เรื่องเล่าระหว่างทาง: ตามรอยเส้นทางการค้าจากแม่สอดถึงย่างกุ้ง (ตอนจบ)

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday September 1, 2017 10:52 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

เรื่องเล่าระหว่างทาง "ตามรอยเส้นทางการค้าจากแม่สอดถึงย่างกุ้ง" ก็เดินทางมาถึงตอนจบ หลังจากออกจากเมืองมะละแหม่ง ก็มุ่งหน้าตรงเข้าสู่เมืองย่างกุ้ง อดีตเมืองหลวงของเมียนมา (ปัจจุบัน คือ กรุงเนปิดอว์) แม้ว่าเมืองย่างกุ้งจะไม่ได้เป็นเมืองหลวงแล้ว แต่ยังคงเป็นเมืองสำคัญทางเศรษฐกิจอันดับ 1 ของเมียนมา มีสัดส่วน GDP ถึง 20% ของ GDP รวมทั้งประเทศ มีประชากรราว 5 ล้านคน รวมถึงมีความพร้อมด้านสาธารณูปโภคมากที่สุด ตลอดจนมีท่าเรือย่างกุ้งที่เป็นท่าเรือใหญ่ที่สุดของประเทศ นักลงทุนส่วนใหญ่จึงให้ความสนใจเข้าไปทำธุรกิจในเมืองย่างกุ้งอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ สามารถรับรู้ได้ทันทีว่าเข้าเขตเมืองย่างกุ้งแล้วจากสภาพการจราจรบนท้องถนนที่คับคั่งไปด้วยรถยนต์และรถโดยสารสาธารณะ เป็นที่น่าสังเกตว่าชาวเมียนมาส่วนใหญ่นิยมใช้รถสีขาว รวมไปถึงรถแท็กซี่ด้วย นอกจากนี้ จะเห็นได้ว่าถนนในย่างกุ้งไม่มีมอเตอร์ไซค์วิ่งเลย เนื่องจากรัฐบาลเมียนมามีคำสั่งห้ามขี่มอเตอร์ไซค์ในเขตย่างกุ้งตั้งแต่ปี 2546 เพื่อต้องการลดอุบัติเหตุและบรรเทาปัญหาการจราจรในพื้นที่

หลังจากนั้นก็เข้าสำรวจพื้นที่ Dagon Seik Kan Industrial Zone นิคมอุตสาหกรรมในเมืองย่างกุ้งที่มีโรงงานกว่า 100 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นโรงงานผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค เสื้อผ้าสำเร็จรูป อาหาร ตลอดจนชิ้นส่วนรถยนต์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ พร้อมกับมีโอกาสได้เยี่ยมชมโรงงาน Red Horse Dairy Industries Limited ผู้ผลิตนมพร้อมดื่มรายใหญ่ที่สุดของเมียนมาด้วยส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 50% อย่างไรก็ตาม ตลาดนมพร้อมดื่มในเมียนมายังมีขนาดเล็ก เนื่องจากชาวเมียนมาส่วนใหญ่ยังนิยมจิบชาร้อนหรือกาแฟร้อนมากกว่า ทั้งนี้ เจ้าของบริษัทฯ แห่งนี้ได้ว่าจ้างบริษัท พัฒน์กล จำกัด (มหาชน) ออกแบบและติดตั้งเครื่องจักรทั้งหมดในโรงงาน อีกทั้งยังได้จ้างบริษัทในจังหวัดเชียงใหม่ให้ผลิตนม UHT บรรจุกล่อง (OEM) ด้วย

เมืองย่างกุ้งไม่เพียงเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมอีกกว่า 20 แห่ง แต่ยังอยู่ใกล้กับเขตเศรษฐกิจพิเศษติละวาที่นักลงทุนต่างชาติ ซึ่งรวมถึงนักลงทุนจากไทยให้ความสนใจเข้าไปลงทุนเป็นจำนวนมาก (ล่าสุดมีนักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนแล้วกว่า 10 ราย) เนื่องจากมีความพร้อมด้านสาธารณูปโภคและระบบโลจิสติกส์ ตลอดจนได้รับสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน ดังนั้น เขตเศรษฐกิจพิเศษติละวาจึงเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ศักยภาพสำหรับผู้ประกอบการไทยที่กำลังมองหาพื้นที่ลงทุนในเมียนมา

หลังจากนั่งรถติดต่อกันมาหลายวันจากแม่สอดจนถึงเมืองย่างกุ้งก็ได้ขึ้นเครื่องบินไปทางตอนเหนือของเมียนมาเพื่อเดินทางต่อไปยังเมืองมัณฑะเลย์ เมืองใหญ่อันดับ 2 ของเมียนมา มีประชากรราว 1.2 ล้านคน ทั้งนี้ มัณฑะเลย์เป็นราชธานีแห่งสุดท้ายของเมียนมาก่อนที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครอง จึงนับเป็นอีกเมืองที่มีความเป็นเมือง (Urbanization) รองจากย่างกุ้งเลยทีเดียว ซึ่งถ้าจะเปรียบย่างกุ้งเหมือนกรุงเทพฯ มัณฑะเลย์ก็คงเปรียบได้กับเชียงใหม่ของไทย

เมืองมัณฑะเลย์ไม่เพียงเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจตอนกลางค่อนเหนือของเมียนมา แต่มัณฑะเลย์กำลังจะก้าวขึ้นเป็นเมืองศูนย์กลาง (Hub) การค้าและการลงทุนสำคัญของภูมิภาค CLMVT (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย) ในการเชื่อมต่อกับจีนและอินเดีย เนื่องจากมัณฑะเลย์เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างเส้นทางสำคัญทางการค้าอย่าง One Belt One Road ของจีน และโครงการทางหลวง IMT Trilateral Highway ของอินเดีย จึงนับเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่ต้องการขยายตลาดด้วยการเริ่มต้นที่เมืองมัณฑะเลย์ก่อนจะต่อยอดสู่ช่องทางกระจายสินค้าไปยังสองประเทศยักษ์ใหญ่ของโลกต่อไปได้ไม่ยาก

ในโอกาสนี้ยังได้ร่วมรับประทานอาหารกลางวันและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับหอการค้าและอุตสาหกรรมของมัณฑะเลย์ (Mandalay Region Chamber of Commerce and Industry : MRCCI) ทำให้ทราบว่าในอดีตอุตสาหกรรมไม้แปรรูปถือเป็นอุตสาหกรรมดั้งเดิมของเมือง ต่อมาเมื่อเศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้น จึงมีอุตสาหกรรมเกิดขึ้นหลากหลาย อาทิ เกษตรแปรรูป อัญมณี และการท่องเที่ยว

ก่อนเดินทางกลับกรุงเทพฯ ก็ได้แวะเยี่ยมชมนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ในมัณฑะเลย์ คือ Mandalay Myotha Industrial Development (Myotha) ซึ่งใช้แม่แบบโครงการจากอมตะนครของไทย ภายในนิคมฯ มีการจัดสรรพื้นที่ลงทุนแบ่งตามประเภทอุตสาหกรรม อาทิ อุตสาหกรรมพื้นฐาน อุตสาหกรรมดั้งเดิม อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยี รวมถึงธุรกิจบริการ นอกจากนี้ ยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ อาทิ ศูนย์ฝึกอบรม ธนาคาร ที่พักอาศัยและสนามกอล์ฟ สำหรับความน่าสนใจของ Myotha คือ ตั้งอยู่ในพื้นที่โซน 1 ตามกฎหมายการลงทุนฉบับใหม่ของเมียนมา ซึ่งหมายถึงการลงทุนในพื้นที่ดังกล่าวจะได้รับยกเว้นภาษีนิติบุคคลสูงสุด 7 ปี นิคมฯ แห่งนี้จึงมีความโดดเด่นที่ไม่อาจมองข้ามด้วยความพร้อมทั้งด้านสาธารณูปโภคและสิทธิประโยชน์ทางภาษีสูงสุดอีกด้วย

การเดินทางไปเมียนมาในครั้งนี้ก็คงต้องจบลง แต่จะไม่ใช่ครั้งสุดท้ายอย่างแน่นอน เนื่องจากเมียนมาเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยโอกาสและความท้าทายใหม่ๆ และแน่นอนว่าการเดินทางครั้งต่อๆ ไปจะต้องมีเรื่องราวและประสบการณ์ที่น่าสนใจมาฝากกันอีกอย่างแน่นอน

Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ ไม่ว่าโดยทางใด

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนสิงหาคม 2560--


แท็ก GDP  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ