โครงการผลิตครูพันธุ์ใหม่

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 9, 2009 16:27 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีพิจารณาโครงการผลิตครูพันธุ์ใหม่ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)เสนอ แล้วมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามความเห็นสำนักงบประมาณ (สงป.) ดังนี้

1. เห็นชอบในหลักการให้ ศธ. ดำเนินโครงการผลิตครูพันธุ์ใหม่ โดยมีเป้าหมายผลิตครู จำนวน 5 รุ่น ตั้งแต่ปีการศึกษา 2554 — 2557 รวมจำนวน 30,000 คน เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนครูสายสอน โดยให้ ศธ. พิจารณากำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกบุคคลที่จะเข้าร่วมโครงการดังกล่าวให้ชัดเจนทั้งด้านความรู้ ความสามารถ ความตั้งใจ และเจตคติที่ดีต่อวิชาชีพครู รวมทั้งกำหนดเงื่อนไขการปฏิบัติงานหลังสำเร็จการศึกษาให้มีความเหมาะสม โดยมีระบบการติดตามและประเมินผลโครงการอย่างต่อเนื่องด้วย

2. อนุมัติค่าใช้จ่ายต่อหัวนักศึกษา ประกอบด้วยทุนการศึกษาและงบดำเนินการ โดยให้เบิกจ่ายงบประมาณในลักษณะเงินอุดหนุนทั่วไปตามที่ ศธ. เสนอ เนื่องจากเป็นไปตามเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบแล้ว (มติคณะรัฐมนตรี 19 สิงหาคม 2551)

3. ส่วนงบประมาณที่ขออนุมัติเพื่อดำเนินโครงการในช่วงปี 2554 — 2563 จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี ในวงเงิน 4,235 ล้านบาท ประกอบด้วยทุนการศึกษา จำนวน 2,570.25 ล้านบาท งบดำเนินการ จำนวน 1,413.75 ล้านบาท และงบบริหารโครงการ จำนวน 215 ล้านบาท นั้น เนื่องจากเป็นการขอรับการสนับสนุนงบประมาณโครงการระยะยาว (10 ปี) ให้ ศธ. ขอทำความตกลงในรายละเอียดกับ สงป. ตามความจำเป็นและเหมาะสม ซึ่ง สงป. จะพิจารณาจัดสรรตามกำลังงบประมาณแผ่นดินในแต่ละปีต่อไป

4. ในประเด็นที่ ศธ. ขออนุมัติอัตราที่จะบรรจุนักศึกษาที่จบตามเกณฑ์ของโครงการครูพันธุ์ใหม่ และโครงการผลิตครูภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 เป็นอัตราเกษียณอายุราชการของข้าราชการครูที่ได้รับคืนให้แก่ ศธ. ในอัตราเกษียณร้อยละ 100 โดยขอยกเว้นการพิจารณาให้ความเห็นชอบจาก คปร. นั้น เนื่องจากคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2551 อนุมัติหลักการให้จัดสรรอัตราจากผลการเกษียณอายุราชการคืนร้อยละ 100 ตามที่ ศธ. เสนอ โดยให้ ศธ. จัดทำรายละเอียดการขอคืนอัตรากำลังในแต่ละปี ระหว่างปี 2551 — 2554 ให้ คปร. รับไปประกอบการพิจารณาตามเหตุผลความจำเป็นเป็นปี ๆ ไป จึงเห็นควรให้ ศธ. ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว โดยให้ ศธ. จัดทำรายละเอียดการขอคืนอัตรากำลังในแต่ละปีโดยผ่านการพิจารณาจาก คปร. ก่อน ทั้งนี้ การขอขยายระยะเวลาจากที่กำหนดไว้เดิมจากปี 2551 — 2554 ออกไปจนจบโครงการดังกล่าวนั้น เห็นควรให้เป็นไปตามความจำเป็นและสอดคล้องกับการขาดแคลนที่แท้จริง

5. อนุมัติให้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อดำเนินการ 2 ชุด ได้แก่ คณะกรรมการบริหารโครงการผลิตครูพันธุ์ใหม่ และคณะกรรมการคัดเลือกสถาบันฝ่ายผลิตและนักศึกษาทุนโครงการครูพันธุ์ใหม่ ตามที่ ศธ. เสนอ ดังนี้

5.1 คณะกรรมการบริหารโครงการผลิตครูพันธุ์ใหม่ ประกอบด้วย รองศาสตราจารย์วรากรณ์ สามโกเศศ เป็นกรรมการที่ปรึกษา เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา เป็นกรรมการที่ปรึกษา นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานกรรมการ เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา เป็นกรรมการและเลขานุการ รวมทั้งผู้ช่วยเลขานุการรวม 3 คน และมีกรรมการอื่นอีก 13 คน โดยมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้

(1) กำหนดนโยบาย กรอบและทิศทางการดำเนินงานของโครงการผลิตครูพันธุ์ใหม่ เพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาที่เข้าร่วมโครงการมีการดำเนินงานที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

(2) กำกับ ดูแล บริหารโครงการ และประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้โครงการดำเนินการบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้

(3) ติดตาม ประเมินผล และรายงานผลการดำเนินงานโครงการต่อกระทรวงศึกษาธิการ คณะรัฐมนตรี และสาธารณชน

5.2 คณะกรรมการคัดเลือกสถาบันฝ่ายผลิตและนักศึกษาทุนโครงการผลิตครูพันธุ์ใหม่ ประกอบด้วย ศาสตราจารย์สมหวัง พิธิยานุวัตร์ เป็นประธานกรรมการ เจ้าหน้าที่ สกอ. เป็นกรรมการและเลขานุการ รวมทั้งผู้ช่วยเลขานุการรวม 3 คน และมีกรรมการอื่นอีก 18 คน โดยมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้

(1) จัดทำเกณฑ์และคัดเลือกสถาบันฝ่ายผลิตเข้าร่วมโครงการ

(2) จัดทำเกณฑ์และดำเนินการคัดเลือกนักศึกษาทุนเข้าร่วมโครงการ

(3) จัดทำประชาสัมพันธ์โครงการ

(4) รายงานผลการดำเนินงานต่อกระทรวงศึกษาธิการ คณะรัฐมนตรี และสาธารณชน

สาระสำคัญของเรื่อง

ศธ. รายงานว่า

1. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยรวมต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานเกือบทุกวิชา โดยเฉพาะวิชาภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการขาดแคลนครูทั้งเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ ซึ่งสาเหตุของการขาดแคลนครูนั้นนอกจากข้อจำกัดด้านงบประมาณในช่วงเวลาที่ผ่านมาแล้วยังมีผลมาจากนโยบายจำกัดอัตรากำลังคนภาครัฐที่ทำให้ ศธ. ถูกยุบอัตรากำลังจากการเกษียณอายุราชการ จำนวน 51,169 อัตรา ตั้งแต่ปี 2543 — 2547 ประกอบกับการที่ครู คณาจารย์ มีภาระงานมาก ทั้งด้านบริหารจัดการ ธุรการ และงานอื่น ๆ นอกเหนือจากงานสอน ทำให้มีปัญหาการขาดแคลนครู คณาจารย์สะสมต่อเนื่อง แม้ ศธ.ได้พยายามแก้ไขปัญหาการขาดแคลนครู คณาจารย์ อย่างต่อเนื่องแล้ว แต่การแก้ไขปัญหาดังกล่าวเป็นการแก้ปัญหาการบริหารจัดการเพียงด้านเดียวยังไม่อาจแก้ปัญหาสภาวการณ์ขาดแคลนครูได้

2. จากการสำรวจอัตรากำลังครูของสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2551 พบว่า ยังขาดครูจำนวน 58,414 คน นอกจากนี้เมื่อพิจารณาข้อมูลจำนวนครูเกษียณอายุในช่วงปี 2553 — 2562 จะมีครูเกษียณอายุ จำนวน 192,258 คน โดยจะมีจำนวนครูที่เกษียณอายุราชการประมาณ ปีละ 4,213 — 26,966 คน ซึ่งสอดคล้องกับผลการสำรวจอัตราครูสายสอนของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2552 พบว่าขาดครูสายสอน จำนวน 44,027 คน และจากข้อมูลอัตราการเกษียณอายุราชการในช่วงปี 2552 — 2556 จะมีครูเกษียณอายุ จำนวน 1,160 คน

3. เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการขาดครูของสถานศึกษาทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ ทั้งความขาดแคลนในสาขาวิชาและพื้นที่ ศธ. โดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) จึงได้จัดทำโครงการผลิตครูพันธุ์ใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อผลิตครูในสาขาและพื้นที่ที่ขาดแคลน และจำเป็นต่อการจัดการศึกษาขั้น พื้นฐานและอาชีวศึกษาของประเทศ ของ ศธ. 2) เพื่อผลิตครูมืออาชีพที่มีความรู้ทางวิชาการ เชี่ยวชาญทางวิชาชีพ และมีอุดมการณ์ในวิชาชีพครู ด้วยหลักสูตรและกระบวนการที่เน้นการปฏิบัติและการฝึกอบรมที่เข้มข้น

เป้าหมาย ผลิตครูจำนวน 5 รุ่น ตั้งแต่ปีการศึกษา 2554 — 2557 จำนวน 30,000 คน

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 8 ธันวาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ