ขอความเห็นชอบต่อร่างความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชากับศูนย์ทุ่นระเบิดภูมิภาคอาเซียนว่าด้วยการเป็นเจ้าบ้าน

ข่าวการเมือง Tuesday January 16, 2018 18:24 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ขอความเห็นชอบต่อร่างความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชากับศูนย์ทุ่นระเบิดภูมิภาคอาเซียนว่าด้วยการเป็นเจ้าบ้าน และการให้เอกสิทธิ์และความคุ้มกันแก่ศูนย์ทุ่นระเบิดภูมิภาคอาเซียน และร่างแผนงานของศูนย์ทุ่นระเบิดภูมิภาคอาเซียน ประจำปี ค.ศ. 2017-2018

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบต่อร่างความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชากับศูนย์ทุ่นระเบิดภูมิภาคอาเซียนว่าด้วยการเป็นเจ้าบ้าน และการให้เอกสิทธิ์และความคุ้มกันแก่ศูนย์ทุ่นระเบิดภูมิภาคอาเซียน [Agreement between the Government of The Kingdom of Cambodia and The ASEAN Regional Mine Action Center (ARMAC) on Hosting and Granting Privileges and Immunities to the ARMAC] และแผนงานของศูนย์ทุ่นระเบิดภูมิภาคอาเซียนปี ค.ศ. 2017-2018 (ASEAN Regional Mine Action Centre Work Plan 2017-2018)

2. ให้ประธานคณะกรรมการบริหาร ARMAC หรือผู้แทนของ ARMAC ซึ่งได้รับการมอบหมายจากคณะกรรมการบริหาร ARMAC เป็นผู้ลงนามในความตกลงฯ (ตามข้อ 1)

สาระสำคัญของร่างความตกลงฯ และร่างแผนงานฯ

1. ร่างความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชากับ ARMAC ว่าด้วยการเป็นเจ้าบ้าน และการให้เอกสิทธิ์และความคุ้มกันแก่ ARMAC จะกำหนดขอบเขตอำนาจหน้าที่ของ ARMAC และกัมพูชาในฐานะประเทศเจ้าบ้าน ดังนี้

(1) สถานะทางกฎหมายของ ARMAC

(2) สถานที่และหน้าที่ความรับผิดชอบของภาคี

(3) ความรับผิดชอบของ ARMAC

(4) การเข้า-ออก การเดินทางผ่านและพักอาศัย

(5) การติดต่อสื่อสาร

(6) ความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของ ARMAC

(7) ความละเมิดมิได้ของสถานที่และเอกสาร

(8) การยกเว้นภาษีของ ARMAC และทรัพย์สินของ ARMAC

(9) การใช้งบประมาณอย่างเป็นอิสระ

(10) คณะกรรมการบริหาร ผู้อำนวยการบริหาร เจ้าหน้าที่ของ ARMAC และผู้เชี่ยวชาญ

(11) การระงับความคุ้มกัน

(12) การเคารพกฎหมายและข้อบังคับของฝ่ายกัมพูชา

(13) การระงับข้อพิพาท

(14) การมีผลบังคับใช้และการสิ้นสุดของความตกลง

2. ร่างแผนงานของ ARMAC ประจำปี ค.ศ. 2017-2018 ได้กำหนดเป้าหมายการดำเนินกิจกรรมของศูนย์ฯ ซึ่งประกอบด้วย การร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาทุ่นระเบิดและวัตถุระเบิดที่ตกค้างจากสงครามผ่านการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การฝึกอบรมทักษะที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการจัดกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างศักยภาพในเรื่องนี้ ดังนี้

(1) การเสริมสร้างความตระหนักรู้ถึงความอันตรายจากวัตถุระเบิดที่ตกค้างจากสงครามในชุมชนที่ได้รับผลกระทบ

(2) การอำนวยความสะดวกอย่างเหมาะสมในการให้ความช่วยเหลือด้านการแพทย์และการฟื้นฟูสภาพแก่ผู้ประสบภัยจากวัตถุระเบิดที่ตกค้างจากสงครามตามที่ได้รับการร้องขอจากประเทศสมาชิกอาเซียนที่ได้รับผลกระทบ

(3) การช่วยเหลือประเทศสมาชิกอาเซียนที่มีความสนใจในการวิจัยและการแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับผลกระทบจากวัตถุระเบิดที่ตกค้างจากสงคราม รวมถึงการยกร่างข้อเสนอโครงการให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคและการระดมทุนตามคำร้องขอเฉพาะและคำร้องขอส่วนบุคคล

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 16 มกราคม 2561--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ