ขออนุมัติลงนามสนธิสัญญาระหว่างราชอาณาจักรไทยกับโรมาเนียว่าด้วยการโอนตัวผู้ต้องคำพิพากษาและความร่วมมือในการบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาในคดีอาญา

ข่าวการเมือง Tuesday January 9, 2018 19:09 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ขออนุมัติลงนามสนธิสัญญาระหว่างราชอาณาจักรไทยกับโรมาเนียว่าด้วยการโอนตัวผู้ต้องคำพิพากษาและความร่วมมือในการบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาในคดีอาญา (สนธิสัญญาโอนตัวนักโทษ)

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบร่างสนธิสัญญาระหว่างราชอาณาจักรไทยกับโรมาเนียว่าด้วยการโอนตัวผู้ต้องคำพิพากษาและความร่วมมือในการบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาในคดีอาญา (สนธิสัญญาโอนตัวนักโทษ)

2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายลงนามในสนธิสัญญาฯ

3. มอบหมายให้ กต. จัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้แก่ผู้ลงนามในสนธิสัญญาข้างต้นในกรณีที่ผู้ลงนามไม่ใช่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

4. ให้ กต. ดำเนินการให้สนธิสัญญาฯ มีผลใช้บังคับในโอกาสอันเหมาะสมตามแต่จะตกลงกับฝ่ายโรมาเนียต่อไป

5. หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่างสนธิสัญญาฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญก่อนมีการลงนาม ให้ กต. สามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง

สาระสำคัญของร่างสนธิสัญญาดังกล่าว เป็นการกำหนดเงื่อนไขและขั้นตอนในการขอโอนและการรับโอนตัวผู้ต้องคำพิพากษาระหว่างภาคี สรุปได้ดังนี้

1. ผู้ต้องคำพิพากษาของภาคีฝ่ายหนึ่งอาจได้รับการโอนตัวไปยังดินแดนของภาคีอีกฝ่ายหนึ่งได้ เพื่อรับโทษที่ตนถูกพิพากษา

2. ผู้ต้องคำพิพากษาอาจถูกโอนตัวได้ หากเป็นบุคคลที่ต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดของศาลของรัฐผู้โอนให้จำคุกหรือทำให้ปราศจากอิสรภาพในรูปแบบอื่นอันเป็นผลจากความผิดอาญา

3. การกระทำหรือการงดเว้นการกระทำอันเป็นสาเหตุของการมีคำพิพากษาให้ลงโทษโดยรัฐ ผู้โอนเป็นความผิดทางอาญาตามกฎหมายของรัฐผู้รับ

4. ผู้ต้องคำพิพากษาที่อาจได้รับการโอนตัวต้องเป็นคนชาติของรัฐผู้รับและไม่ได้เป็นคนชาติของรัฐผู้โอน

5. รัฐผู้โอน รัฐผู้รับ และผู้ต้องคำพิพากษาต่างเห็นชอบต่อการโอนตัว

6. ผู้ต้องคำพิพากษาซึ่งกระทำความผิดต่อความมั่นคงภายในหรือภายนอกของรัฐ ต่อประมุขแห่งรัฐ หรือสมาชิกครอบครัวของประมุขแห่งรัฐ หรือต่อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสมบัติที่มีค่าทางศิลปะของชาติจะไม่ได้รับการโอนตัว

7. หากกฎหมายของรัฐผู้โอนกำหนดระยะเวลาขั้นต่ำในการจำคุกผู้ต้องคำพิพากษาที่อาจได้รับการโอนตัวจะต้องได้รับโทษในรัฐผู้โอนมาแล้วเป็นระยะเวลาขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนด

8. รัฐผู้โอนยังคงไว้ซึ่งเขตอำนาจแต่ผู้เดียวในส่วนที่เกี่ยวกับคำพิพากษาของศาลตน โทษตามคำพิพากษาดังกล่าว รวมทั้งกระบวนการแก้ไข เปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกคำพิพากษาของศาลตน

9. การบังคับโทษตามคำพิพากษาต่อภายหลังการโอนตัวให้เป็นไปตามกฎหมายและขั้นตอนของรัฐผู้รับ

10. สนธิสัญญานี้จะใช้กับการบังคับโทษไม่ว่าที่มีก่อนหรือหลังสนธิสัญญานี้มีผลบังคับใช้

11. เมื่อภาคีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอ ให้คู่ภาคีปรึกษาหารือกันเกี่ยวกับการตีความและการใช้บังคับสนธิสัญญานี้

12. สนธิสัญญานี้จะมีผลใช้บังคับ 30 วัน หลังจากวันที่ได้รับการแจ้งครั้งสุดท้ายผ่านช่องทางการทูตว่าได้เสร็จสิ้นกระบวนการภายในที่จำเป็นเพื่อให้มีผลใช้บังคับ และอาจได้รับการแก้ไขโดยความยินยอมร่วมกันเป็นลายลักษณ์อักษรของคู่ภาคี

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 9 มกราคม 2561--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ