ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ….

ข่าวการเมือง Tuesday December 27, 2016 17:10 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. …. ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

1. แก้ไขอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย

2. แก้ไขเพิ่มเติมชื่อร่างพระราชบัญญัติ จากเดิม ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ. …. เป็น “ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ….”

3. แก้ไขเพิ่มเติมวันใช้บังคับ เป็น “ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป”

4. แก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า “การทรมาน” “การกระทำให้บุคคลสูญหาย” “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” และ “คณะกรรมการ” และเพิ่มบทนิยามคำว่า “ผู้ได้รับความเสียหาย”

5. แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติกำหนดความผิดฐานกระทำทรมาน ความผิดฐานกระทำให้บุคคลสูญหาย บทบัญญัติความรับผิดของผู้บังคับบัญชา โดยแยกส่วนของอัตราโทษไปบัญญัติไว้ในหมวด 5 บทกำหนดโทษ

6. เพิ่มบทบัญญัติโดยขยายหลักการในเรื่องผู้เสียหายกรณีบุคคล ผู้ถูกกระทำให้สูญหาย เพื่อให้สามี ภริยา ผู้บุพการี และผู้สืบสันดานของผู้ได้รับความเสียหายสามารถเข้ามาต่อสู้คดี

7. ตัดบทบัญญัติเรื่องการกำหนดอายุความยี่สิบปี และเรื่องห้ามนำคำให้การที่ได้จากการทรมานและการบังคับบุคคลสูญหายมาใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดีออก

8. ปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย แก้ไขเพิ่มเติมคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม วาระการดำรงตำแหน่ง การแต่งตั้งและการพ้นจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

9. ปรับปรุงอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย โดยให้เป็นผู้กำหนดนโยบายและแผนงานในการป้องกันและปราบปรามการทรมาน การกระทำหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และการกระทำให้บุคคลสูญหาย รวมทั้งกำหนดมาตรการฟื้นฟูและเยียวยาด้านร่างกายและจิตใจแก่ผู้ได้รับความเสียหาย ตลอดจนมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการปกปิดการควบคุมตัวบุคคล

10. เพิ่มบทบัญญัติเพื่อกำหนดให้คดีความผิดตามร่างพระราชบัญญัตินี้ เป็นคดีพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ และหากเจ้าหน้าที่ของรัฐในกรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามร่างพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเป็นผู้มีอำนาจสืบสวนสอบสวน และให้นำบทบัญญัติในหมวด 3 การสืบสวนและสอบสวนคดีพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

11. แก้ไขเพิ่มเติมให้ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเป็นศาลที่มีเขตอำนาจเหนือคดีความผิดตามพระราชบัญญัตินี้

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 27 ธันวาคม 2559--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ