รู้ทันเกมการค้า: เมื่อสินค้าตกค้างอยู่ประเทศปลายทาง...จะจัดการอย่างไรดี

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday April 2, 2018 14:10 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

จากบทความหลายเรื่องในช่วงก่อนหน้าที่ได้หยิบยกประสบการณ์การค้าระหว่างประเทศมาแบ่งปันให้กับท่านผู้อ่าน ก็คงพอจะสรุปได้ว่าการค้าระหว่างประเทศไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแต่ผู้ประกอบการต้องใส่ใจติดตามข้อมูลลูกค้าและกฎระเบียบการทำธุรกรรมอย่างสม่ำเสมอ ละเอียดรอบคอบ พร้อมรับมือและแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งหากพิจารณากันจริงๆ แล้วก็เป็นหลักการที่ผู้ประกอบการธุรกิจทั้งที่ดำเนินการในประเทศและระหว่างประเทศควรปฏิบัติอยู่แล้ว ทั้งนี้ สิ่งที่ผู้ประกอบการมักเกิดความกังวลและรู้สึกว่าเป็นเรื่องยาก คือ การรับมือกับปัญหาเฉพาะหน้า เพราะเป็นสิ่งที่ควบคุมได้ยาก เช่น ในบางกรณี แม้ผู้ส่งออกจัดหาสินค้าหรือผลิตสินค้าได้ตรงตามแบบและคุณภาพที่ได้ตกลงกันไว้กับผู้ซื้อ จนส่งสินค้าลงเรือเป็นที่เรียบร้อยตามกำหนด พร้อมจัดเตรียมเอกสารครบถ้วนถูกต้องตามที่ผู้ซื้อร้องขอและได้ตกลงกันไว้ แต่ผู้ส่งออกก็อาจมีความเสี่ยงได้จากการที่ผู้ซื้อไม่มารับสินค้า ซึ่งกรณีนี้ผู้ส่งออกยังมีภาระต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น เนื่องจากในทางปฏิบัติหากผู้ซื้อไม่มายื่นเอกสารเพื่อติดต่อขอรับสินค้า ผู้ส่งออกจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อสินค้าที่ตกค้างอยู่ที่ท่าเรือประเทศปลายทาง ซึ่งผู้ส่งออกจะมีทางเลือกในการจัดการกับสินค้าเหล่านั้นอย่างไรบ้าง มาลองหาคำตอบจากบทความนี้กัน

โดยทั่วไปผู้ส่งออกจะมีวิธีจัดการกับสินค้าที่ตกค้างอยู่ที่ท่าเรือประเทศปลายทาง 3 แนวทาง คือ

1. หาผู้ซื้อรายใหม่ ซึ่งน่าจะเป็นวิธีที่ผู้ส่งออกหลายรายเลือกใช้ เพราะไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในส่วนของค่าขนส่งสินค้ากลับหรือค่าทำลายสินค้า รวมถึงการรับภาระสต็อกสินค้าหากต้องรับสินค้ากลับมา อย่างไรก็ตาม การหาผู้ซื้อรายใหม่ทั้งในประเทศปลายทางและในประเทศที่สามในระยะเวลากระชั้นชิดอาจเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะหากเป็นสินค้าที่มีลักษณะเฉพาะเจาะจงกับลูกค้าบางกลุ่ม หรือมีตราสินค้าติดอยู่ อีกทั้งการขายสินค้าในลักษณะนี้มักถูกผู้ซื้อเจรจาต่อรองขอลดราคาสินค้าลงค่อนข้างมาก

2. ส่งสินค้ากลับไทย เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ผู้ส่งออกเลือกใช้ อาจเป็นเพราะหาผู้ซื้อรายใหม่ไม่ทัน หรือจำเป็นต้องนำสินค้ามาปรับเปลี่ยนคุณสมบัติบางอย่างก่อนจึงจะจำหน่ายต่อได้ อาทิ เอาตราสินค้าของลูกค้าเดิมออกจากบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น แล้วค่อยนำไปจำหน่ายต่อทั้งในประเทศหรือส่งออกไปยังคู่ค้ารายใหม่ แต่วิธีนี้มีค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้ากลับ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ส่งออกต้องนำมาพิจารณา

3. ทำลายสินค้าที่ประเทศปลายทาง หากเป็นไปได้ ผู้ส่งออกคงไม่ต้องการจะเลือกวิธีนี้ โดยเฉพาะถ้าเป็นสินค้าราคาแพงอย่างไรก็ตาม หากสินค้าที่ส่งออกเป็นสินค้าที่ไม่สามารถนำมาจำหน่ายต่อได้ หรือเป็นสินค้าที่เน่าเสียได้ง่าย เช่น ผักและผลไม้บางชนิด ผู้ส่งออกก็จำเป็นต้องเลือกวิธีทำลายสินค้าในประเทศปลายทาง นอกจากนี้ หากประเทศปลายทางอยู่ไกลไม่สามารถส่งสินค้ากลับได้ก่อนที่สินค้าจะเน่าเสีย หรือมีค่าใช้จ่ายในการขนส่งกลับมาสูงกว่าค่าทำลายสินค้า ผู้ส่งออกก็ควรจะเลือกใช้วิธีทำลายสินค้าซึ่งประหยัดค่าใช้จ่ายกว่า

ทั้งนี้ การที่ผู้ส่งออกจะเลือกวิธีการใด อาจต้องพิจารณาจากหลายปัจจัยประกอบกัน ทั้งลักษณะสินค้าว่าเป็นแบบใด เป็นสินค้าที่มีเอกลักษณ์ที่ขายได้เฉพาะกลุ่ม หรือเป็นสินค้าที่ใช้ได้ในวงกว้างขายต่อได้ง่าย สินค้ามีอายุการเก็บรักษาได้นานเพียงใด ผู้ส่งออกรู้จักคู่ค้ารายอื่นๆ ในประเทศปลายทางที่จะยอมรับซื้อสินค้าหรือสามารถนำสินค้าไปกระจายต่อได้บ้างหรือไม่ ระยะทางที่ขนส่งกลับไกลแค่ไหน และที่สำคัญต้องอย่าลืมประเมินค่าใช้จ่ายของแต่ละแนวทางเลือก เช่น ค่าขนส่งหากต้องนำสินค้ากลับ ค่าทำลายสินค้าหากเลือกที่จะทำลายทิ้งที่ประเทศปลายทาง และสิ่งสำคัญ คือ ไม่ว่าจะเลือกวิธีใดก็ตาม ผู้ส่งออกควรต้องรีบตัดสินใจดำเนินการให้เร็วที่สุด เพราะการที่สินค้าตกค้างอยู่ท่าเรือนานวันก็จะยิ่งมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะค่าดูแลตู้สินค้าที่สายการเดินเรือจะเรียกเก็บเพิ่มหากไม่มารับสินค้าภายในระยะเวลาที่กำหนด

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าความเสี่ยงดังกล่าวจะเป็นสิ่งที่ควบคุมได้ยากแต่ผู้ส่งออกสามารถลดความเสี่ยงหรือความเสียหายจากกรณีที่ผู้ซื้อปฏิเสธการรับมอบสินค้า จนสินค้าต้องถูกทิ้งอยู่ที่ท่าเรือปลายทางได้ ด้วยการทำประกันการส่งออกซึ่งจะครอบคลุมมูลค่าความเสียหายทั้งในตัวสินค้าและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นตามมาในประเทศปลายทาง เช่น ค่าเสียเวลาของตู้สินค้าที่ไม่สามารถนำออกจากท่าได้ตามเวลาที่กำหนด ค่า Re-package และค่าทำลายสินค้า เป็นต้น หากต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ฝ่ายส่งเสริมการรับประกันการส่งออกและการลงทุน EXIM BANK โทร. 0 2271 3700 ต่อ 3920-2

ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนมีนาคม 2561


แท็ก ข้อมูล  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ