนุนการดำเนินการตามแผนยุทธศาตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวโดยด่วนต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

กค. รายงานว่า

1. เพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของโครงการการขยายการใช้บัตรที่มุ่งส่งเสริมการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์แทนเงินสด โดยจะขยายจุดรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ให้ทั่วถึงทั้งประเทศ ต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและภาคธุรกิจให้ติดตั้งอุปกรณ์รับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเป็นทางเลือกแก่ประชาชนในการชำระค่าบริการสินค้าและบริการแทนการใช้เงินสด เห็นควรให้หน่วยงานรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และ อปท. ที่มีการรับเงินจากประชาชนติดตั้งอุปกรณ์รับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ให้เพียงพอต่อการให้บริการกับประชาชน และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับปรุงระเบียบและหลักเกณฑ์ให้เอื้ออำนวยต่อการรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์จากประชาชน ณ จุดรับชำระเงินต่าง ๆ ทั่วประเทศ

2. ในการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินให้สามารถรองรับการโอนเงินระหว่างธนาคารโดยใช้หมายเลขหรือรหัสใด ๆ (Any ID) ที่กำหนดในการระบุผู้รับโอน เช่น หมายเลขโทรศัพท์ เลขประจำตัวประชาชน และเลขประจำตัวนิติบุคคล พบปัญหาว่าหมายเลขซ้ำกันระหว่างเลขประจำตัวของบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทย (ซึ่งออกโดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย) กับเลขประจำตัวนิติบุคคล (ซึ่งออกโดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์) จำนวน 138 ราย โดยจากการตรวจสอบข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าพบว่าส่วนใหญ่เป็นนิติบุคคลที่ไม่ได้ดำเนินการธุรกิจหรือเป็นนิติบุคคลร้าง ซึ่งหากโครงการ Any ID เริ่มดำเนินการอาจจะเกิดปัญหาในทางปฏิบัติได้ นอกจากนั้นยังมีบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีแต่ไม่มีเลขประจำตัวที่ออกโดย ทั้ง 2 หน่วยงาน ซึ่งกรมสรรพกร กค. จะเป็นผู้ออกเลขประจำตัวผู้เสียภาษีให้ ในการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ National e-Payment ครั้งที่ 3/2559 ที่ประชุมจึงได้มีมติเห็นชอบในหลักการ ดังนี้

2.1 ให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าดำเนินการแก้ไขปัญหาเลขประจำตัวนิติบุคคล 138 ราย ที่ซ้ำกับเลขประจำตัวประชาชน โดยการออกเลขประจำตัวให้กับนิติบุคคลเหล่านี้ใหม่เพื่อไม่ให้ซ้ำซ้อนกับเลขประจำตัวประชาชนที่ออกโดยกรมการปกครอง

2.2 เพื่อป้องกันปัญหาของการออกเลขประจำตัวซ้ำกันระหว่างหน่วยงานในอนาคต ให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าขอจัดสรรเลขประจำตัวของนิติบุคคลจำนวน 2 ล้านหมายเลข ส่งให้กรมการปกครองเพื่อกันไว้ไม่ให้ใช้ออกเลขประจำตัวประชาชนและเห็นชอบในหลักการในการกำหนดภารกิจการออกเลขประจำตัว 13 หลัก ดังนี้

1) ให้กรมการปกครองออกเลขประจำตัว 13 หลัก ให้แก่ บุคคลธรรมดา

2) ให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าออกเลขประจำตัว 13 หลัก ให้แก่นิติบุคคล

3) ให้กรมสรรพากรออกเลขให้กับบุคคลหรือนิติบุคคลบางประเภทที่อยู่นอกเหนือตามข้อ 1) และ 2) เช่น กองมรดกเฉพาะที่ยังไม่ได้แบ่งคณะบุคคล และผู้จ่ายเงินได้ ที่มีหน้าที่ต้องเสียภาษี ตามกฎหมายของกรมสรรพากร

ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินงานโครงการ Any ID เป็นไปอย่างมีระบบ เห็นควรมอบหมายให้กรมการปกครอง กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมสรรพากร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแนวทางในการปฏิบัติร่วมกันเพื่อป้องกันการซ้ำซ้อนของเลขประจำตัว 13 หลักในอนาคต

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 มิถุนายน 2559--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ