การปรับปรุงแผนยุทธศาสตร์การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ

ข่าวการเมือง Tuesday October 24, 2017 16:52 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและรับทราบตามที่ รองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) ประธานกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐเสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบร่างแผนยุทธศาสตร์การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (แผนยุทธศาสตร์ฯ) พ.ศ. 2560 - 2564

2. รับทราบรายการโครงการในกิจการภายใต้ร่างแผนยุทธศาสตร์ฯ พ.ศ. 2560 – 2564 (Project Pipeline) เพื่อคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการนโยบายฯ) กำกับดูแลและติดตามให้เป็นไปตามแผนงานโครงการต่อไป

ทั้งนี้ ให้กระทรวงเจ้าสังกัดและหน่วยงานเจ้าของโครงการเร่งศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการและรูปแบบให้เอกชนร่วมลงทุน เพื่อเสนอโครงการที่จะให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐตามร่างแผนยุทธศาสตร์ฯ รวมทั้งแจ้งความคืบหน้าของโครงการที่ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่อของเงินลงทุนให้คณะกรรมการนโยบายฯ ทราบต่อไป

สำหรับในกรณีที่กระทรวงเจ้าสังกัดหรือหน่วยงานเจ้าของโครงการเสนอขอปรับแนวทางการจัดหาแหล่งเงินทุน โดยไม่ดำเนินการในรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนหรือขอปรับโครงการออกจาก project Pipeline ให้คณะกรรมการนโยบายฯ พิจารณากลั่นกรองเหตุผลความจำเป็นที่กระทรวงเจ้าสังกัดหรือหน่วยงานเจ้าของโครงการเสนออย่างรอบคอบทั้งโครงการที่อยู่ในกลุ่ม Opt – out และโครงการที่อยู่ในกลุ่ม Opt – in รวมทั้งให้คณะกรรมการนโยบายฯ หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์หรือมาตรการในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินโครงการจากรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนไปเป็นรูปแบบอื่น ๆ เพื่อให้การดำเนินโครงการภายใต้ร่างแผนยุทธศาสตร์ฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสร้างความมั่นใจให้ภาคเอกชน ตลอดจนสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการสนับสนุนการจัดหาแหล่งเงินทุนในรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุน (Public Private Partnership: PPP) เพื่อลดภาระงบประมาณและภาระหนี้สาธารณะของประเทศ รวมทั้งให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายฯ ดำเนินการให้มีการยกเลิกประกาศฉบับเดิม (ประกาศคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ เรื่อง แผนยุทธศาสตร์ให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2558 – 2562) ตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การบังคับใช้ร่างแผนยุทธศาสตร์ฯ พ.ศ. 2560 – 2564 เกิดความชัดเจนต่อไป

สาระสำคัญของร่างแผนยุทธศาสตร์ฯ พ.ศ. 2560 – 2564 มีสาระสำคัญ ดังนี้

ประเด็น/สาระสำคัญ

1. ประเภทและลักษณะของกิจการ
  • กิจการที่เหมาะสมให้เอกชนมีส่วนร่วมในการลงทุนมีจำนวน 22 กิจการ ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1 กิจการที่สมควรให้เอกชนมีส่วนร่วมในการลงทุน (Opt - out)จำนวน 4 กิจการ และกลุ่มที่ 2 กิจการที่รัฐส่งเสริมให้เอกชนมีส่วนร่วมในการลงทุน (Opt - in)จำนวน 18 กิจการ
2. เป้าหมายการให้เอกชนร่วมลงทุน
  • รัฐมีเป้าหมายที่จะดำเนินโครงการที่อยู่ภายใต้ 4 กิจการในกลุ่มที่ 1 ในลักษณะการให้เอกชนร่วมลงทุนเป็นหลัก และจะส่งเสริมให้เอกชนมีส่วนร่วมในการลงทุนโครงการที่อยู่ภายใต้ 18 กิจการในกลุ่มที่ 2 เพื่อให้ภาครัฐสามารถลงทุนพัฒนากิจการดังกล่าวได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น
3. ประมาณการการลงทุน
  • ประมาณการลงทุนของโครงการลงทุนในกิจการของรัฐตามแผนยุทธศาสตร์ฯ พ.ศ. 2560 – 2564 มีมูลค่ารวมประมาณ 1.62 ล้านล้านบาท
  • สำหรับงบประมาณการลงทุนของภาครัฐในแต่ละปีงบประมาณจะขึ้นอยู่กับการพิจารณารูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนในรายละเอียดของแต่ละโครงการ รวมทั้งจะต้องเป็นไปตามขั้นตอนต่าง ๆ ตามวิธีการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี
4. ความเชื่อมโยงของกิจการภายใต้ยุทธศาสตร์ฯ
  • การพัฒนาโครงการในแต่ละกิจการต้องคำนึงถึงความเชื่อมโยงของขอบเขตงานและระยะเวลาในการพัฒนาและดำเนินโครงการ เพื่อไม่ให้มีการลงทุนซ้ำซ้อนและประชาชนสามารถได้รับบริการสาธารณะอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเพื่อให้การดำเนินโครงการมีประสิทธิภาพสูงสุดโดยแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ความเชื่อมโยงภายในกิจการเดียวกันความเชื่อมโยงระหว่างกิจการภายในสาขาและความเชื่อมโยงระหว่างกิจการกับกิจการในสาขาอื่น

สำหรับรายการโครงการในกิจการภายใต้ร่างแผนยุทธศาสตร์ฯ พ.ศ. 2560 – 2564 (Project Pipeline) แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม จำนวน 55 โครงการ ดังนี้

กลุ่มที่ 1 กิจการที่สมควรให้เอกชนมีส่วนร่วมในการลงทุน (Opt - out) มี 16 โครงการ ได้แก่

1) กิจการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางรางในเมือง 7 โครงการ

2) กิจการพัฒนาถนนที่มีการเก็บค่าผ่านทางในเมือง 1 โครงการ

3) กิจการพัฒนาท่าเรือสาธารณะสำหรับขนส่งสินค้า 6 โครงการ

4) กิจการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง 2 โครงการ

กลุ่มที่ 2 กิจการที่รัฐส่งเสริมให้เอกชนมีส่วนร่วมในการลงทุน (Opt - in) มี 39 โครงการ ได้แก่

1) กิจการพัฒนาโครงข่ายโทรคมนาคม

2) กิจการพัฒนาระบบอินเตอร์ความเร็วสูง

3) กิจการพัฒนาถนนที่มีการเก็บค่าผ่านทางระหว่างเมือง 7 โครงการ

4) กิจการพัฒนาสถานีขนส่งบรรจุแยกและกระจายสินค้า 3 โครงการ

5) กิจการพัฒนาระบบตั๋วร่วม 1 โครงการ

6) กิจการพัฒนาธุรกิจและบริหารพื้นที่ท่าอากาศยาน 2 โครงการ

7) กิจการพัฒนาระบบจัดการคุณภาพน้ำ 8 โครงการ

8) กิจการพัฒนาระบบชลประทาน

9) กิจการพัฒนาสถานศึกษาของรัฐ 3 โครงการ

10) กิจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุข 6 โครงการ

11) กิจการพัฒนาด้านยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ 2 โครงการ

12) กิจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และนวัตกรรม 1 โครงการ

13) กิจการพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิทัล

14) กิจการพัฒนาศูนย์การประชุมขนาดใหญ่

15) กิจการพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส 4 โครงการ

16) กิจการพัฒนาระบบขนส่งสินค้าทางราง 1 โครงการ

17) กิจการพัฒนาท่าอากาศยาน และ

18) กิจการพัฒนาท่าเรือสาธารณะสำหรับขนส่งผู้โดยสาร 1 โครงการ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 24 ตุลาคม 2560--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ