Share โลกเศรษฐกิจ: เกาหลีใต้…ต้นแบบความสำเร็จของ Digital Economy

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday April 30, 2015 13:58 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

Digital Economy เป็นรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจที่อาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communication Technology : ICT) เป็นพื้นฐานในการขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ ทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะมีส่วนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศ ทั้งนี้ คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า "เกาหลีใต้" เป็นประเทศหนึ่งที่ฟื้นตัวได้อย่างมั่นคงหลังประสบวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 ด้วยการใช้นโยบายมุ่งสนับสนุน Digital Economy อย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ จากวันนั้นจนถึงวันนี้ เกาหลีใต้กลายเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีอันดับต้นๆ ของโลก เป็นประเทศที่มีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่สุดในโลก มีประชากรที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตมากที่สุดในโลก มีสัดส่วนของอุตสาหกรรม ICT ต่อ GDP เพิ่มขึ้นจากเพียงร้อยละ 6 ในปี 2544 เป็นร้อยละ 12.3 ในปี 2555 และมีปริมาณส่งออกสินค้า ICT สูงถึงร้อยละ 33 ของมูลค่าส่งออกรวมในปี 2557

ปัจจัยหลักที่ทำให้เกาหลีใต้ประสบความสำเร็จในการสร้างสังคมดิจิทัล คือ
  • การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยเฉพาะการพัฒนาเทคโนโลยีการส่งข้อมูลความเร็วสูงผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (Broadbands) ซึ่งถือเป็นนโยบายหลักที่เกาหลีใต้ให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกเพื่อมุ่งสู่การเป็นประเทศที่เป็น Ubiquitous Society หรือสังคมที่ผู้คนสามารถเชื่อมโยงติดต่อกันผ่านเครือข่ายต่างๆ ได้ในทุกที่ทุกเวลา ทั้งนี้ ในช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมาเกาหลีใต้ได้ออกนโยบายสนับสนุนการเป็น Digital Economy อย่างต่อเนื่อง อาทิ Cyber Korea 21 (ประกาศใช้ในปี 2542) e-Korea vision 2006 (2545) u-Korea (2549) และ Giga Korea (2556) ซึ่งล้วนเป็นนโยบายที่มุ่งลงทุนด้านการสร้างและยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านสารสนเทศและการสื่อสาร ล่าสุดอยู่ระหว่างการพัฒนาเทคโนโลยี 5G ร่วมกับคณะกรรมาธิการยุโรป
  • การให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแก่ประชากรทุกกลุ่ม เป็นนโยบายสำคัญอีกนโยบายหนึ่งที่ดำเนินการควบคู่ไปกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านสารสนเทศและการสื่อสาร โดยมีการจัดตั้งหน่วยงาน Korea Education and Research Information Service (KERIS) เพื่อทำหน้าที่ส่งเสริมและพัฒนาการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในระบบการศึกษา อาทิ โครงการ u-Learning ซึ่งเป็นการวิจัยและพัฒนาการศึกษาสำหรับโลกอนาคต โครงการ e-learning เช่น หนังสือเรียนดิจิทัล (Digital Textbook) ซึ่งนักเรียนสามารถเรียนรู้ผ่านทางคอมพิวเตอร์ Notebook Tablet และ Smartphone เครือข่ายห้องสมุดดิจิทัล (Digital Library) ซึ่งสนับสนุนการเรียนการสอน และเป็นแหล่งข้อมูลเพื่อการอ่านและการศึกษาในด้านต่างๆ นอกจากนี้ ยังจัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้อินเทอร์เน็ตกับกลุ่มคนทำงาน ผู้สูงอายุ และแม่บ้าน รวมถึงกลุ่มผู้มีรายได้น้อย เพื่อผลักดันให้ชาวเกาหลีใต้ทุกคนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและข่าวสารได้อย่างรวดเร็ว คุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งมีส่วนช่วยกระตุ้นการเติบโตของตลาดเทคโนโลยีสารสนเทศในประเทศ
  • การออกมาตรการสนับสนุนธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เช่น การผ่อนคลายและปรับปรุงกฎระเบียบ การส่งเสริมให้มีการแข่งขันโดยเสรี และการสนับสนุนเงินทุนแก่ผู้ประกอบการและผู้ให้บริการในธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ผลของมาตรการดังกล่าวมีส่วนทำให้อุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของเกาหลีใต้เติบโตอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มฮาร์ดแวร์ เช่น เซมิคอนดักเตอร์ หน้าจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ Smartphone และ Tablet ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของเกาหลีใต้และติดอันดับต้นๆ ของโลก รวมถึงกลุ่มซอฟต์แวร์ เช่น Mobile Applications และ Cloud Computing ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตสูงตามกระแสความต้องการในตลาดโลก นอกจากนี้ การที่รัฐบาลเกาหลีใต้มีนโยบายที่ชัดเจนในการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในภาครัฐ (e-Government) อาทิ การชำระภาษีออนไลน์ ยังเป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งในการดึงภาคเอกชนให้เข้ามาร่วมกับภาครัฐในการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการบริการมากขึ้น

ทั้งนี้ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร การสนับสนุนประชากรทุกกลุ่มให้มีความรู้ และการออกมาตรการสนับสนุนธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ล้วนเป็นรากฐานสำคัญที่ผลักดันให้เกาหลีใต้ประสบความสำเร็จในการพัฒนาสู่การเป็น Digital Economy จึงเห็นได้ว่าหลายประเทศในอาเซียนรวมถึงไทย ที่มุ่งเน้นการใช้ Digital Economy เป็นยุทธศาสตร์หลักในการผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ จึงมักใช้รูปแบบของการพัฒนา Digital Economy อย่างรอบด้านของเกาหลีใต้เป็นต้นแบบ ทั้งการสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านสารสนเทศให้เพียงพอรองรับความต้องการใช้ของประชากรทั่วประเทศ การกระตุ้นความต้องการใช้ผ่านการพัฒนาองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี ตลอดจนการปรับบรรยากาศและสร้างสภาวะแวดล้อมให้เอื้อแก่การลงทุนของภาคเอกชน

Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนเมษายน 2558--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ