ร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจบัตรเครดิต พ.ศ. ....

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 23, 2010 13:29 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจบัตรเครดิต พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานด้านนิติบัญญัติพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป

กระทรวงการคลังรายงานว่า

1. ในปัจจุบันการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจบัตรเครดิต กระทรวงการคลังได้อาศัยอำนาจตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ออกประกาศกระทรวงการคลังกำหนดให้การประกอบธุรกิจบัตรเครดิตเป็นกิจการที่ต้องขอรับใบอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และให้ธนาคารแห่งประเทศไทยออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ในกำกับ ดูแลการประกอบธุรกิจดังกล่าว โดยที่ผ่านมาสามารถกำกับดูแลการประกอบธุรกิจบัตรเครดิตได้ในระดับหนึ่ง แต่เนื่องจากการประกอบธุรกิจดังกล่าวมีการแข่งขันกันสูงมากขึ้น จนทำให้มีผลกระทบต่อสิทธิของประชาชนผู้ใช้บริหาร เช่น การหา ลูกค้า การแจ้งข้อมูล เป็นต้น ประกอบกับไม่มีบทกำหนดโทษที่เหมาะสมแก่ผู้กระทำผิด ทำให้มีข้อจำกัดในการกำกับ ดูแลการประกอบธุรกิจดังกล่าว ดังนั้น จึงสมควรที่จะต้องมีกฎหมายเพื่อกำกับดูแลการประกอบธุรกิจดังกล่าวเป็นการเฉพาะ เพื่อให้สามารถกำกับดูแลการประกอบธุรกิจบัตรเครดิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถกำหนดมาตรการในการคุ้มครองประชาชนผู้ใช้บริการได้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งมีบทกำหนดโทษ ที่เหมาะสมแก่ผู้กระทำความผิดด้วย

2. กระทรวงยุติธรรมได้ยกร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจบัตรเครดิต พ.ศ. .... และจัดการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็น เมื่อวันที 29 กรกฎาคม 2552 และเสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวต่อกระทรวงการคลัง

3. สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตต่อร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว เมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2552 โดยได้นำความคิดเห็นดังกล่าวมาใช้ประกอบการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจบัตรเครดิต พ.ศ. ....

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

1. กำหนดให้การประกอบธุรกิจบัตรเครดิตเป็นกิจการที่ต้องขอรับใบอนุญาตจากรัฐมนตรีโดยคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทย (ร่างมาตรา 6)

2. กำหนดหลักเกณฑ์ในการประกอบธุรกิจบัตรเครดิต เช่น ประเภทของบัตรเครดิต หลักเกณฑ์การออกบัตรวงเงิน คุณสมบัติของผู้ถือบัตร เป็นต้น (ร่างมาตรา 9-33)

3. กำหนดให้รัฐมนตรีอาจเพิกถอนใบอนุญาตได้เมื่อปรากฎว่าผู้ประกอบธุรกิจไม่ดำเนินการตามกฎหมายหรือกระทำการที่ไม่เป็นธรรมแก่ผู้ถือบัตรหรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน และเมื่อรัฐมนตรีมีคำสั่งให้แก้ไขฐานะหรือการดำเนินงานหรือปฏิบัติให้ถูกต้องแล้วยังฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้น (ร่างมาตรา 34)

4. กำหนดสิทธิและหน้าที่ของผู้ประกอบธุรกิจ ผู้ถือบัตรและผู้รับบัตร (ร่างมาตรา 40-48)

5. กำหนดห้ามผู้ประกอบธุรกิจเรียกเก็บเงินก่อนวันครบกำหนดชำระตามสัญญาและถ้าผู้ถือบัตรชำระเงินเกินยอดและร้องขอต่อผู้ประกอบธุรกิจเป็นลายลักษณ์อักษรผู้ประกอบธุรกิจต้องคืนเงินแก่ผู้ถือบัตรทันที (ร่างมาตรา 50)

6. กำหนดให้กรณีที่ผู้ถือบัตรซื้อสินค้าหรือบริการผ่านทางอินเตอร์เน็ต เมื่อผู้ถือบัตรมีข้อโต้แย้งเป็นลายลักษณ์อักษรว่าตนมิได้เป็นผู้ซื้อสินค้าหรือใช้บริการจากผู้รับบัตรนั้น ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องระงับการเรียกเก็บเงินจากผู้ถือบัตรไว้และทำการตรวจสอบ (ร่างมาตรา 51)

7. กำหนดให้หนี้อันเนื่องมาจากการใช้บัตรเครดิต ห้ามมิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นสองปี นับแต่วันที่สัญญาบัตรเครดิตสิ้นสุดลง (ร่างมาตรา 52)

8. กำหนดบทเฉพาะกาลโดยให้ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตที่ได้รับอนุญาตก่อนพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับให้ถือว่าได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ และให้ผู้ที่ได้รับผ่อนผันตามกฎหมายเดิมได้รับการผ่อนผันต่อไปจนกว่าจะมีคำสั่งตามพระราชบัญญัตินี้ รวมทั้งให้ถือว่าบัตรเครดิตตามกฎหมายเดิมเป็นบัตรเครดิตตามพระราชบัญญัตินี้ด้วย (ร่างมาตรา 71 —73)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 22 มิถุนายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ