ลมเปลี่ยนทิศ... ความหวัง BRICS ขึ้นแทนที่ G7 ไม่ใช่เรื่องง่าย

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday November 23, 2015 14:08 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

กลุ่มประเทศเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งประกอบด้วยบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ หรือที่รู้จักกันในนาม BRICS เคยถูกคาดหวังว่าจะเป็นกลุ่มประเทศที่เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกแทนขั้วอำนาจเศรษฐกิจเดิมอย่างกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก 7 ประเทศ หรือ G7 ซึ่งประกอบด้วย สหรัฐฯ แคนาดา สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่น แต่ความคาดหวังดังกล่าวถูกท้าทายมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันของ BRICS ที่เผชิญปัญหารุมเร้ามากมาย อาทิ บราซิลได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ตกต่ำ จนมีอัตราการว่างงานสูงสุดในรอบ 5 ปี รัสเซียต้องเผชิญปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ จนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ รวมถึงค่าเงินรูเบิลที่อ่อนค่าต่ำสุดในรอบ 16 ปี และจีนที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวต่ำสุดในรอบ 6 ปี

แม้ IMF คาดการณ์ว่าในปี 2563 GDP ของ BRICS จะมีสัดส่วนถึง 34% ของ GDP โลก แซงหน้า G7 ที่จะมีสัดส่วนลดลงเหลือ 29% แต่ผู้เขียนประเมินว่า BRICS ยังต้องเผชิญความท้าทายนานัปการในการก้าวขึ้นเป็นผู้นำเศรษฐกิจโลกแทน G7 อาทิ

  • โครงสร้างเศรษฐกิจของ BRICS ยังพึ่งพาการส่งออกค่อนข้างมากถึงหนึ่งในสี่ของ GDP และเป็นการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์เป็นหลัก อาทิ น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ เหล็ก พลาสติก เคมีภัณฑ์ และฝ้าย ขณะที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีแนวโน้มผันผวนในทิศทางขาลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก อีกทั้งหลายประเทศในกลุ่ม BRICS พึ่งพาการส่งออกไปจีนค่อนข้างมาก อาทิ บราซิลส่งออกไปจีนคิดเป็น 20% ของมูลค่าส่งออกรวม แอฟริกาใต้ 10% และรัสเซีย 7% ดังนั้น ท่ามกลางภาวะที่เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มชะลอตัวไปอีกหลายปี อาจส่งผลฉุดให้การส่งออกของ BRICS ชะลอตัวตามไปด้วย ตลอดจนการค้าโลกในระยะข้างหน้าที่มีแนวโน้มเติบโตไม่สูง ก็จะยิ่งกดดันการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก ซึ่งรวมถึง BRICS ด้วย
  • BRICS มีความเสี่ยงที่จะเผชิญปัญหากับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) แม้ที่ผ่านมา BRICS ประสบความสำเร็จในการยกระดับจากประเทศยากจนไปสู่ประเทศที่มีรายได้ปานกลาง แต่การก้าวต่อไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูงอาจไม่ง่ายนัก เนื่องจากประสบการณ์ของประเทศที่สามารถหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง อาทิ ญี่ปุ่น ไต้หวัน และเกาหลีใต้ รวมถึง G7 ส่วนใหญ่ใช้แรงผลักดันจากการวิจัยและพัฒนา นวัตกรรม และเทคโนโลยี แต่ปัจจุบัน BRICS ยังมีความพร้อมในปัจจัยดังกล่าวไม่มากนัก สะท้อนได้จาก Global Competitiveness Index 2015-2016 ด้านความพร้อมของเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งจัดทำโดย World Economic Forum พบว่า BRICS อยู่ในอันดับที่ 50-120 และ 31-84 ตามลำดับ จากทั้งหมด 140 ประเทศ
  • กำลังซื้อของหลายประเทศใน BRICS เติบโตค่อนข้างช้า อาทิ รายได้เฉลี่ยต่อหัวของบราซิล แอฟริกาใต้ และรัสเซีย เพิ่มขึ้นจากเมื่อ 5 ปีก่อนเพียง 9-11% ขณะที่ประเทศที่กำลังซื้อเติบโตสูง อาทิ จีน ก็ยังมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวต่ำกว่า G7 ถึงกว่า 3 เท่าตัว ส่วนหนึ่งเป็นผลจาก BRICS ยังเผชิญปัญหาความเหลื่อมล้ำค่อนข้างสูงในการกระจายรายได้ นอกจากนี้ กำลังซื้อที่เติบโตช้าของ BRICS ยังบั่นทอนผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ควรจะได้รับจากจำนวนประชากรที่มากถึง 40% ของประชากรโลก
  • แนวโน้มการย้ายฐานการผลิตจาก BRICS กลับไปประเทศเจ้าของทุน (Re-shoring) อาจกระทบต่อ การลงทุนใน BRICS และส่งผลต่อเนื่องให้เศรษฐกิจของ BRICS เติบโตไม่ได้ตามที่คาดหวังไว้ ซึ่งเริ่มเห็นสัญญาณการ Re-shoring ในจีนของบริษัทข้ามชาติจากสหรัฐฯ และญี่ปุ่นมากขึ้นแล้ว และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ FDI ของจีนลดเหลือ 2% ของการลงทุนรวม จากที่เคยสูงถึง 10% เมื่อสิบปีก่อน

จากเหตุผลข้างต้นทำให้ผู้เขียนมองว่าอาจต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าที่ BRICS จะก้าวขึ้นมามีบทบาทนำในเวทีเศรษฐกิจโลกแทน G7 ทั้งนี้ แม้สถานการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องของประเทศผู้นำทางเศรษฐกิจโลก แต่ก็มีความเชื่อมโยงกับประเทศไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะการส่งออกของไทยที่อาจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม นับเป็น โชคดีของภาคส่งออกไทยที่กระจายตลาดส่งออกไปหลายประเทศทั้ง BRICS และ G7 ทำให้ไม่ว่ากลุ่มประเทศใดจะขึ้นมาเป็นผู้นำเศรษฐกิจโลก การส่งออกของไทยก็อาจได้รับผลกระทบไม่มากนัก เห็นได้จากกรณีที่เศรษฐกิจจีนชะลอตัว ส่งผลให้การส่งออกของไทยไปจีนหดตัวตั้งแต่ปี 2557 แต่ถูกชดเชยด้วยการส่งออกไปสหรัฐฯ ที่ขยายตัวดีขึ้นเป็นลำดับ จึงทำให้การส่งออกของไทยโดยรวมหดตัวน้อยกว่าหลายประเทศที่มีตลาดส่งออกกระจุกตัว อาทิ ไต้หวันที่พึ่งพาการส่งออกไปจีนถึง 25% ทำให้มูลค่าส่งออกครึ่งแรกของปี 2558 หดตัว 7.1% รวมถึงตุรกีที่พึ่งพาการส่งออกไป EU ถึง 42% ทำให้มูลค่าส่งออกหดตัว 8.3%

Disclaimer : คอลัมน์นี้เผยแพร่เพื่อให้ความรู้ด้านเศรษฐกิจมหภาค เศรษฐกิจต่างประเทศ รวมถึงภาวะธุรกิจและอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความคิดเห็นของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ