Share โลกเศรษฐกิจ: แอฟริกาใต้พลิกฟื้นจากวิกฤต...สู่ดินแดนแห่งโอกาสการลงทุน

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday September 1, 2017 10:47 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจแอฟริกาใต้ที่เพิ่งฟื้นตัวจากหลากหลายปัจจัยรุมเร้าทั้งวิกฤตภัยแล้ง ปัญหาการว่างงาน และรายได้จากการส่งออกที่ลดลงตามภาวะราคาสินค้าโภคภัณฑ์ตกต่ำ รัฐบาลแอฟริกาใต้จึงเปลี่ยนมามุ่งเน้นดำเนินนโยบายเพื่อดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) โดยหวังให้ FDI เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการผลักดันให้เศรษฐกิจแอฟริกาใต้ขยายตัวเฉลี่ย 5% ต่อปีในช่วงปี 2560-2573 ผ่านการยกเครื่องนโยบายส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศครั้งใหญ่ ทั้งการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลและการจัดตั้งศูนย์ One Stop Service ด้านการลงทุน หรือที่เรียกว่า Invest South Africa One Stop Shop (Invest SA OSS) ขึ้นในปี 2559 เพื่อเป็นตัวกลางในการติดต่อหน่วยงานสำคัญที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนต่างชาติในการดำเนินธุรกิจในแอฟริกาใต้ โดย Invest SA OSS แห่งแรกตั้งอยู่ในกรุงพริทอเรีย เมืองหลวงของแอฟริกาใต้ การดำเนินงานของ Invest SA OSS ในช่วงที่ผ่านมาถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงและได้รับรางวัลหน่วยงานส่งเสริมการลงทุนยอดเยี่ยมอันดับ 1 ของโลก จากทั้งหมด 51 หน่วยงานทั่วโลกที่เข้าร่วมในงาน World Investment Forum 2016 นอกจากนี้ ยังมีส่วนผลักดันให้มูลค่า FDI ของแอฟริกาใต้ปี 2559 ขยายตัว 38% จากปีก่อนหน้า สวนทางกับมูลค่า FDI ของภูมิภาคแอฟริกาโดยรวมที่หดตัว 5%

เม็ดเงินลงทุนจากทั่วทุกมุมโลกที่หลั่งไหลเข้ามาในแอฟริกาใต้ส่วนหนึ่งเข้ามาเพื่อขยายตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค เนื่องจากชาวแอฟริกาใต้มีกำลังซื้อค่อนข้างสูง โดยมีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีอยู่ที่ 5,480 ดอลลาร์สหรัฐ และเป็นเพียงไม่กี่ประเทศในภูมิภาคแอฟริกาที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม Upper-middle Income Country ขณะที่เม็ดเงินลงทุนอีกส่วนหนึ่งเข้ามาลงทุนเพื่อใช้แอฟริกาใต้เป็นฐานการผลิตเพื่อกระจายสินค้าไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยใช้ประโยชน์จากข้อตกลงทางการค้าที่แอฟริกาใต้ลงนามกับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศเศรษฐกิจหลัก ได้แก่ ข้อตกลงการค้าเสรีแอฟริกาใต้และสหภาพยุโรป (South Africa-EU FTA) นอกจากนี้ ปัจจุบันแอฟริกาใต้ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกสหภาพศุลกากรแอฟริกาตอนใต้ (South Africa Customs Union) อยู่ระหว่างเจรจาเพื่อจัดตั้งเขตการค้าเสรีกับสหรัฐฯ

สำหรับธุรกิจที่มีศักยภาพในแอฟริกาใต้ที่ผู้ประกอบการไทยมีโอกาสทำการค้าการลงทุน อาทิ

1. เกษตรและเกษตรแปรรูป แอฟริกาใต้อุดมไปด้วยผลผลิตทางการเกษตรที่สามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป โดยเฉพาะผลไม้สดและเมล็ดกาแฟ นอกจากนี้ แอฟริกาใต้ยังเป็นประเทศที่บริโภคข้าวและต้องนำเข้าข้าวในปริมาณมาก โดยไทยเป็นแหล่งนำเข้าข้าวอันดับ 1 ของแอฟริกาใต้ มีสัดส่วนกว่า 50% ของมูลค่านำเข้าข้าวทั้งหมด

2. รถยนต์และส่วนประกอบ บริษัทต่างชาติรายใหญ่หลายราย อาทิ BMW, Volkswagen, Ford และ Toyota เข้ามาลงทุนผลิตรถยนต์และส่วนประกอบเพื่อใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพสูงและแรงงานที่มีทักษะในแอฟริกาใต้ ตลอดจนการใช้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีจากข้อตกลง South Africa-EU FTA เพื่อส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบไปยังตลาดหลักอย่างยุโรปได้อีกด้วย

3. ผลิตภัณฑ์พลาสติก มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นเพื่อป้อนให้กับอุตสาหกรรมอื่นๆ อาทิ ยานยนต์ อาหารและเครื่องดื่ม และเครื่องมือแพทย์ ซึ่งกำลังขยายตัวดีในแอฟริกาใต้และหลายประเทศในภูมิภาคแอฟริกา ทั้งนี้ แอฟริกาใต้ส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคแอฟริกาเป็นสัดส่วนกว่า 70% ของมูลค่าส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกทั้งหมด

แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจแอฟริกาใต้ไม่ค่อยสดใสนัก แต่เม็ดเงินลงทุนที่หลั่งไหลเข้าไปในแอฟริกาใต้เป็นเครื่องพิสูจน์ว่านักลงทุนยังเชื่อมั่นว่าแอฟริกาใต้เป็นประเทศที่มีศักยภาพและเป็นประตูแห่งโอกาสด้านการค้าการลงทุนในภูมิภาคแอฟริกา ซึ่งในหลายธุรกิจผู้ประกอบการไทยมีความเชี่ยวชาญและยังมีช่องว่างให้เข้าไปลงทุนได้อีกมาก ประกอบกับการจัดตั้ง Invest SA OSS ยังช่วยให้การลงทุนในแอฟริกาใต้เป็นไปอย่างราบรื่น ซึ่งจะช่วยผลักดันให้แอฟริกาใต้ก้าวขึ้นมาเป็นฐานการผลิตที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของโลก

Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ ไม่ว่าโดยทางใด

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนสิงหาคม 2560--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ