ขอเสนอแนวทางการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ (ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญาที่เป็นธรรม พ.ศ. ....)

ข่าวการเมือง Tuesday September 27, 2016 17:21 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญาที่เป็นธรรม พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

1. กำหนดขอบเขตการใช้บังคับกฎหมายให้ใช้เฉพาะการทำสัญญาในระบบเกษตรพันธสัญญา โดยกำหนดบทนิยามคำว่า “ระบบเกษตรพันธสัญญา” ให้หมายถึงเฉพาะระบบการผลิตผลิตผลหรือบริการทางการเกษตรที่เกิดขึ้นจากสัญญาระหว่างผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรกับบุคคลธรรมดาซึ่งประกอบอาชีพเกษตรกรรมตั้งแต่สิบรายขึ้นไป หรือกับองค์กรทางการเกษตรที่มีกฎหมายรองรับ โดยผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการผลิตด้วยเท่านั้น

2. กำหนดให้มีคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญาขึ้น โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน มีอำนาจหน้าที่ในการเสนอแผนการพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญาต่อคณะรัฐมนตรี กำหนดแนวทางให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการให้เป็นไปตามแผน กำหนดรูปแบบของสัญญาในระบบเกษตรพันธสัญญา และออกประกาศเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการต่าง ๆ ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้

3. กำหนดให้สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีหน่วยงานในระดับพื้นที่ทำหน้าที่สำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการ และให้มีอำนาจหน้าที่ในการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลและสภาพปัญหาเกี่ยวกับการทำเกษตรกรรมในระบบเกษตรพันธสัญญาเสนอต่อคณะกรรมการ

4. กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรที่ประสงค์จะประกอบธุรกิจในระบบเกษตรพันธสัญญาหรือเลิกการประกอบธุรกิจในระบบเกษตรพันธสัญญาต้องจดแจ้ง การประกอบธุรกิจหรือการเลิกประกอบธุรกิจต่อสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และให้สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดทำทะเบียนผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตร และเปิดเผยให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้

5. กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรต้องทำเอกสารสำหรับการชี้ชวนให้เกษตรกรทราบเป็นการล่วงหน้าก่อนทำสัญญาในระบบเกษตรพันธสัญญา และต้องส่งให้สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เก็บไว้เพื่อใช้เป็นเอกสารในการตรวจสอบ โดยเอกสารสำหรับการชี้ชวนดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาและจะต้องมีข้อมูลตามที่กำหนด

6. กำหนดให้อำนาจคณะกรรมการในการประกาศกำหนดแบบของสัญญาในกรณีที่การทำสัญญาในระบบเกษตรพันธสัญญาใดอาจมีผลกระทบอย่างสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ในกรณีที่การทำสัญญาไม่เป็นไปตามแบบที่คณะกรรมการกำหนด ให้ถือว่าสัญญาส่วนนั้นไม่มีผลใช้บังคับและให้นำความตามแนบมาใช้แทน

7. กำหนดให้ข้อตกลงหรือเงื่อนไขในสัญญาในระบบเกษตรพันธสัญญาอันเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตามที่กำหนด ไม่มีผลใช้บังคับ

8. กำหนดให้คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายต้องเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนจึงจะมีสิทธินำข้อพิพาทเข้าสู่การพิจารณาของอนุญาโตตุลาการหรือนำคดีไปสู่ศาล ในกรณีที่คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งประสงค์จะใช้กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท

9. กำหนดมาตรการคุ้มครองระหว่างกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทโดยห้ามมิให้คู่สัญญาชะลอ ระงับ หรือยุติการปฏิบัติตามสัญญาจนเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหาย กระทำการใด ๆ ให้คู่สัญญาอีกฝ่ายได้รับความเสียหายทั้งทางตรงและทางอ้อม ในกรณีที่สัญญาสิ้นสุดลงแล้ว หรือทำข้อตกลงเพิ่มเติมหรือแก้ไขสัญญาเพื่อให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งรับความเสี่ยงภัย รับภาระ หรือมีหน้าที่เพิ่มเติมโดยไม่มีค่าตอบแทนอย่างเป็นธรรม

10.กำหนดโทษปรับไม่เกินสามแสนบาทสำหรับผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรซึ่งไม่แจ้งการประกอบธุรกิจในระบบเกษตรพันธสัญญา ไม่แจ้งการยกเลิกการประกอบธุรกิจในระบบเกษตรพันธสัญญา หรือไม่จัดทำเอกสารสำหรับการชี้ชวนก่อนการทำสัญญา

11.กำหนดโทษปรับไม่เกินสามแสนบาท และปรับอีกไม่เกินวันละห้าพันบาท ตลอดเวลาที่ฝ่าฝืน สำหรับคู่สัญญาซึ่งชะลอ ระงับ หรือยุติการปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาจนเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหายในระหว่างกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท หรือกระทำการใด ๆ ที่เป็นการเสียหายแก่อีกฝ่ายหนึ่งในกรณีที่สัญญาสิ้นสุดลงแล้วในระหว่างกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท

12.กำหนดโทษปรับไม่เกินสามแสนบาทสำหรับผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตร ซึ่งดำเนินการใด ๆ เพื่อให้การทำสัญญาไม่เข้าลักษณะของสัญญาในระบบเกษตรพันธสัญญา

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 27 กันยายน 2559--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ