แผนรองรับการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับการพระราชทานอภัยโทษ และอภัยโทษลดโทษปล่อยตัว ปี พ.ศ. 2559

ข่าวการเมือง Tuesday August 23, 2016 17:21 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแผนรองรับการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับการพระราชทานอภัยโทษ และอภัยโทษลดโทษปล่อยตัว ปี พ.ศ. 2559 ตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ และให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รับไปดำเนินการภายหลังการปล่อยตัว

ยธ. เสนอว่า

1. พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2559 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2559 ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ต้องราชทัณฑ์ได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัว ประมาณ 8,000 คน พระราชทานอภัยโทษลดโทษปล่อยตัว ประมาณ 5,000 คน และผู้ต้องกักขังได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวอีกประมาณ 1,500 คน ซึ่งผู้ต้องราชทัณฑ์ดังกล่าวจะต้องถูกปล่อยตัวตามเงื่อนไขของพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2559 กลับสู่สังคม

2. เพื่อให้สังคมมีความปลอดภัย เชื่อมั่นในการพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขังของกรมราชทัณฑ์ ตลอดจนเพื่อให้คุณภาพชีวิตของผู้ต้องราชทัณฑ์ที่ได้รับการปล่อยตัวในครั้งนี้ดียิ่งขึ้น จึงได้จัดทำแผนรองรับการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับการพระราชทานอภัยโทษและอภัยโทษลดโทษปล่อยตัว ปี พ.ศ. 2559 โดยความร่วมมือของส่วนราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงแรงงาน (รง.) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) รับไปดำเนินการภายหลังปล่อยตัว

สาระสำคัญของแผนรองรับการช่วยเหลือผู้ได้รับพระราชทานอภัยโทษฯ

1. การเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยตัวแก่ผู้ต้องขัง กรมราชทัณฑ์ได้จัดอบรมให้แก่ผู้ต้องขังที่เหลือโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน – 1 ปี ทุกคดี หลักสูตรการอบรมมุ่งเน้น 4 ด้าน คือ ร่างกาย จิตใจ ครองครัว และอาชีพ

2. การติดตามดูแลผู้ต้องขังภายหลังที่ได้รับการพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัว ปี พ.ศ. 2559 ดังนี้

ส่วนราชการ

การดำเนินการ

มท.

1. ประสานผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดในการมอบนโยบายให้นายอำเภอ/ท้องถิ่น จังหวัด อบต. อบจ. อปท. กำนัน/ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ทุกแห่งดำเนินการ ติดตามดูแลช่วยเหลือให้คำแนะนำผู้ได้รับพระราชทานอภัยโทษ ครอบครัว

2. ดำเนินการจัดทำบัตรประชาชนให้ผู้ต้องขัง ผู้พ้นโทษ ตาม MOU ที่ได้ดำเนินการร่วมกับกรมราชทัณฑ์

3. ประสาน อบต. อบจ. อปท. ทุกแห่งทั่วประเทศร่วมดำเนินการติดตาม ดูแลหาแนวทางในการสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้พ้นโทษ และครอบครัว

4. ประสานให้การสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้ต้องขังและผู้พ้นโทษที่มีภูมิลำเนาในเขต กทม.

5. ติดตามดูแลผู้พ้นโทษในเขต กทม.

พม.

การสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่ง ช่วยเหลือเบี้ยยังชีพผู้พ้นโทษสูงอายุ พิการ ทุพพลภาพ เอดส์ รวมทั้งผู้มีปัญหาความเดือดร้อนอื่น ๆ

สธ.

1. ให้การดูแล รักษาผู้ป่วยทางจิตอย่างต่อเนื่อง

2. ประสานโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลประจำจังหวัด/อำเภอ ในการจ้างงานผู้พ้นโทษ

3. ให้การรักษาผู้เจ็บป่วยทางกาย

ตช.

1. ติดตามสอดส่องผู้พ้นโทษ เพื่อป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ

2. ดำเนินการส่งกลับผู้ต้องขังที่ได้รับการปล่อยตัวในคดีลักลอบเข้าเมือง

รง.

1. ร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน

2. ร่วมมือกับสำนักงานกรมการจัดหางานเพื่อทราบตำแหน่งงานว่างและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ต้องขังทราบ

ยธ. (กรมคุมประพฤติ)

ประสานสำนักงานคุมประพฤติในเขตพื้นที่สงเคราะห์ค่าพาหนะ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 23 สิงหาคม 2559--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ