ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามสิ่งยั่วยุพฤติกรรมอันตราย พ.ศ. ....

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 23, 2010 13:31 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามสิ่งยั่วยุพฤติกรรมอันตราย พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานด้านนิติบัญญัติพิจารณา ก่อนนำเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป

สาระสำคัญของร่าง

1. กำหนดความหมายของสิ่งยั่วยุพฤติกรรมอันตรายและลักษณะการกระทำที่เป็นพฤติกรรมอันตรายซึ่งรวมถึงการกระทำวิปริตทางเพศ การกระทำทารุณกรรมต่อเด็ก การฆ่าตัวตายของเด็กหรือเป็นหมู่คณะ การใช้ยาเสพติด การกระทำความผิดต่อชีวิตและความผิดต่อทรัพย์ และขยายความหมายของคำว่า “เด็ก” ให้ครอบคลุมถึงตัวแสดงที่ปรากฏอยู่ในสิ่งยั่วยุพฤติกรรมอันตรายซึ่งมีลักษณะที่ทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นเด็กด้วย (ร่างมาตรา 3)

2. กำหนดให้พระราชบัญญัตินี้ไม่กระทบกระเทือนถึงอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการหรือเจ้าหน้าที่อื่นตามกฎหมายอื่นที่มีลักษณะหรือเนื้อหาเกี่ยวกับสิ่งยั่วยุพฤติกรรมอันตราย และกำหนดให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้มีอำนาจในการวินิจฉัยและการวางระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการและการประสานงาน (ร่างมาตรา 4)

3. กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งเป็นรัฐมนตรีของกระทรวงที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ เป็นรัฐมนตรีผู้รักษาการตามกฎหมาย และให้รัฐมนตรีแต่ละกระทรวงมีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของตนเท่านั้น (ร่างมาตรา 5)

4. กำหนดให้มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามสิ่งยั่วยุพฤติกรรมอันตราย ซึ่งประกอบด้วยกรรมการโดยตำแหน่งและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิรวมทั้งกำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ (ร่างมาตรา 6 ถึงร่างมาตรา 12)

5. กำหนดให้สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ และผู้สูงอายุ ทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการ (ร่างมาตรา 13)

6. กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจในการเข้าไปตรวจค้นในสถานที่หรือเคหสถานของบุคคลค้นบุคคลหรือยานพาหนะ เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีสิ่งยั่วยุพฤติกรรมอันตรายหรือทรัพย์สินที่ได้ใช้หรือจะใช้ในการกระทำความผิดซึ่งอาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้ ยึดหรืออายัดสิ่งยั่วยุพฤติกรรมอันตรายหรือพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด รวมทั้งมีอำนาจในการเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำความผิดในพัสดุภัณฑ์ จดหมาย ตู้ไปรษณียภัณฑ์ ระบบคอมพิวเตอร์ ข้อมูลคอมพิวเตอร์ ฯลฯ เมื่อปรากฎหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าจะได้ข้อมูลที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ทั้งนี้ จะต้องได้รับอนุญาตจากศาลและต้องรายงานผลการดำเนินการให้ศาลทราบด้วย และให้เจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา (ร่างมาตรา 14 ถึงร่างมาตรา 17)

7. กำหนดความผิดและบทกำหนดโทษสำหรับการกระทำความผิดเกี่ยวกับสิ่งยั่วยุพฤติกรรมการอันตราย (ร่างมาตรา 18 ถึงร่างมาตรา 29)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 22 มิถุนายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ