Share โลกเศรษฐกิจ: คลี่ปมเศรษฐกิจรัสเซีย…แนวโน้มยังดีและโอกาสทางธุรกิจรออยู่

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday May 27, 2016 13:27 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

แม้ว่าในปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจรัสเซียดำดิ่งลงจากปัญหารุมเร้ารอบด้าน ทั้งความขัดแย้งระหว่างประเทศและราคาน้ำมันซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญตกต่ำลง จนทำให้เศรษฐกิจพลิกกลับมาหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปี และดัชนีเศรษฐกิจหลายตัวส่งสัญญาณน่าเป็นห่วง อย่างไรก็ตาม เป็นที่คาดว่าเศรษฐกิจรัสเซียน่าจะผ่านพ้นจุดต่ำสุดในปี 2558 ไปได้ โดยมีปัจจัยเกื้อหนุนสำคัญจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลรัสเซียมีแนวโน้มจะนำมาใช้เพื่อเยียวยาสถานการณ์ และเรียกความเชื่อมั่นในรัสเซียให้กลับคืนมา

เศรษฐกิจรัสเซียปี 2558…อาจสะดุดลงบ้าง แต่แนวโน้มระยะถัดไปยังดี

เศรษฐกิจรัสเซียเริ่มสะดุดลงหลังจากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2557 ประกอบกับสถานการณ์ความขัดแย้งกับยูเครนในช่วงกลางปี 2557 ที่นำไปสู่การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากนานาประเทศ โดยเฉพาะสหภาพยุโรป (European Union : EU) ทำให้รัสเซียเผชิญปัญหาเศรษฐกิจหลายประการทั้งภาวะเงินเฟ้อที่รุนแรงขึ้นจากผลของมาตรการคว่ำบาตรที่กดดันให้ราคาสินค้าในประเทศพุ่งสูงขึ้น และปัญหาการว่างงานครั้งรุนแรงที่สุดในรอบ 5 ปี เนื่องจากภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากพิษเศรษฐกิจต่างพากันลดต้นทุนดำเนินการด้วยการลดการจ้างงานเพื่อความอยู่รอด รวมถึงกำลังซื้อของชาวรัสเซียที่ลดลงมากจนอาจหลุดจากเกณฑ์ประเทศที่มีรายได้สูงตามนิยามของธนาคารโลก (รายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีสูงกว่า 12,735 ดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งส่งผลกระทบต่อหลายประเทศในยุโรปตะวันออกและกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (Common Wealth of Independent States : CIS) โดยเฉพาะประเทศที่พึ่งพาการส่งออกสินค้าไปรัสเซีย ประเทศที่พึ่งพาเงินส่งกลับประเทศจากรัสเซีย รวมทั้งประเทศที่ชาวรัสเซียนิยมเดินทางไปท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจรัสเซียในระยะถัดไปยังมีแนวโน้มดี เนื่องจากรัฐบาลรัสเซียตระหนักถึงผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำลง และพร้อมที่จะดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมาขยายตัว รวมทั้งเรียกความเชื่อมั่นของประชาชนในประเทศและต่างประเทศให้กลับคืนมาอีกครั้ง ซึ่งหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่รัฐบาลรัสเซียนิยมใช้มาโดยตลอด คือ การดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

หนทางเยียวยา...มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

นับตั้งแต่เศรษฐกิจเริ่มส่อเค้ามีปัญหา รัฐบาลรัสเซียพยายามใช้ทุนสำรองระหว่างประเทศเข้าแทรกแซงเพื่อพยุงไม่ให้เงินรูเบิลอ่อนค่าลงอย่างรุนแรง รวมทั้งปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงถึง 5 ครั้ง จากร้อยละ 17 ในช่วงปลายปี 2557 เหลือร้อยละ 11 ในปัจจุบัน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจรัสเซียปี 2558 ที่หดตัวสะท้อนให้เห็นว่ามาตรการดังกล่าวยังไม่เพียงพอ ทำให้มีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลรัสเซียจะดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม อาทิ

  • แปรรูปรัฐวิสาหกิจ 7 แห่ง อาทิ Aeroflot (สายการบินแห่งชาติ) และ Rosneft (รัฐวิสาหกิจน้ำมันรายใหญ่) เพื่อกระตุ้นการลงทุนและเพิ่มรายได้ภาครัฐเพื่อชดเชยรายได้จากน้ำมันที่หดหายไป
  • ออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจดังเช่นที่เคยทำในช่วงวิกฤตการเงินปี 2541
  • เพิ่มปริมาณการส่งออกน้ำมันไปประเทศในแถบเอเชีย โดยเฉพาะจีนและเกาหลีใต้ เพื่อทดแทนการส่งออกน้ำมันไปตลาดยุโรปที่ถูกกระทบจากมาตรการคว่ำบาตร

การดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ประกอบกับราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 2559 จะเกื้อหนุนให้เศรษฐกิจรัสเซียฟื้นตัวดีขึ้นเป็นลำดับ ขณะที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มีความเห็นตรงกันว่าเศรษฐกิจรัสเซียได้ผ่านจุดต่ำสุดในปี 2558 มาแล้ว สอดคล้องกับที่ EIU คาดการณ์เศรษฐกิจรัสเซียปี 2559 จะหดตัวในอัตราที่ลดลงเหลือร้อยละ 1.3 ก่อนกลับมาขยายตัว ร้อยละ 1.3 และร้อยละ 1.9 ในปี 2560 และ 2561 ตามลำดับ

ผลกระทบต่อไทย...อยู่ในวงจำกัดและยังมีโอกาสทางธุรกิจรออยู่

แม้เศรษฐกิจรัสเซียปี 2558 หดตัว แต่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในวงจำกัด เนื่องจากไทยและรัสเซียยังมีมูลค่าการค้าระหว่างกันไม่มากนัก คิดเป็นสัดส่วนเพียงไม่ถึงร้อยละ 1 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศทั้งหมดของไทย อย่างไรก็ตาม การที่ EU ขยายมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียอาจเพิ่มโอกาสทางธุรกิจของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าบางประเภทที่รัสเซียต้องพึ่งพาการนำเข้าจาก EU โดยเฉพาะสินค้าเกษตร เช่น เนื้อหมู ไก่ ปลา กุ้ง และผักผลไม้ รวมทั้งอาหารกระป๋อง นอกจากนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจรัสเซียจะช่วยเพิ่มการส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณีและเครื่องประดับ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักของไทยไปรัสเซีย ขณะเดียวกันรัสเซียก็เป็นแหล่งสินค้าประเภทวัตถุดิบที่มีศักยภาพ อาทิ น้ำมันดิบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ที่ไทยสามารถนำเข้ามาใช้ในภาคการผลิต ซึ่งจะมีส่วนช่วยเกื้อหนุนให้การค้าระหว่างไทยกับรัสเซียขยายตัวเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการค้ากับรัสเซียของรัฐบาลไทยที่มีกำหนดการเดินทางเยือนรัสเซียในเดือนพฤษภาคม 2559 เพื่อผลักดันการเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันให้ขยายตัว 5 เท่าภายใน 5 ปี จากระดับเฉลี่ย 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงปี 2556-2558

Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ ไม่ว่าโดยทางใด

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนพฤษภาคม 2559--


แท็ก รัสเซีย  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ