บทความพิเศษ: มัณฑะเลย์ : เมืองดาวรุ่ง...มาแรงของเมียนมา

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday June 30, 2017 13:35 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

เมืองสำคัญในเมียนมา นอกจากกรุงเนปิดอว์ เมืองหลวงปัจจุบัน และย่างกุ้ง อดีตเมืองหลวงที่ยังคงความสำคัญในฐานะศูนย์กลางเศรษฐกิจของประเทศแล้ว “มัณฑะเลย์” ก็เป็นอีกเมืองสำคัญที่มีศักยภาพไม่เป็นรองใครและเป็นหนึ่งในเมืองยุทธศาสตร์สำคัญภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจของเมียนมาปี 2553-2573 โดยมีฐานะเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ การค้า และการคมนาคมขนส่งทางตอนกลางและบนของเมียนมา อีกทั้งยังเป็นเมืองเศรษฐกิจสำคัญอันดับ 2 รองจากเมืองย่างกุ้ง และที่สำคัญ มัณฑะเลย์กำลังก้าวขึ้นเป็น Super Gateway ที่เชื่อมไปยังจีนและอินเดีย ซึ่งเมื่อประกอบกับศักยภาพทางเศรษฐกิจที่เอื้อต่อการลงทุนในธุรกิจท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่อง ธุรกิจโลจิสติกส์ ตลอดจนการเป็นฐานการผลิตสินค้า โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ไม้ สิ่งทอ และสินค้าเกษตรแปรรูป ส่งผลให้ปัจจุบันการลงทุนจากต่างประเทศหลั่งไหลเข้าสู่มัณฑะเลย์อย่างไม่ขาดสาย จึงเป็นที่คาดได้ว่ามัณฑะเลย์จะมีบทบาทโดดเด่นขึ้นเป็นลำดับในฐานะกลไกสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจเมียนมาให้เติบโตอย่างยั่งยืนนับจากนี้เป็นต้นไป

นอกจากศักยภาพทางเศรษฐกิจของมัณฑะเลย์ที่ขยายตัวอย่างโดดเด่นและมีส่วนสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจเมียนมาขยายตัวได้ในระดับ 7-8% แล้ว มัณฑะเลย์ยังมีความพร้อมของระบบโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับการลงทุน โดยเฉพาะการมีโครงข่ายคมนาคมทางบกและทางน้ำเชื่อมสู่เมืองย่างกุ้ง รวมทั้งเป็นที่ตั้งของสนามบินนานาชาติมัณฑะเลย์ ซึ่งเป็น 1 ใน 3 สนามบินหลักของเมียนมา นอกจากนี้ ภายใต้แผนพัฒนาเครือข่ายคมนาคมแห่งชาติของเมียนมา ยังมีโครงการยกระดับเส้นทางรถไฟสายมัณฑะเลย์-เนปิดอว์-ย่างกุ้ง ซึ่งจะทำให้การเดินทางด้วยรถไฟระหว่างเมืองมัณฑะเลย์และเมืองย่างกุ้งลดเวลาลงจาก 16 ชั่วโมงในปัจจุบัน เหลือเพียง 8 ชั่วโมง เมื่อโครงการแล้วเสร็จในปี 2566 รวมถึงยังมีอีกหลายโครงการที่เชื่อมเมืองมัณฑะเลย์สู่เมืองสำคัญอื่นๆ โดยเฉพาะเมืองชายแดนที่เป็นประตูการค้าสำคัญ

ยิ่งไปกว่านั้น เมืองมัณฑะเลย์ยังมีศักยภาพในด้านการเป็นศูนย์กลางการขนส่งและโลจิสติกส์ที่เชื่อมไปยังตลาดขนาดใหญ่อย่างจีนและอินเดียที่มีประชากรรวมกันราว 2,600 ล้านคน หรือเกือบ 40% ของประชากรทั้งโลก ซึ่งศักยภาพดังกล่าวทำให้เมืองมัณฑะเลย์กำลังได้รับการจับตามองในฐานะ Super Gateway ที่เชื่อมไปยังจีนและอินเดียภายใต้ยุทธศาสตร์การเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมของทั้งจีนและอินเดีย กล่าวคือ นโยบาย One Belt, One Road ของจีนวางยุทธศาสตร์ให้เมียนมาเป็นประตูออกสู่มหาสมุทรอินเดียให้แก่มณฑลตอนในของจีน โดยเชื่อมโยงจากนครคุนหมิง เมืองหลวงของมณฑลยูนนาน ไปยังเมืองมูเซ เมืองชายแดนในรัฐฉานของเมียนมา ก่อนเข้าสู่เมืองมัณฑะเลย์และไปสิ้นสุดที่ท่าเรือน้ำลึกเจ้าผิวในรัฐยะไข่เพื่อออกสู่มหาสมุทรอินเดีย ขณะที่อินเดียมีเส้นทาง IMT (India-Myanmar-Thailand) Trilateral Highway เชื่อมอินเดีย-เมียนมา-ไทย ตามนโยบายรุกตะวันออก (Act East) โดยเชื่อมโยงจากเมืองมอเร่ เมืองชายแดนในรัฐมณีปุระของอินเดีย เชื่อมไปยังเมืองทะมูเมืองชายแดนในเขตมัณฑะเลย์ของเมียนมา ลงมาทางใต้ผ่านเมืองมัณฑะเลย์ กรุงเนปิดอว์ และเมืองย่างกุ้ง ก่อนเข้าสู่ไทยที่จังหวัดตาก ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า เมืองมัณฑะเลย์เป็นจุดตัดสำคัญของทั้งสองเส้นทางหลักดังกล่าว ทำให้เมืองมัณฑะเลย์กำลังถูกจับตามองในฐานะศูนย์กลางการค้าการลงทุนสำคัญในการเชื่อมโยงกับจีนและอินเดียที่เป็นตลาดขนาดใหญ่ อันจะนำมาซึ่งโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการไทยหลายประการผ่าน

1. เส้นทางการค้าใหม่ (New Trade Route) เพื่อเจาะตลาดจีนและอินเดีย

2. ฐานการผลิตแห่งใหม่ (New Production Base) เพื่อป้อนสินค้าสู่ตลาดจีนและอินเดีย และ

3. แหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ (New Tourist Destination) เพื่อขยายการลงทุนในธุรกิจท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่อง โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร

ปัจจุบันนักลงทุนท้องถิ่นและนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงนักลงทุนไทยเริ่มเข้าไปขยายการลงทุนในเมืองมัณฑะเลย์แล้ว โดยเฉพาะในเขตอุตสาหกรรมมัณฑะเลย์ (Mandalay Industrial Zone) ซึ่งเป็นเขตอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในเมืองมัณฑะเลย์ มีโครงการลงทุนมากกว่า 1,200 โครงการ อาทิ ธุรกิจเกษตรแปรรูป เฟอร์นิเจอร์ไม้ ถลุงเหล็ก อาหารและเครื่องดื่ม ขณะที่นักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนในธุรกิจผลิตอาหารสัตว์และธุรกิจจัดจำหน่ายเครื่องจักรกลการเกษตร นอกจากนี้ การลงทุนในมัณฑะเลย์ยังมีแต้มต่อจากการมีต้นทุนโดยเฉพาะค่าเช่าที่ดินและค่าสาธารณูปโภคที่ต่ำกว่าเมืองย่างกุ้ง ประกอบกับการแข่งขันยังไม่รุนแรงนัก นักลงทุนไทยควรใช้โอกาสนี้ในการเข้าไปขยายการค้าการลงทุนในช่วงที่เมืองมัณฑะเลย์กำลังเติบโต พร้อมทั้งใช้จุดแข็งของเมืองมัณฑะเลย์ในการเป็น Super Gateway เชื่อมโยงการค้าการลงทุนไปยังตลาดขนาดใหญ่อย่างจีนและอินเดีย

ส่องเทรนด์ผู้บริโภคเมียนมา : เปิดเพดานการค้าการลงทุนยุคใหม่

การดำเนินนโยบายเปิดประเทศของรัฐบาลเมียนมาในปี 2553 ควบคู่ไปกับการยกเครื่องนโยบายพัฒนาประเทศครั้งใหญ่ในช่วงที่ผ่านมา ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของเมียนมาทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยในด้านเศรษฐกิจ เมียนมาสามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจจากเดิมที่เคยซบเซาและถูกมองข้ามจากนักลงทุนต่างชาติ ด้วยผลของมาตรการคว่ำบาตร ไปสู่ประเทศที่เศรษฐกิจขยายตัวสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลกด้วยอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจเฉลี่ยราว 8% ต่อปีและกลายเป็นหนึ่งในประเทศเนื้อหอมที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจ ขณะที่ในด้านสังคม วิถีชีวิตของชาวเมียนมากำลังเปลี่ยนแปลงจากการเป็นสังคมชนบทไปสู่สังคมเมือง (Urbanization) สังเกตได้จากในปี 2558 ที่ประชากรที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองของเมียนมามีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 34% ของประชากรทั้งประเทศเทียบกับ 29% ในปี 2548 ซึ่งแน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา ย่อมก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมการบริโภคและก่อให้เกิดเทรนด์ใหม่ๆ ของชาวเมียนมาที่น่าสนใจ ดังนี้

ความต้องการสิ่งอำนวยความสะดวกที่มาพร้อมกับความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ด้วยกำลังซื้อของชาวเมียนมาที่เพิ่มขึ้น กลุ่มชนชั้นกลางที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วตามภาวะเศรษฐกิจที่กำลังร้อนแรง ทำให้ผู้บริโภคชาวเมียนมาเริ่มมีความต้องการสิ่งอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันนอกเหนือจากปัจจัย 4 มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น ซึ่งถือ เป็นสินค้าที่กำลังมาแรงในกลุ่มผู้บริโภคเมียนมายุคใหม่ โดยนับตั้งแต่เมียนมาเปิดประเทศ มูลค่านำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยและเครื่องใช้อำนวยความสะดวกต่างๆ ของเมียนมาเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ และรถยนต์ ซึ่งในปี 2559 มีมูลค่านำเข้ารวมกันราว 4,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับปี 2552 ในช่วงก่อนเปิดประเทศที่เมียนมานำเข้าสินค้าดังกล่าวรวมกันเพียง 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นอัตราขยายตัวเฉลี่ยราว 50% ต่อปี

กระแสสุขภาพและความงามกับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น กระแสห่วงใยในสุขภาพและความงามถือเป็นหนึ่งในกระแสที่กำลังมาแรงทั่วโลก ในเมียนมาก็เช่นกัน ด้วยคุณภาพชีวิตของชาวเมียนมาที่ยกระดับขึ้นในทุกมิตินับตั้งแต่เปิดประเทศ ไม่ว่าจะเป็นระดับรายได้ที่สูงขึ้นรวมถึงการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและสื่อต่างๆ ที่เปิดกว้าง ส่งผลให้ชาวเมียนมาหันมาใส่ใจในเรื่องสุขภาพมากขึ้น ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ประเมินว่าค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของเมียนมาในปี 2558 มีมูลค่า 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นมากจากปี 2553 ซึ่งมีมูลค่าเพียง 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยราว 23% ต่อปี เช่นเดียวกับธุรกิจด้านความงาม ซึ่งเมียนมาถือเป็นหนึ่งในตลาดที่เติบโตเร็วที่สุดและกลายเป็นเป้าหมายสำคัญของแบรนด์เครื่องสำอางชั้นนำของโลก โดยมูลค่านำเข้าเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์บำรุงผิวของเมียนมาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 2.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2553 เป็น 92 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2559 หรือคิดเป็นอัตราขยายตัวเฉลี่ยสูงถึงเกือบ 80% ต่อปี

ธุรกิจบันเทิงและสันทนาการกลับมาบูมอีกครั้ง ในช่วงที่เมียนมาดำเนินนโยบายปิดประเทศ ธุรกิจบันเทิงและสันทนาการต่างๆ ถือเป็นธุรกิจที่ถูกควบคุมค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตาม ภายหลังการเปิดประเทศ ธุรกิจบันเทิงและสันทนาการกลายเป็นหนึ่งในธุรกิจที่เติบโตมากที่สุด สอดคล้องกับผลสำรวจของ Deloitte บริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจและการตลาดชื่อดังของโลกที่พบว่า ปัจจุบันชาวเมียนมาที่มีรายได้ระดับกลางถึงสูงจะมีค่าใช้จ่ายด้านบันเทิงและสันทนาการสูงถึงราว 11-15% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด มากเป็นอันดับ 2 รองจากค่าใช้จ่ายด้านอาหาร ทำให้ธุรกิจบันเทิงหลายรูปแบบในเมียนมากำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจโรงภาพยนตร์ที่ปัจจุบันนักธุรกิจในเมียนมามีแผนสร้างโรงภาพยนตร์เพิ่มขึ้นอีกกว่า 100 แห่งทั่วประเทศภายในปี 2561 จากเดิมที่มีเพียง 40 แห่งในช่วงที่เมียนมาปิดประเทศ นอกจากนี้ ธุรกิจจัดงานอีเวนท์และเทศกาลดนตรีต่างๆ ก็กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในเมียนมา

วิถีชีวิตที่เร่งรีบ สู่ธุรกิจ Fast Food และ Modern Caf? การเข้าสู่สังคมเมืองของเมียนมาส่งผลให้การใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนในเขตเมืองมีความเร่งรีบมากขึ้น ประกอบกับการเปิดรับวัฒนธรรมใหม่ๆ จากต่างประเทศที่เข้ามามากขึ้น ทำให้การรับประทานอาหารจานด่วน (Fast Food) กลายเป็นทางเลือกใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมจากกลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่ ขณะเดียวกันกระแสดื่มกาแฟตามร้านกาแฟสมัยใหม่ก็เป็นที่นิยมในเมียนมาเช่นเดียวกับเมืองใหญ่อื่นๆ ทั่วโลก ทำให้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีแฟรนไชส์ร้านอาหารจานด่วนและร้านกาแฟชื่อดังหลายแห่งจากต่างประเทศเข้ามาเปิดให้บริการในเมียนมาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากที่เคยมีเพียงไม่ถึง 5 แฟรนไชส์ในปี 2556 เป็นราว 50 แฟรนไชส์ในปัจจุบัน โดยเฉพาะในเมืองย่างกุ้งและมัณฑะเลย์ ไม่ว่าจะเป็น Pizza Hut, KFC, Lotteria, Swensens, Gloria Jean’s Coffees, True Coffee เป็นต้น

Facebook...ช่องทางสื่อสารใหม่ที่ทรงพลัง จากกระแสเทคโนโลยีในการติดต่อสื่อสารสมัยใหม่ที่เข้ามามีอิทธิพลมากขึ้นในเมียนมา ดังเห็นได้จากจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นจากราว 100,000 คนในปี 2553 เป็นราว 11 ล้านคนในปัจจุบัน เช่นเดียวกับจำนวนผู้ใช้โทรศัพท์มือถือที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดเช่นกันจาก 4 ล้านเลขหมายในปี 2557 เป็นราว 50 ล้านเลขหมายในปัจจุบัน ส่งผลให้ Social Media กำลังกลายเป็นช่องทางสื่อสารที่เข้ามามีอิทธิพลอย่างมากต่อผู้บริโภคชาวเมียนมา โดยเฉพาะ Facebook ซึ่งถือเป็น Social Media ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในเมียนมา หรือคิดเป็น 99% ของ Social Media ทั้งหมด ทั้งนี้ จำนวนผู้ใช้ Facebook ในเมียนมาเพิ่มขึ้นจาก 1 ล้านบัญชีในปี 2556 เป็นราว 10 ล้านบัญชีในปัจจุบัน ทำให้ Facebook กลายเป็นหนึ่งในช่องทางการตลาดที่ได้รับความนิยมสูงช่องทางหนึ่งในเมียนมา

พฤติกรรมการบริโภคของชาวเมียนมาที่เปลี่ยนไปส่งผลให้เกิดโอกาสทางธุรกิจที่หลากหลาย ทั้งในมิติด้านการค้าและการลงทุน โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าและบริการที่สอดคล้องไปกับวิถีการใช้ชีวิตในสังคมเมืองและกำลังซื้อที่สูงขึ้นของชาวเมียนมา อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้ารถยนต์และสินค้าประดับยนต์ เครื่องสำอาง ธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพและความงาม ธุรกิจบันเทิง ร้านอาหารสมัยใหม่ เป็นต้น ขณะที่ช่องทางในการประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคในตลาดเมียนมาก็เปิดกว้างและทำได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะช่องทาง Social Media และสื่อออนไลน์ที่กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในปัจจุบัน

แนวโน้มเศรษฐกิจและการส่งออกของไทยในช่วงครึ่งหลังปี 2560

เศรษฐกิจไทยโดยรวมในช่วงครึ่งปีหลัง มีโมเมนตัมเชิงบวกต่อเนื่องจากครึ่งปีแรก ซึ่งจะมีส่วนผลักดันให้เศรษฐกิจไทย ทั้งปี 2560 ขยายตัวได้ราว 3.5% สูงสุดในรอบ 5 ปี โดยได้อานิสงส์จากปัจจัยเกื้อหนุนทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ดังนี้

  • โครงการลงทุน Mega Projects หลายโครงการเริ่ม Kick off ในช่วงครึ่งหลังของปี และเริ่มมีเม็ดเงินไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแล้ว ขณะเดียวกันภาครัฐยังได้ปลดล็อกข้อจำกัดต่างๆ ให้กับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ให้เดินหน้าไปอย่างรวดเร็ว เพื่อหวังให้เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญภายใต้ยุทธศาสตร์ Thailand 4.0 และใช้เป็นเครื่องมือในการปลุกความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติให้ฟื้นตัว
  • แรงส่งจากกำลังซื้อของเศรษฐกิจฐานรากผลักดันให้การบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น ดังเห็นได้จากรายได้เกษตรกรฟื้นตัวอย่างโดดเด่นตั้งแต่ต้นปี 2560 ตามราคาสินค้าเกษตรที่ปรับเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันผลผลิตทางการเกษตรก็เริ่มฟื้นตัวกลับมาอยู่ในระดับปกติอีกครั้ง หลังจากช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาต้องเผชิญกับภาวะภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ กำลังซื้อบางส่วนยังเพิ่มขึ้นหลังโครงการรถยนต์คันแรกทยอยครบอายุถือครอง ทำให้ภาระการผ่อนชำระรถยนต์บางส่วนหมดไป ส่งผลให้เกิดอุปสงค์ใหม่ๆ ในการจับจ่ายใช้สอยทั้งสินค้าคงทน และสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ
  • การท่องเที่ยวกำลังกลายมาเป็นเครื่องยนต์หลักอีกตัวหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สะท้อนได้จากสัดส่วนรายได้จากการท่องเที่ยวต่อ GDP รวม ที่ขยับเพิ่มขึ้นจากตัวเลขหลักเดียวในช่วง 10 ปีก่อน มาอยู่ที่ระดับสูงกว่า 15% แล้วในปัจจุบัน
  • ภาคส่งออกกลับมาเป็นกลไกในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจอีกครั้ง หลังจากยอดส่งออกหดตัวติดต่อกันถึง 3 ปี โดยเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวขึ้นเป็นลำดับตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2559 และขยายตัวต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้หลายฝ่ายมองว่าการส่งออกทั้งปีนี้มีความเป็นไปได้มากที่จะขยายตัวสูงสุดในรอบ 6 ปี

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ล้วนเป็นปัจจัยที่เกื้อหนุนต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง

การส่งออกกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นอีกครั้ง หลังจากตัวเลขส่งออกในช่วง 4 เดือนแรก ที่โตถึง 5.7% นับเป็นเครื่องยืนยันได้ระดับหนึ่งว่าภาคส่งออกกลับมาเป็นความหวังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยด้วยปัจจัยสนับสนุนหลายประการ ได้แก่

  • เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายดีขึ้น โดยเฉพาะคู่ค้าสำคัญของไทย ล่าสุด IMF ปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปีนี้เป็น 3.5% สูงสุดในรอบ 3 ปี โดยเป็นการปรับขึ้นยกแผงทั้งตลาดหลักและตลาดใหม่
  • การค้าโลกกลับมาเป็นจักรกลสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกอีกครั้ง ล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)คาดการณ์ปริมาณการค้าโลกปี 2560 จะขยายตัว 3.8% นับเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปีที่การค้าโลกกลับมาขยายตัวสูงกว่า GDP โลก ปัจจัยดังกล่าว ส่งผลเชิงบวกค่อนข้างมากต่อประเทศไทยที่พึ่งพาการส่งออกในสัดส่วนสูง
  • ราคาน้ำมันยังยืนเหนือระดับปีก่อนหน้า จากข้อตกลงลดกำลังการผลิตของกลุ่ม OPEC ที่เข้ามาช่วยบรรเทาปัญหาอุปทานน้ำมันส่วนเกินได้ระดับหนึ่ง และอุปสงค์การใช้น้ำมันที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก จะมีส่วนผลักดันให้ราคาน้ำมันเฉลี่ยในปีนี้จะสูงกว่าปีก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 43 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง
กับราคาน้ำมัน อาทิ น้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ ยางพารา ซึ่งมียอดส่งออกรวมกันกว่า 13% ของมูลค่าส่งออกรวม
  • การนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบมาผลิตเพื่อส่งออกกลับมาขยายตัวสูง หลังหดตัว 3 ปีติดต่อกัน สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการและการส่งออกที่มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางการส่งออกที่มีแนวโน้มสดใส ยังมี “ปัจจัยเสี่ยง” ที่ผู้อยู่ในแวดวงการค้าระหว่างประเทศต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกในระยะถัดไป อาทิ

  • กระแส Protectionism ที่ยังคงครุกรุ่น แม้ว่าท่าทีของสหรัฐฯ ในการปรับขึ้นภาษีกับประเทศคู่ค้าที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าด้วยจะผ่อนคลายลง แต่สหรัฐฯ อาจหยิบยกมาตรการที่มิใช่ภาษีมาเป็นเครื่องมือหลักในการลดการขาดดุลการค้าเป็นระยะๆ ได้
  • ภัยก่อการร้ายและความขัดแย้งระหว่างประเทศที่พร้อมจะปะทุขึ้นได้ตลอดเวลา เป็นปัจจัยเสี่ยงที่บั่นทอนสัญญาณเชิงบวกของการค้าโลกอยู่เป็นระยะ
  • อัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวนและยากที่จะคาดการณ์ จากปัจจัยทางเศรษฐกิจและการเมืองโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาอีกทั้งเครื่องมือทางการเงินในปัจจุบันที่มีความหลากหลายขึ้น ทำให้เงินทุนระหว่างประเทศเคลื่อนย้ายรวดเร็วมาก ซึ่งนับเป็นปัจจัยสำคัญที่อาจกระทบมาถึงค่าเงินได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ส่งออกต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด

ท่ามกลางภาวะส่งออกในครึ่งปีหลังที่มีแนวโน้มดี ขณะที่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องกังวลดังได้กล่าวมาแล้ว หากพิจารณาในมิติของผู้ประกอบการ มีข้อมูลที่น่าสนใจ โดยเฉพาะในส่วนของ SMEs ที่เป็นกลุ่มลูกค้าสำคัญ พบว่า SMEs ส่วนใหญ่ยังขาดทั้งอาวุธและเกราะกำบังในการรุกตลาดต่างประเทศ ทั้งๆ ที่ SMEs มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้นเป็นลำดับ สะท้อนได้จาก

  • สัดส่วน GDP ของ SMEs ขยับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 38% ต่อ GDP ในปี 2550 มาอยู่ที่ระดับกว่า 41% ในปัจจุบัน อีกทั้ง SMEs ยังถือเป็นภาคเศรษฐกิจที่จ้างแรงงานมากถึง 80% ของการจ้างงานทั้งประเทศ เท่ากับว่า SMEs เป็นแหล่งที่ช่วยทำให้การกระจายตัวของรายได้ของประเทศดีขึ้น
  • GDP ของ SMEs ขยายตัว สูงกว่า GDP รวมของประเทศ สะท้อนได้ว่า SMEs มีศักยภาพในการเติบโตค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับผู้ประกอบการทั้งหมด

อย่างไรก็ตามมี SMEs เพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่กล้าออกไปต่างประเทศ สะท้อนได้จากมูลค่าส่งออกของ SMEs ที่คิดเป็นเพียง 27% ของมูลค่าส่งออกของประเทศเท่านั้น ขณะเดียวกัน SMEs ยังอ่อนไหวต่อปัจจัยความไม่แน่นอนมากกว่าผู้ประกอบการรายใหญ่ สะท้อนได้จากมูลค่าส่งออกของ SMEs ไตรมาส 1 ปี 2560 ที่หดตัว 13.5% สวนทางกับการส่งออกรวมของประเทศในเทอม บาทที่ขยายตัวได้ 3.1%

ข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้น มีนัยที่น่าสนใจว่า “ทำไม SMEs ไทยจึงเก่งเฉพาะในประเทศ ผู้ประกอบการกำลังเผชิญกับข้อจำกัดใด จึงยังมีส่วนในการขับเคลื่อนการส่งออกได้ไม่มากในปัจจุบัน” ซึ่งจากข้อมูลพบว่าข้อจำกัดที่ผู้ประกอบการ SMEs เผชิญอยู่หลักๆ คือ ปัญหาขาดสภาพคล่อง การเผชิญกับเงื่อนไขการกู้เงินที่เข้มงวด และมีความกังวลถึงความเสี่ยงในการส่งออก

EXIM BANK ในฐานะหนึ่งในกลไกสำคัญของภาครัฐในการขับเคลื่อนการส่งออกของประเทศตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้พยายามผลักดันให้ SMEs ที่มีศักยภาพขยายตลาดและกระจายความเสี่ยงไปยังต่างประเทศมากขึ้น ด้วยการออกบริการใหม่ “สินเชื่อส่งออกทันใจทวีค่า” เพื่อหวังจะติดทั้งอาวุธและให้เกราะกำบังในการรุกตลาดต่างประเทศ เพื่อช่วยเสริมสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการ SMEs ต่อไป

Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ ไม่ว่าโดยทางใด

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนมิถุนายน 2560--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ