การปรับสถานการณ์คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของไทยภายใต้กฎหมายการค้าสหรัฐอเมริกา มาตรา 301 พิเศษ (Special 301)

ข่าวการเมือง Tuesday January 23, 2018 16:10 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การปรับสถานการณ์คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของไทยภายใต้กฎหมายการค้าสหรัฐอเมริกา มาตรา 301 พิเศษ (Special 301) จากบัญชีประเทศที่ต้องจับตามองพิเศษ (Priority Watch List: PWL) เป็นบัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง (Watch List: WL)

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบการปรับสถานการณ์คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของไทยภายใต้กฎหมายการค้าสหรัฐอเมริกา มาตรา 301 พิเศษ (Special 301) จากบัญชีประเทศที่ต้องจับตามองพิเศษ (Priority Watch List: PWL) เป็นบัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง (Watch List: WL) ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ

ทั้งนี้ มอบหมายหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาภายใต้คณะอนุกรรมการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่มีรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) เป็นประธาน ได้แก่ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองทัพบก กรมสอบสวนคดีพิเศษ กรมศุลกากร กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ สำนักงานป้องกันและปรามปราบการฟอกเงิน สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาและกรมทรัพย์สินทางปัญญา ดำเนินการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างจริงจังและต่อเนื่องต่อไป โดยให้ความสำคัญกับการดำเนินการตามแผนที่นำทางด้านทรัพย์สินมางปัญญา (IP Roadmap) รวมถึงแผนงานด้านทรัพย์สินทางปัญญา (IP Work Plan) อย่างต่อเนื่องและเคร่งครัด เพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว สามารถยกระดับการพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศให้มีประสิทธิภาพและได้มาตรฐานสากลต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

พณ. รายงานว่า สำนักงาน USTR ได้ประกาศปรับสถานการณ์คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของไทยภายใต้กฎหมายการค้าสหรัฐอเมริกา มาตรา 301 พิเศษ (Special 301) ให้ดีขึ้นจากบัญชี PWL เป็นบัญชี WLเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2560 โดยสหรัฐอเมริกาแสดงความพอใจต่อนโยบายและผลการดำเนินของไทยที่สำคัญ ดังนี้

1. รัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องการคุ้มครองและป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา โดยมีการกำหนดนโยบายที่ชัดเจนภายใต้คณะกรรมการนโยบายทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติ (นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน) และคณะอนุกรรมการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา [รองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) เป็นประธาน] ทำให้มีการดำเนินการอย่างจริงจังจนเห็นผลเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะเรื่องการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในท้องตลาดอย่างจริงจังจนการละเมิดได้หมดสิ้นไปในพื้นที่หลักที่มีการจำหน่ายสินค้าละเมิดสูง (Notorious Market) ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2560 เป็นต้นมา รวมทั้งในพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศที่การจำหน่ายสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาได้ลดลงอย่างเห็นได้ชัดตลอดจนมีการจัดตั้งศูนย์ปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual PropertyEnforcement Center: IPEC) ใน 5 พื้นที่ ได้แก่ ศูนย์การค้ามาบุญครอง ตลาดนัดจตุจักร ตลาดโรงเกลือ (จังหวัดสระแก้ว) หาดป่าตองและหาดกะรน (จังหวัดภูเก็ต) เพื่อตรวจตราและจับกุมการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างทันท่วงที

2. ไทยได้มีการพัฒนาประสิทธิภาพในการจดทะเบียนสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้า โดยเพิ่มจำนวนผู้ตรวจสอบและปรับปรุงขั้นตอนการจดทะเบียน จนทำให้สามารถลดปริมาณงานค้างสะสมลงไปอย่างเห็น ได้ชัด

3. ไทยได้เข้าเป็นภาคีพิธีสารมาดริดว่าด้วยการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการที่จะยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในต่างประเทศได้

4. ไทยได้มีการเสริมสร้างความโปร่งใสโดยการเปิดให้มีการรับฟังความเห็นผู้มีส่วนได้เสียของ อย. เป็นประจำ

ทั้งนี้ พณ. เห็นว่าการปรับสถานะไทยให้ดีขึ้นดังกล่าวส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ของประเทศ ดังนี้

(1) สร้างความเชื่อมั่นในระบบการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของไทยให้แก่นักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ

(2) การพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาช่วยในการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนด้านการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่

(3) การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเพียงพอเป็นเงื่อนไขสำคัญประการหนึ่งที่สหรัฐอเมริกาพิจารณาในการคงสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (Generalized System of Preferences – GSP) ซึ่งสหรัฐอเมริกาให้แก่ประเทศคู่ค้าต่าง ๆ รวมถึงไทยด้วย

(4) ระบบทรัพย์สินทางปัญญาที่ทันสมัย รองรับสถานการณ์ด้านการค้าและการลงทุนในปัจจุบัน นอกจากเป็นปัจจัยในการส่งเสริมการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศแล้ว ยังช่วยปกป้องคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของคนไทยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 23 มกราคม 2561--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ