ยางพาราที่ค้างในคลังสินค้าของอินเดียมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 18, 2012 14:55 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ในขณะที่ไทยเป็นผู้ผลิตยางพาราได้มากที่สุดและจีนเป็นผู้นำเข้ายางพารามากที่สุด อินเดียเป็นประเทศที่มีปริมาณยางพาราคงค้างในคลังสินค้ามากที่สุดในโลกเป็นเวลาติดต่อกันถึง 3 ปี โดยจากสถิติที่สำรวจโดยสมาคมประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติหรือ Association of Natural Rubber Producing Countries (ANRPC) ปริมาณยางพาราที่คงค้างในคลังสินค้าจนถึงปลายปี 2555 มีปริมาณทั้งสิ้น 434,000 ตัน (เพิ่มขึ้นจากปี 2554 ร้อยละ 20) โดยปริมาณของยางพาราที่คงค้างในคลังสินค้าดังกล่าว คิดเป็นร้อยละ 40 ของยางพาราทั้งหมดที่ผลิตและนำเข้าในปี 2555 ซึ่งมีจำนวน 1,010,000 ตัน โดยเป็นยางพาราที่ผลิตได้ปริมาณ 900,000 ตัน (ในปี 2554 ผลิตได้ 890,000 ตัน) และยางพาราที่นำเข้ามีปริมาณ 192,000 ตัน (ในปี 2554 มี การนำเข้าในปริมาณ 158,000 ตัน)

ความเห็นจากผู้ผลิตสินค้าจากยางพาราและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการประเมินสินค้าในคลัง

นาย Rajiv Buddhraja ผู้อำนวยการทั่วไปจากสมาคม Automotive Tyre Manufacturers Association กล่าวว่าการประเมินยางพาราโดย ANRPC มีการประเมินที่ผิดไป โดยจากการประเมินของคณะกรรมการยางพารามีการแก้ไขสถิติของยางพาราในคลังเหลือ 354,000 ตัน อย่างไรก็ตาม ต่อความเห็นดังกล่าว ANRPC ยังคงยืนยันผลการประเมินคลังสินค้าโดยกล่าวว่า ANRPC ได้ให้ความระมัดระวังต่อการแก้ไขการประเมินคลังสินค้าของคณะกรรมการยางของอินเดีย แต่เนื่องจากการประเมินโดยคณะกรรมการไม่ได้รวมการประเมินข้อมูลด้านการผลิตและการบริโภค ANRPC จึงไม่พิจารณาการแก้ไขสถิติจากคณะกรรมการยางของอินเดีย

ในขณะเดียวกัน นาย N. Radhakrishnan จากบริษัท Cochin Tyre Dealers Association ได้ให้การสนับสนุนข้อมูลของ ANRPC โดยกล่าวถึงปริมาณยางพาราที่คงค้างในคลังสินค้าซึ่งมีมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าไม่สัมพันธ์กับปริมาณยางพาราที่ออกสู่ตลาดซึ่งมีปริมาณจำกัดและไม่เพียงพอต่อความต้องการตลาด เช่น บริษัทผู้ผลิตยางรถยนต์ซึ่งมีความต้องการยางพาราประเภท RSS-4 (Ribbed Smoked Sheet) ไม่สามารถสั่งซื้อยางประเภท RSS-4 ได้ในปริมาณที่เพียงพอ

นอกจากปัญหาสินค้าที่ค้างในคลังซึ่งไม่สัมพันธ์กับปริมาณการผลิตและความต้องการในตลาดแล้ว ยางพาราในตลาดยังคงมีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐาน โดยนาย N. Radhakrishnan กล่าวว่า ปัจจุบันยางพาราในตลาดยังคงมีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐาน เนื่องจากผู้ผลิตยางพาราสามารถจำหน่ายยางพาราคุณภาพต่ำได้ในราคาที่สูง เนื่องจากมีความต้องการยางในตลาดที่สูง ตรงข้ามกับปริมาณยางที่มีการขายให้กับผู้ซื้อ

ปัจจัยที่ทำให้มียางพาราคงค้างในคลังสินค้าเป็นจำนวนมากมี 2 ประการ ได้แก่ ประการที่ 1 แนวโน้มของราคายางพาราที่มีโอกาสเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ผู้ผลิตยางพาราพยายามที่จะกักตุนสินค้าไว้ในคลังเพื่อรอให้ราคาปรับตัวสูงขึ้น โดยผู้ผลิตเหล่านี้สามารถกักเก็บสินค้าของตนได้ในปริมาณมาก และ ประการที่ 2 คือปริมาณการผลิตยางพาราที่เพิ่มสูงขึ้น เช่นเดียวกับปริมาณการนำเข้า

ถึงแม้ว่าตัวเลขปริมาณของยางพาราที่ค้างในคลังสินค้าระหว่างการประเมินโดย ANRPC และคณะกรรมการยางของอินเดียจะยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัด อย่างไรก็ตามปริมาณยางพาราในคลังสินค้าของอินเดียยังมีปริมาณมากที่สุดถึงแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลลงมา 80,000 ตันตามตัวเลขของคณะกรรมการยางพาราแล้วก็ตาม ซึ่งการปล่อยให้มียางพาราค้างอยู่ในคลังสินค้าเป็นจำนวนมากดังกล่าว นอกจากจะทำให้ราคายางพาราในตลาดสูงขึ้นจนเกินจริงและเกิดการกักตุนสินค้ามากยิ่งขึ้นไปอีกแล้ว ยังทำให้เกิดปัญหา การผลิตยางพาราที่ไม่ได้มาตรฐาน เนื่องจากผู้ผลิตสามารถตั้งราคายางได้สูงตามความต้องการของตลาดโดยไม่คำนึงถึงการควบคุมคุณภาพ

นายศศินทร์ สุขเกษ/ นางสาวภัทรมน กนิษฐานนท์

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองมุมไบ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ