ร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กำหนดประเภทสินค้าที่ผู้ประกอบอุตสาหกรรมมีสิทธิได้รับคืนหรือยกเว้นภาษี ตามมาตรา 23 วรรคหนึ่ง ได้รับยกเว้นจากบทบังคับแห่งมาตรา 23

ข่าวการเมือง Tuesday October 17, 2017 17:29 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กำหนดประเภทสินค้าที่ผู้ประกอบอุตสาหกรรมมีสิทธิได้รับคืนหรือยกเว้นภาษี ตามมาตรา 23 วรรคหนึ่ง ได้รับยกเว้นจากบทบังคับแห่งมาตรา 23 ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้

กค. เสนอว่า

1. กค. โดยกรมสรรพสามิต ได้มีการปรับปรุงกฎหมายที่ใช้ในการบริหารการจัดเก็บภาษี โดยการยกเลิกกฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน จำนวน 7 ฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 พระราชบัญญัติพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 พระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 พระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2509 พระราชบัญญัติไพ่ พุทธศักราช 2486 พระราชบัญญัติจัดสรรเงินภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 และพระราชบัญญัติจัดสรรเงินภาษีสุรา พ.ศ. 2527 แล้วออกกฎหมายฉบับใหม่ โดยตราเป็นพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ซึ่งมีผลใช้บังคับแล้วเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2560

2. โดยที่มาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 กำหนดให้ในกรณีสินค้าที่ผู้ประกอบอุตสาหกรรมได้รับคืนหรือยกเว้นภาษีตามมาตรา 107 (3) (กรณีจำหน่ายสินค้าให้แก่ผู้ได้รับเอกสิทธิ์ตามข้อผูกพันที่ประเทศไทยมีอยู่ต่อองค์การสหประชาชาติ หรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือตามสัญญากับนานาประเทศ หรือทางการทูต ตามหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติต่อกัน) ถ้าสินค้านั้นได้โอนไปเป็นของบุคคลอื่นที่ไม่มีเอกสิทธิ์ หรือเอกสิทธิ์ของผู้ได้รับเอกสิทธิ์นั้นสิ้นสุดลงโดยเหตุอื่นนอกจากความตาย สินค้านั้นจะต้องเสียภาษีโดยถือตามมูลค่าและปริมาณและอัตราภาษีที่เป็นอยู่ในวันโอนหรือวันที่เอกสิทธิ์สิ้นสุดลงเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษี และกำหนดให้รัฐมนตรีโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศกำหนดให้สินค้าบางประเภทหรือบางชนิดได้รับยกเว้นจากบทบัญญัติตามมาตรานี้ที่จะไม่ต้องเสียภาษีสรรพสามิตแม้จะมีการโอนไปยังบุคคลอื่นที่ไม่มีเอกสิทธิ์หรือเอกสิทธิ์ของผู้นั้นสิ้นสุด โดยจะกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขใด ๆ ไว้ด้วยก็ได้ ซึ่งเป็นบทบัญญัติในลักษณะเดียวกับมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 ซึ่ง กค. ได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 12 ดังกล่าว ออกประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กำหนดให้สินค้าบางประเภทหรือบางชนิดซึ่งผู้ประกอบอุตสาหกรรมมีสิทธิได้รับคืนหรือยกเว้นภาษีตามมาตรา 12 วรรคหนึ่ง ได้รับยกเว้นจากบทบังคับแห่งมาตรา 12

3. ดังนั้น ในการบริหารการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตภายใต้พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 จึงควรมีการกำหนดยกเว้นภาษีในกรณีดังกล่าวเช่นเดิม และเห็นควรออกประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กำหนดประเภทสินค้าที่ผู้ประกอบอุตสาหกรรมมีสิทธิได้รับคืนหรือยกเว้นภาษี ตามมาตรา 23 วรรคหนึ่ง ได้รับยกเว้นจากบทบังคับแห่งมาตรา 23 โดยอาศัยอำนาจตามความในวรรคสามของมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560

4. ในการเสนอร่างประกาศกระทรวงการคลังในครั้งนี้ ไม่มีผลกระทบต่อรายได้ภาษีแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นการกำหนดประกาศตามหลักเกณฑ์เดิมของพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 ซึ่งถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560

สาระสำคัญของร่างประกาศ

กำหนดให้สินค้าดังต่อไปนี้ได้รับยกเว้นจากบทบังคับตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560

1. สินค้าชนิดที่ใช้สิ้นเปลืองหรือใช้ส่วนตัวซึ่งผู้ประกอบอุตสาหกรรมได้รับคืน หรือยกเว้นภาษีตามมาตรา 107 (3) (กรณีจำหน่ายสินค้าให้แก่ผู้ได้รับเอกสิทธิ์ตามข้อผูกพันที่ประเทศไทยมีอยู่ต่อองค์การสหประชาชาติ หรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือตามสัญญากับนานาประเทศ หรือทางการทูตตามหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติต่อกัน) บรรดาที่มีเหลืออยู่ในวันที่สินค้านั้นได้โอนไปเป็นของบุคคลอื่นที่ไม่มีเอกสิทธิ์หรือเอกสิทธิ์ของผู้ได้รับเอกสิทธิ์นั้นสิ้นสุดลงโดยเหตุอื่นนอกจากความตาย

2. สินค้าที่ใช้ในบ้านเรือนที่ครอบครองเกินสองปี

3. สินค้าที่พิสูจน์ให้เป็นที่พอใจอธิบดีว่าชำรุดหรือเสียหายจนไม่อาจจะซ่อมเพื่อใช้การต่อไปอีกได้

4. สินค้าอื่น ๆ ที่ครอบครองเกินห้าปี

ทั้งนี้ ร่างประกาศนี้ไม่ใช้บังคับแก่รถยนต์และยานพาหนะอย่างอื่นที่ใช้เครื่องยนต์

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 17 ตุลาคม 2560--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ