คำพิพากษาคดีปกครอง บริษัทส่งเสริมประกันภัย จำกัด

ข่าวทั่วไป Friday April 10, 2015 14:30 —คปภ.

มูลเหตุแห่งคดี

1. นายทะเบียนโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้มีคำสั่งที่ 27/2555 ลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2555 ให้บริษัทส่งเสริมประกันภัย จำกัด หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2555 เป็นต้นไป

2. บริษัทส่งเสริมฯ ได้อุทธรณ์คำสั่ง และต่อมา คปภ.ได้พิจารณาอุทธรณ์ โดยมีมติในการประชุมครั้งที่ 8/2555 เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2555 ให้ยกคำอุทธรณ์

3. บริษัทส่งเสริมฯ ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการของนายทะเบียน และ คปภ.ที่พิจารณา

ยกคำอุทธรณ์ของบริษัทฯ จึงได้ยื่นฟ้องเลขาธิการ คปภ. ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 คปภ. ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และสำนักงาน คปภ. ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ต่อศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2555 เป็นคดีปกครองคดีหมายเลขดำ ที่ 2886/2555 กรณีนายทะเบียนมีคำสั่งที่ 27/2555 ลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2555 ให้บริษัทส่งเสริมฯ หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว เนื่องจากเห็นว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นเหตุให้บริษัทส่งเสริมฯ ได้รับความเดือดร้อนเสียหายเป็นการทำละเมิดต่อบริษัทฯ โดยขอให้ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษา หรือคำสั่งเพิกถอนคำสั่งทางปกครอง คำสั่งนายทะเบียน ที่ 27/2555 ลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2555 เรื่องให้บริษัทส่งเสริมฯ หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว รวมทั้งประกาศหรือคำสั่งอื่นใดที่ได้ออกภายหลังการให้หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ชดใช้ค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการกระทำละเมิดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จำนวน 2,350 ล้านบาท

ผลคำพิพากษา

บัดนี้ ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2558 ให้ยกฟ้องของบริษัทส่งเสริมประกันภัย จำกัด ผู้ฟ้องคดี โดยมีความเห็นว่า เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏผู้ฟ้องคดีมีฐานะหรือการดำเนินการที่อยู่ในลักษณะอันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน และเมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ใช้ดุลพินิจพิจารณาแล้วเห็นว่าผู้ฟ้องคดีมีฐานะหรือการดำเนินการที่อยู่ในลักษณะอันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน จึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงมีอำนาจในการสั่งให้ผู้ฟ้องคดีหยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว ซึ่งเป็นการอาศัยอำนาจตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ.2535 จึงเป็นการดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว เมื่อคำสั่งนายทะเบียน ที่ 27/2555 ลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2555 ที่ให้ผู้ฟ้องคดีหยุดรับประกันวินาศภัยเป็นกชั่วคราว เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่ 1/2555 ลงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2555 ที่ให้ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีจึงชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน และเมื่อการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใด ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดี พิพากษายกฟ้อง

ที่มา: http://www.oic.or.th


แท็ก ประกันภัย  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ