แนวโน้มสินค้าอาหารในสหรัฐอเมริกา

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 23, 2012 14:18 —กรมส่งเสริมการส่งออก

แนวโน้มสินค้าอาหารในสหรัฐอเมริกา

เมกกาเทรนด์ตลาดการบริโภคอาหารในสหรัฐฯ

ปัจจุบัน ตลาดการบริโภคอาหารของสหรัฐฯ ได้เปลี่ยนแปลง เนื่องจากตัวแปร คือรูปแบบประชากรเปลี่ยนไป กล่าวคือ ป้จจุบัน ผู้บริโภคสหรัฐฯ จำนวนมากมีปัญหาน้ำหนักมาก ผู้บริโภคสหรัฐฯ จำนวนมากเข้าสู่วัยชรา สหรัฐฯ มีผู้บริโภคต่างชาติต่างวัฒนธรรมจำนวนมากอาศัยในสหรัฐฯ และ มีผู้บริโภคกลุ่มรักธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจำนวนมากเช่นกัน นักโภชนาการและกูรูวงการตลาดอาหารในสหรัฐฯ เชื่อว่า สิ่งเหล่านี้จะมีผลต่อความต้องการอาหารเพื่อการบริโภค ได้ให้ความคิดเห็นด้านแนวโน้มตลาดบริโภคสินค้าอาหารในสหรัฐฯในอนาคต ซึ่งขอสรุปเป็น 5 ประการ คือ

1. นิยมอาหารของชาวต่างชาติ (Ethnic Foods Influence): ผู้บริโภคสหรัฐฯ หันมานิยมบริโภคอาหารของชาวต่างชาติที่อาศัยในสหรัฐฯ เช่น อาหารชาวเอเซีย อาหารเมดิเตอร์เรเนียน อาหารฮิสแปนิกและมีการดัดแปลงมาผสมผสานกับอาหารท้องถิ่น และ อาหารฮาลาลจะได้รับความนิยมมากขึ้นและขยายตัว เข้าสู่ตลาดผู้บริโภคหลัก (Mainstream) ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย

2. ฟังชั่นนัลฟู้ด (Functional Food) เป็นอาหารและเครื่องดื่มที่มุ่งประโยชน์เฉพาะอย่างต่อการเสริมสร้างสุขภาพร่างกาย ผู้บริโภคจะซื้อหาอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีส่วนเสริมหรือบำรุงสุขภาพ มีสุขภาพแข็งแรก เป็นอาหารเพื่อความเป็นหนุ่มเป็นสาว หรือเรียกว่า Superfood ที่จะช่วยหยุดยั้งหรือชะลอความชราภาพความเหี่ยวย่น เช่น การรับประทาน ทับทิม มังคุด อาซาอีเบอรี่ (Acai Berry) หรือ โกจิเบอรี่ (Goji Berry) หรือจะเป็นอาหารที่ทำให้ร่างกายแข็งแรง

3. คอมฟอร์ตฟู้ด (Comfort Food): ผู้บริโภคหันไปหาซื้ออาหารที่เป็นพื้นฐานหรือแบบง่าย ๆ ในการบริโภค แต่เป็นอาหารที่ได้รับการแต่งตัว/หน้าตาให้น่าชวนรับประทาน และ ประยุกต์ในด้านเพิ่มคุณค่าอาหาร (Nutrients) หรือการใส่สมุนไพร (Herb) เช่น Gourmet Sandwich, Gourmet Burger, Herb Soup, ซึ่งจะเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้บริโภค Generation-X และ Generation-Y

4. การบริโภคเพื่อควบคุมน้ำหนัก (Weight Management) สำนักงาน Central Control Decease & Prevention (CDC) กระทรวงสาธารณสุขสหรัฐฯรายงานว่า ปัจจุบัน ผู้บริโภคสหรัฐฯ ร้อยละ 35.7 หรือ หนึ่งในสามของประชากรสหรัฐฯ เป็นโรคมีน้ำหนักมาก (Obesity) และคาดว่า จำนวนจะเพิ่มขึ้นเป็น ร้อยละ 40 หรือ สองในสามของประชากรสหรัฐฯ ในปี 2573 (2030) ดังนั้น ทั้งภาครัฐและองค์เอกชนจะร่วมมือกันผลักดันในด้านการบริโภคอาหารที่ช่วยควบคุมน้ำหนัก

5. ให้ความสำคัญต่อแหล่งที่มาของอาหาร: เนื่องจากผู้บริโภคให้ความสำคัญในด้านความปลอดภัยของอาหาร ดังนั้น ผู้บริโภคสหรัฐฯ หันมาใส่ใจต่อสินค้าอาหารที่จำหน่าย ว่า มีส่วนผสมอะไร ผลิตที่ไหนหรือ เป็นผลผลิตในประเทศ หรือ นำเข้าจากแหล่งผลิตใดในต่างประเทศ

ทำไมต้องขายสินค้าอาหารไปตลาดสหรัฐฯ

1. สหรัฐฯเป็นตลาดการบริโภคขนาดใหญ่มีผู้บริโภคมากกว่าสามร้อยล้านคน และเป็นผู้บริโภคที่มาจากหลากหลายชาติพันธุ์ เป็นส่งผลทำให้เกิดช่องทางตลาดที่เฉพาะกลุ่ม (Niche Markets) ในหลายรูปแบบซึ่ง มีความต้องการสินค้าหลากชนิด

2. ปัจจุบัน เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวต่อเนื่อง ผู้บริโภคสหรัฐฯ มีงานทำมากขึ้น อำนาจในการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เป็นผลให้ความต้องการบริโภคและการจับจ่ายซื้อสินค้าอาหารเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว

3. เมกกาเทรนด์สินค้าอาหาร 5 ประการแรกข้างต้น เป็นเครื่องชี้ให้เห็นความต้องการบริโภคสินค้าอาหารรูปแบบใหม่ ๆ จะเพิ่มขึ้นในอนาคตในตลาดสหรัฐฯ

4. ปัจจุบัน ผู้นำเข้าสหรัฐฯ ต้องการหาแหล่งนำเข้าใหม่เพื่อลดการเข้าสินค้าอาหารจากจีน ซึ่งเป็นสินค้าคู่แข่งที่สำคัญของไทยในตลาดสหรัฐฯ เนื่องจาก ประสบปัญหาด้านความไม่ปลอดภัย (Food Safety) และคุณภาพ (Quality) ของสินค้าอาหารจากประเทศจีน เป็นผลให้ผู้บริโภคสหรัฐฯ ขาดความเชื่อถือในสินค้า

ดังนั้น สถานการณ์ตลาดสินค้าอาหารในปัจจุบันของสหรัฐฯ จึงเป็นช่องทางและโอกาสของสินค้าไทยที่จะเพิ่มสัดส่วนและมูลค่าสินค้าอาหารของไทยในสหรัฐฯ

อาหารที่มีความต้องในตลาดสหรัฐฯ ในอนาคต

จากแนวโน้มความต้องการข้างต้น แสดงให้เห็นถึงลู่ทางและความต้องการสินค้า สินค้าไทยที่มีลู่ทางขยายตลาดในอนาคตในสหรัฐฯ ได้แก่

1. ผลิตภัณฑ์จากมะพร้าว: ที่ต้องการในตลาดสหรัฐฯ: ได้แก่ น้ำมะพร้าวสด ได้รับความนิยมในตลาดสหรัฐฯ เนื่องจาก คุณค่าของน้ำมะพร้าวสด คือ ไม่มีน้ำตาล ไม่มีแคลอรี่ ไม่มีไขมัน และมีโปตัสเซียมสูง ซึ่งเหมาะสมสำหรับเป็นเครื่องดื่มหลังออกกำลังกายอาหาร กะทิ ไม่เพียงถูกนำไปใช้ปรุงอาหารต่างๆ เท่านั้น ปัจจุบันคนอเมริกันใช้กะทิแทนนมในการรับประทานซีเรียลเป็นอาหารเช้า หรือใช้เป็นส่วนผสมในการทำเครื่องดื่มน้ำมันมะพร้าว กลุ่มบริโภคอาหารอินทรีย์และธรรมชาติ หันมานิยมใช้น้ำมันมะพร้าวแทนน้ำมันพืชหรือน้ำมันจากสัตว์มากขึ้นเป็นลำดับ น้ำมันมะพร้าวเป็นที่รู้จักในอีกชื่อหนึ่งที่ผู้บริโภคสหรัฐฯ เรียก คือ เนยมะพร้าว (Coconut Butter)

2. อาหารเพื่อผู้บริโภคฮิสแปนิก: ปัจจุบัน ผู้บริโภคฮิสแปนิกในสหรัฐฯ มีจำนวนประมาณ 50.5 ล้านคน ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยที่มีจำนวนมากที่สุดของสหรัฐฯ ผู้บริโภคฮิสแปนิคเป็นผู้ที่ใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าอาหารสูงถึงร้อยละ ๔๐ ของรายได้ และชอบไปตลาดซื้อกับข้าวบ่อยครั้ง ผู้บริโภคฮิสแปนิคมีความต้องการบริโภคสินค้าอาหารประเภทแป้ง ข้าว ถั่ว และ อาหารประเภทโปรตีน เช่น อาหารทะเล เนื้อสัตว์ และ เครื่องดื่มน้ำผลไม้

ดังนั้น สินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่มีลู่ทางเข้าตลาดผู้บริโภคฮิสแปนิกในสหรัฐฯ ได้แก่ ปลาและกุ้งแช่แข็ง อาหารทะเลกระป๋อง(Sardine, Mackerel, clam, tuna) และกลุ่มเครื่องดื่ม ได้แก่ น้ำมะพร้าว น้ำมะม่วง น้ำต้นว่านหางจระเข้ และ เครื่องดื่มชูกำลัง

3. อาหารเสริมเพื่อสุขภาพ (Health and Wellness Food): ได้แก่

3.1 อาหารเสริมสร้างพลังงาน (Energy-boosting Foods) ซึ่งเป็นกลุ่มเครื่องดื่มที่มีอัตราการขยายตัวสูงในปัจจุบันและอนาคต

3.2 อาหารเสริมสร้างสุขภาพของหัวใจ (Heart-healthy Foods) — จะเป็นอาหารประเภทมีไฟเบอร์สูง และ ช่วยลดคลอเรสเตอร์รอล อาหารที่เสริมด้วย Omega-3, DHA, EPA เป็นต้น

3.3 อาหารช่วยการลดน้ำหนัก (Weight Loss-promoting Foods) เป็นอาหารที่ช่วยควบคุมน้ำหนัก เช่น อาหารที่มีแคลอรี่ต่ำหรือมีส่วนผสมพืช (Botanicals)

3.4 อาหารที่ช่วยป้องกันโรคบางชนิด เช่น อาหาร/เครื่องดื่มที่มีส่วนผสม pomegranates, acai, guarana, and goji berries, or green tea เป็นต้น

4. สินค้าอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน หรือสะดวกต่อการปรุงแต่ง หรือกลุ่ม Value Added โดยเฉพาะกลุ่มอาหาร Frozen Ready to Eat ชนิดใหม่ๆ ของกลุ่ม Ethnic Food

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก

18 พฤษภาคม 2555


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ