คปภ. เพิ่มขอบเขตความคุ้มครองผู้ประสบภัยทางน้ำที่อยู่นอกเรือโดยสาร

ข่าวทั่วไป Tuesday May 3, 2016 15:18 —คปภ.

ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันเส้นทางสัญจรทางน้ำได้รับความนิยมทั้งจากคนไทยและนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย จึงมีผู้ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการเดินเรือโดยสารเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นเรือนำเที่ยว เรือร้านอาหาร เรือหางยาว เรือ Speed Boat เรือ Yacht ฯลฯ ส่งผลให้การสัญจรทางน้ำมีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุและสร้างความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินเพิ่มมากขึ้นด้วย สำนักงาน คปภ. จึงมีความห่วงใยประชาชนและนักท่องเที่ยวที่ใช้เส้นทางน้ำเพื่อการสัญจรเป็นอย่างมาก ซึ่งปัจจุบันคุ้มครองอุบัติเหตุเฉพาะผู้โดยสารที่อยู่บนเรือหรือกำลังขึ้นลงเรือเท่านั้น แต่ไม่รวมบุคคลภายนอกเรือที่ประสบอุบัติเหตุจากพาหนะทางน้ำ ดังนั้นเลขาธิการ คปภ. ในฐานะนายทะเบียนจึงได้ลงนามเห็นชอบในหลักการเอกสารแนบท้ายขยายความคุ้มครองไปถึงผู้ประสบภัยที่อยู่นอกเรือโดยสารด้วย สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยผู้โดยสารเรือสำหรับโดยสารและอัตราเบี้ยประกันภัย เพื่อให้ความคุ้มครองเพิ่มเติมจากกรมธรรม์ประกันภัยผู้โดยสารเรือสำหรับโดยสารที่มีอยู่เดิม

เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า การลงนามความเห็นชอบดังกล่าวเป็นการเพิ่มขอบเขตความคุ้มครองผู้ประสบภัยทางน้ำที่อยู่นอกเรือ หรือบุคคลภายนอกที่ประสบอุบัติเหตุได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากพาหนะทางน้ำ จะได้รับความคุ้มครอง กรณีเสียชีวิต การสูญเสียมือ เท้า หรือสายตา หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง 100,000 บาทต่อคน และค่ารักษาพยาบาลต่ออุบัติเหตุแต่ละครั้งไม่เกิน 15,000 บาทต่อคน โดยมีจำนวนเงินจำกัดความรับผิดรวมไม่เกิน 1,000,000 บาทต่ออุบัติเหตุแต่ละครั้งและตลอดระยะเวลาเอาประกันภัย เบี้ยประกันภัยต่อเรือ 1 ลำ อยู่ระหว่าง 1,000 – 1,500 บาท ทั้งนี้สำนักงาน คปภ. มีแนวทางในการสนับสนุนและส่งเสริมนโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับการท่องเที่ยวด้วยการใช้ระบบประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยง ซึ่งการเพิ่มขอบเขตความคุ้มครองผู้ประสบภัยทางน้ำที่อยู่นอกเรือ โดยจะช่วยสร้างความมั่นคงให้กับผู้ดำเนินธุรกิจเรือโดยสารและสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ตลอดจนนักท่องเที่ยวที่ประสบภัยทางน้ำได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพต่อไป

“การเพิ่มความคุ้มครองดังกล่าวเป็นการบรรเทาภาระความเสียหายทางการเงินแก่ผู้ประกอบธุรกิจเดินเรือ รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยว หรือประชาชนผู้ประสบภัยที่อยู่นอกเรือที่จะได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอย่างแน่นอน ถือได้ว่าเป็นการจัดการบริหารความเสี่ยงที่คุ้มค่า ฉะนั้นผู้ประกอบการเดินเรือควรที่จะซื้อความคุ้มครองดังกล่าวเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้ผู้ประสบภัยทางน้ำที่เกิดจากเรือโดยสาร หรือเรือนำเที่ยว ได้รับความคุ้มครองอย่างทั่วถึงและครบวงจร ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในสายตาของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีต่อประเทศไทยอีกด้วย ซึ่งหากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน คปภ. 1186 หรือเว็บไซต์ www.oic.or.th” ดร.สุทธิพล กล่าวในตอนท้าย

ที่มา: http://www.oic.or.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ