ธุรกิจสปาในอินเดีย

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 11, 2012 15:16 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ธุรกิจสปาในอินเดีย

ธุรกิจสปาในอินเดียเพิ่งมีการเริ่มต้นอย่างจริงจังในช่วงประมาณ 10 ปีที่ผ่านมานี้ จนกระทั่งถึงปัจจุบันธุรกิจ สปาในอินเดียกำลังอยู่ในช่วงที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีเงินหมุนเวียนในธุรกิจสปามากกว่า 400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในแต่ละปี และมีแนวโน้มที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 20 สำหรับกลุ่ม Hotel Spa และร้อยละ 30 ในกลุ่ม Day Spa ภายในเวลา 2 ปี โดยผู้บริโภคอินเดียได้เริ่มเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับธุรกิจดังกล่าวจากที่มองว่าเป็นการใช้จ่ายเพื่อความบันเทิงและผ่อนคลายมาเป็นการให้ความสำคัญในเรื่องของสุขภาพและการบำบัด

ตามอัตราการขยายตัวของ GDP อินเดียและจีนเป็นประเทศที่มีการเติบโตของเศรษฐกิจสูงที่สุดในโลก และ ทั้งจีนและอินเดียต่างก็กำลังพัฒนาอุตสาหกรรมด้านต่างๆ ของตนเอง รวมทั้งการหาช่องทางการตลาดสำหรับสินค้าและบริหารใหม่ๆ ในประเทศอินเดีย ธุรกิจสปานับเป็นหนึ่งในธุรกิจที่น่าสนใจที่มีโอกาสขยายตัวได้อีกมากเมื่อพิจารณาจากมูลค่าการตลาดของธุรกิจสปาทั่วโลกที่สูงถึง 60,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และจุดแข็งของอินเดียที่มีชื่อเสียงในเรื่องของการบำบัดแบบธรรมชาติ หรือ Ayurvada ซึ่งสามารถนำมาเชื่อมโยงกับการทำโยคะและการนวดซึ่งสอดคล้องกับวัฒนธรรมของประเทศอินเดีย จากจุดแข็งดังกล่าวจึงเป็นโอกาสที่ดีของอินเดียที่จะสามารถขยายธุรกิจบริการด้านสุขภาพและดึงดูดนักท่องเที่ยวได้อีกเป็นจำนวนมาก

รูปแบบธุรกิจสปาในประเทศอินเดีย ประกอบด้วย

1. Day Spa เป็นธุรกิจสปาขนาดเล็ก พบเห็นได้ทั่วไป ให้บริการนวด บำรุงร่างกายและใบหน้า และการทำ สปามือและเท้า นอกจากนี้ ยังรวมไปถึง Salon Spa ซึ่งเป็นการวมบริการสปากับบริการด้านความสวยความงามเข้าไว้ด้วยกัน

2. Destination Spa เป็นธุรกิจสปาขนาดใหญ่ มักอยู่ไกลจากตัวเมือง เป็นการทำสปาที่ครบวงจรและต่อเนื่อง ดูแลทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต โดยผู้ใช้บริการจะต้องพักอยู่ที่สปาเป็นเวลา 2-3 คืน มีการควบคุมการรับประทานอาหาร การบำบัดทั้งร่างกายด้วยการบำรุง และการบำบัดจิตใจด้วยความผ่อนคลาย โดยใช้สมุนไพร การนวด และมีบริการอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น มีอ่างอาบน้ำนวดตัว (Hydrotherapy Tubs) ห้องซาวน่า ห้องอบไอน้ำ และการบำรุงชนิดพิเศษที่เป็นเอกลักษณ์ของผู้ให้บริการแต่ละที่

3. Resort Spa / Hotel Spa / Club Spa เป็นการทำสปาสำหรับกลุ่มลุกค้าที่มาพักที่รีสอร์ทเป็นกลุ่ม โดยมีทางเลือกให้สำหรับผู้ที่ไม่ต้องการที่จะรับบริการสปา เช่น การมีสนามกอล์ฟ สระว่ายน้ำ และอาหาร โดยที่ไม่ต้องมีการควบคุมการรับประทานอาหาร Hotel Spa จะให้บริการตามโรงแรมชั้นนำต่างๆ มีระดับการบริการที่สูงกว่าและราคาที่แพงกว่าสปาในบริเวณอื่นๆ ส่วน Club Spa คือธุรกิจสปาที่มีการให้บริการควบคู่ไปกับสถานที่ออกกำลังกาย

4. Medical Spa เป็นธุรกิจสปาที่ผู้ใช้บริการจะต้องมีใบอนุญาตจากแพทย์ เนื่องจากการบำบัดโดยสปาประเภทนี้จะมีการใช้ยาและเวชภัณฑ์ต่างๆ เช่น การยิงเลเซอร์ และการฉีดโบทอกซ์ เพิ่มเติมจากการให้บริการสปาทั่วไป ธุรกิจสปาประเภทนี้กำลังเป็นที่นิยมในเมืองใหญ่ๆ

ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการด้านสุขภาพของอินเดียเป็นธุรกิจที่มีขนาดใหญ่มากเมื่อพิจารณาในด้านของรายได้หมุนเวียนและการจ้างแรงงาน โดยในปี 2554 มีมูลค่ามากกว่า 30,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นไปจนถึง 40,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2555 นี้ หรือคิดเป็นร้อยละ 4.8 ของ GDP ของประเทศ โดยร้อยละ78 ของมูลค่าธุรกิจดังกล่าวมาจากการลงทุนของภาคเอกชน และมีแนวโน้มที่ความต้องการในด้านสุขภาพเหล่านี้จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากอินเดียมีเศรษฐกิจที่มีการเติบโตอย่างสม่ำเสมอ แม้จะเป็นการเติบโตที่ค่อนข้างช้าก็ตาม สำหรับธุรกิจสปาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการด้านสุขภาพมีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ประมาณร้อยละ 30-35 ต่อปี มีบริการสปาชนิดใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมายเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทั้งที่เป็นชาวอินเดียและนักท่องเที่ยวที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ในขณะเดียวกันหลายพื้นที่ยังไม่มีการเปิดบริการุรกิจนี้มากนักจึงทำให้ธุรกิจยังมีช่องว่างและโอกาสขยายตัวได้อีกมาก

ตลาดของธุรกิจสปาในประเทศอินเดียปัจจุบันมีมูลค่าประมาณ 400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเติบโตในอัตราประมาณร้อยละ 20-40 ต่อปี โดยมีธุรกิจสปาในประเทศทั้งหมดประมาณ 2,300 แห่ง แต่ละแห่งใช้เงินลงทุนในการเปิดประมาณ 100,000-300,000 เหรียญสหรัฐฯ ในปัจจุบันมีนักบำบัดในธุรกิจสปา (Therapist) รวมประมาณ 300,000 คน ค่านิยมใหม่ๆ ที่ช่วยผลักดันให้ธุรกิจประเภทนี้สามารถขยายตัวได้เป็นอย่างดี คือ

1. Medical Tourism เนื่องจากเป็นการให้บริการด้านสุขภาพ การพักผ่อน และความงาม เป็นการลดช่องว่างระหว่างการรักษาสุขภาพแบบเดิมๆ กับธุรกิจการให้บริการสปาสมัยใหม่ ทำให้อินเดียได้รับความสนใจจากผู้บริโภคในกลุ่มที่ต้องการท่องเที่ยวควบคู่ไปกับการบำบัดสุขภาพจากการบริการของสปา

2. ในปี 2007 มีนักท่องเที่ยวถึงจำนวนหนึ่งแสนห้าหมื่นคน เดินทางมาที่รัฐเคราละของอินเดียเพียงเพื่อการใช้บริการ Medical Treatment จาก Medical Spa และมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละปี ก่อให้เกิดกลุ่ม Medical Tourism ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น

3. ธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ทเห็นความสำคัญมากขึ้นในการใช้ธุรกิจสปาในการดึงดูดลูกค้าและเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจ โดยเป็นการเพิ่มทั้งจำนวนลูกค้าและระยะเวลาการเข้าพักอาศัยของผู้ใช้บริการสปา

4. มีการเข้ามาตั้งบริษัทในอินเดียของธุรกิจต่างชาติเป็นจำนวนมาก ทำให้มีความจำเป็นของนักธุรกิจที่จะต้องติดต่อเดินทางเป็นการเพิ่มลูกค้าในกลุ่มที่เป็นนักธุรกิจที่ต้องเดินทางโดยระหว่างการเดินทางก็มีเวลาว่างให้กับการพักผ่อน

5. ผู้บริโภคที่เป็นสุภาพสตรีนิยมใช้บริการสปาเพื่อการบำรุงและดูแลสุขภาพมากกว่าเพื่อความงามเพียงอย่างเดียว

ในปัจจุบัน การทำธุรกิจแบบขยายสาขา (Franchising) กำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วและสามารถสร้างผลกำไรให้กับเจ้าของธุรกิจได้อย่างมากในอินเดีย ธุรกิจสปาก็เป็นหนึ่งในธุรกิจที่สามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็วจากการขยายสาขาเช่นกัน โดยเฉพาะกับ Salon Spa โดยในปัจจุบันคำว่าสปาเริ่มเป็นที่คุ้นเคยต่อ คนอินเดียมากขึ้น ไม่ใช่เฉพาะกับผู้บริโภคที่เป็นสุภาพสตรีเท่านั้น ผู้บริโภคทุกเพศทุกวัยยอมที่จะใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเพื่อรักษาสุขภาพและทำให้ตัวเองดูดีขึ้น

การเริ่มต้นธุรกิจสปาในอินเดียมีขั้นตอนการจัดตั้งและขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานของรัฐไม่ยากนัก

อย่างไรก็ตาม รายละเอียดสำคัญที่ควรคำนึงถึงสำหรับการประกอบธุรกิจสปา คือ

1. ธุรกิจสปาเป็นธุรกิจด้านการให้บริการ จะประสบความสำเร็จหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับความพอใจของลูกค้าในคุณภาพของการให้บริการ ผลที่ได้รับ และราคาที่เหมาะสม

2. ผู้ประกอบการและผู้ให้บริการสปาทั้งเจ้าของและพนักงานควรที่จะได้รับการฝึกฝนเป็นอย่างดีตามที่ได้กล่าวไว้ในข้อแรกว่าธุรกิจดังกล่าววัดความสำเร็จที่ความพอใจของผู้ใช้บริการ ผู้ให้บริการต้องมีทักษะและความรู้ในธุรกิจที่ตนทำอยู่

3. ธุรกิจสปาเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง และมีรูปแบบความนิยมจากผูใช้บริการที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา ผู้ประกอบการต้องสามารถติดตามกระแสความนิยม เช่น ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ และเทคโนโลยีต่างๆ ให้ทัน และพัฒนาควบคู่กันไปตลอดเวลาเพื่อความได้เปรียบในการแข่งขัน

4. ธุรกิจสปาเป็นธุรกิจที่ต้องใช้เงินลงทุนสูงในด้านของต้นทุนในการให้บริการ คือ ต้องมีอุปกรณ์ต่างๆ เพียงพอที่แข่งขันในตลาดได้ อีกทั้งต้องเป็นอุปกรณ์ที่ทันสมัยและมีการออกแบบมาเพื่อธุรกิจสปา และสามารถดึงดูดลูกค้าได้

5. ต้นทุนด้านค่าแรงในธุรกิจสปาขนาดกลางของอินเดียอยู่ที่ประมาณ 150,000-200,000 รูปี ต่อเดือน หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 100,000-150,000 บาท ซึ่งต้นทุนดังกล่าวจะเป็นค่าใช้จ่ายประจำที่ค่อนข้างคงที่ ในแต่ละเดือนไม่ว่าจะมีลูกค้าจำนวนมากหรือน้อยก็ตาม

ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางของธุรกิจสปา และยิ่งมีความสำคัญมากสำหรับการทำธุรกิจสปาในประเทศอินเดียเนื่องจากธุรกิจสปาจากประเทศไทยมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับและมีความต้องการจากนักท่องเที่ยวสูงโดยเฉพาะในรัฐกัวและรัฐเคราละทางตอนใต้ของอินเดียซึ่งมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวอินเดียและชาวต่างชาติเป็นจำนวนมาก จึงมีการนำธุรกิจสปาหลายประเภทจากไทยเข้ามาผสมผสานกับการทำสปาแบบ Ayurveda ของอินเดีย และประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากเนื่องจากเป็นการผสมผสานความรู้ด้านการใช้สมุนไพรและการให้บริการที่เติมเต็มความต้องการของผู้ใช้บริการ ธุรกิจสปาเป็นจำนวนมากในประเทศอินเดียจึงนิยมใช้ชื่อประเทศไทยเป็นจุดขายโดยมีการตกแต่งบรรยากาศแบบไทยและใช้ผลิตภัณฑ์สปาจากประเทศไทย รวมทั้งมีการจ้างนักบำบัดบางส่วนจากประเทศไทยด้วย

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองมุมไบ

พฤษภาคม 2555


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ