ตลาดข้าวไทยในสาธารณรัฐเชก

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 17, 2009 15:21 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ข้อมูลพื้นฐาน
ที่ตั้ง/พื้นที่                        สาธารณรัฐเชก เป็นประเทศที่ตั้งอยู่ใจกลางของทวีปยุโรป ไม่มีพื้นที่ติดทะเล ประชากรประมาณ 10.23 ล้านคน

พื้นที่ 78,866 ตารางกิโลเมตร ข้อมูลพื้นฐานทางเศรษฐกิจ

อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ         ปี 2006  ร้อยละ 6.1

ปี 2007 ร้อยละ 6.5

ปี 2008 ร้อยละ 4.1 (คาดการณ์) รายได้ประชาชาติ (GDP per capita) ปี 2007 เท่ากับ 24,000 เหรียญสหรัฐ

ปี 2008 เท่ากับ 25,800 เหรียยศหรัฐ (คาดการณ์)

อัตราเงินเฟ้อ                     ปี 2007  ร้อยละ 2.8
ปี 2008 ร้อยละ 6.2  (คาดการณ์)
อัตราการว่างงาน                  ปี 2007  ร้อยละ 5.3/ ปี 2008 ร้อยละ 4.8 (คาดการณ์)
อัตราค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือน            ปี 2007  เท่ากับ 1,074 เหรียญสหรัฐ

ปี 2008 เท่ากับ 1,310 เหรียญสหรัฐ (คาดการณ์)

อัตราแลกเปลี่ยน (เฉลี่ย)            1 เหรียญสหรัฐ เท่ากับ 20.30 เชกคราวน์ (ปี 2007)

1 เหรียญสหรัฐ เท่ากับ 17.70 เชกคราวน์

(ปี 2008 คาดการณ์)

ความต้องการของสินค้า

จากรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า อัตราการบริโภคข้าวของประชากรเชก เท่ากับ 5 กิโลกรัมต่อคนต่อปี หรือปีละประมาณ 63,000 ตัน ผู้บริโภคส่วนใหญ่เป็นประชากรทั่วไป (ร้อยละ 60) ส่วนที่เหลือเป็นสถานบริการต่างๆ เช่น ภัตตาคาร โรงแรม โรงเรียน และโรงพยาบาล เป็นต้น (ร้อยละ 40)

สถิติการนำเข้าข้าวรายไตรมาส ปี 2006 ปรากฏตามตารางที่ 1 ในภาคผนวก

ความนิยมของตลาด

คนเชกบริโภคข้าวเป็นส่วนประกอบส่วนหนึ่งของอาหาร โดยใช้เป็น side-dish เช่นเดียวกับมันฝรั่งทอด มันฝรั่งบด พาสต้า หรือสลัดผักสด จากสถิติพบว่าคนเชกบริโภคมันฝรั่ง(สด) 73 กิโลกรัม/คน/ปี ในขณะที่บริโภคพาสต้า 6.2 กิโลกรัม/คน/ปี และเมื่อเปรียบเทียบในด้านราคา พบว่า มันฝรั่งสดมีราคากิโลกรัมละ 6.80 เชกคราวน์ พาสต้าราคากิโลกรัมละ 26.09 เชกคราวน์ ในขณะที่ข้าวสารคุณภาพดีราคากิโลกรัมละ 21.59 เชกคราวน์ อย่างไรก็ตามผู้บริโภคเชกคุ้นเคยต่อการปรุงพาสต้ามากกว่าการหุงข้าว ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังไม่รู้จักวิธีการหุงข้าว ยกเว้นผู้ที่เคยไปอยู่ประเทศไทยหรือประเทศแทบเอเชียนานๆ ประกอบกับอุปรณ์ที่ใช้ในการหุงข้าวแทบจะไม่เป็นที่รู้จักในตลาดเชก

จากตัวเลขในตารางเปรียบเทียบปริมาณการบริโภคข้าว/มันฝรั่งและพาสต้า และการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าทั้ง 3 ชนิดดังกล่าว จะพบว่า

  • ไม่ว่าราคามันฝรั่งจะผันผวนไปอย่างไร ปริมาณการบริโภคยังคงที่ เนื่องจากเป็นอาหารหลัก นอกจากนี้ มันฝรั่งยังไม่มีความหลากหลายในด้านคุณภาพ ราคา รูปแบบ ตรา หรือยี่ห้อ ให้มีการแข่งขันกันเหมือนสินค้าตัวอื่นๆ
  • ปริมาณการบริโภคข้าวก็มิได้ผันผวนตามราคาข้าว แสดงว่าในส่วนของผู้นิยมบริโภคก็ยังบริโภคข้าวเหมือนเดิมไม่ว่าราคาจะสูงขึ้นหรือไม่ ซึ่งผู้บริโภคในส่วนนี้ ส่วนใหญ่เป็นภัตตาคาร(อาหารไทย/จีน/อิตาลี/เอเชีย) ในขณะที่การประชาสัมพันธ์ทางสื่อมีน้อยมาก
  • พาสต้า มีราคาสูงที่สุดในกลุ่มอาหารประเภทเดียวกันนี้ ปริมาณการบริโภคมีแนวโน้มสูงขึ้น (จาก 3.5 กิโลกรัม/คน/ปี ในปี 1990 เพิ่มเป็น 6.2 กิโลกรัม/คน/ปี ในปี 2005) ทั้งนี้ สาเหตุน่าจะมาจากการออกแบบสินค้าให้พร้อมบริโภคได้ทันที ด้วยวิธีการปรุงง่ายๆ เป็นที่รู้จักและสะดวกสำหรับแม่บ้านยุคปัจจุบันที่ต้องการความเร่งด่วน นอกจากนี้ หากดูจากสื่อต่างๆโดยเฉพาะสื่อทางโทรทัศน์จะเห็นถึงการโหมโฆษณา เกี่ยวกับพาสต้าในรสชาติที่หลากหลายรูปแบบ หลายยี่ห้อ และเข้าถึงผู้บริโภคในทุกระดับ/เพศ/วัย มากกว่า
ผลผลิตภายในประเทศ

สาธารณรัฐเชกมีพื้นที่ทำการเกษตร 4,280,000 เฮคเตอร์ แต่ทำการเกษตรจริงเพียง 3,096,000 เฮคเตอร์ ในส่วนนี้ใช้สำหรับปลูกฮอพ (ใช้ในอุตสาหกรรมเบียร์) จำนวน 6,000 เฮคเตอร์ ปลูกองุ่นสำหรับทำไวน์ จำนวน 16,000 เฮคเตอร์ พืชสวน จำนวน 159,000 เฮคเตอร์ และทุ่งหญ้าสำหรับเลี้ยงสัตว์ประมาณ 953,000 เฮคเตอร์

ตั้งแต่ปี 1989 เป็นต้นมา ผลผลิตทางการเกษตรของเชกลดลงมาก สาเหตุหลักมาจากการลดลงของแรงงานในภาคการเกษตร ผลผลิตทางการเกษตรที่สำหรับของเชก(ยกเว้นการปศุสัตว์) ได้แก่ ข้าว(สาลี/บาร์เลย์) บีท(ทำน้ำตาล) พืชน้ำมัน มันฝรั่ง ฮอพ และพืชผัก เป็นต้น ปริมาณการปลูกข้าวสาลีและบารเลย์เพียงพอสำหรับการบริโภคภายในประเทศ

สภาพอากาศของสาธารณรัฐเชก ไม่เอื้ออำนวยในการปลูกข้าว

การนำเข้า

จากสถิติการนำเข้าข้าวของสาธารณรัฐเชก พบว่า ในปี 2007 (มกราคม- กรกฎาคม ) มีมูลค่าการนำเข้าทั้งสิ้น จำนวน 25.844 ล้านเหรียญสหรัฐ เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2006 มีมูลค่าเพิ่มขึ้น 7.093 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 37.83

สาธารณรัฐเชก นำเข้าข้าวจากประเทศอิตาลีมากเป็นอันดับ 1 ในปี 2006 มีมูลค่าการนำเข้า 24.511 ล้านเหรียญสหรัฐ มีส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 73.6 อัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 51.17 จากปี 2005 สำหรับในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2007 มูลค่าการนำเท่ากับ 18.047 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 69.83 มีอัตราการขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปี 2006 ร้อยละ 32.29 สำหรับอันดับสองได้แก่ ไทย (ส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 9.66) อันดับ 3 นำเข้าจากโปแลนด์ (ส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 6.93) อันดับสี่ นำเข้าจากอินเดีย (ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 2.34) และอันดับ 5 นำเข้าจากเยอรมันนี (ส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 1.98) สำหรับเสปน ปากีสถาน และเวียดนาม ซึ่งสาธารณรัฐเชกเคยนำเข้าข้าวมากเป็นอันดับที่ 3-5 ในปี 2004 นั้น ในปี 2007 ปริมาณการนำเข้าลดลงไปอยู่ในอันดับที่ 8-10 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวียดนาม จากที่เคยนำเข้ามีมูลค่า 1.675 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2004 ลดลงเหลือ 0.041 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2006 และเป็นที่น่าสังเกตว่าในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2007 สาธารณรัฐเชกนำเข้าข้าวจากอินเดียเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 523.71

การนำเข้าจากไทย ไทยครองอันดับ 2 ในส่วนแบ่งตลาดข้าวในสาธารณรัฐเชก นับตั้งแต่ปี 2004 เป็นต้นมา สาธารณรัฐเชกนำเข้าข้าวจากไทยลดลงมาตลอด โดยในปี 2005 ไทยมีส่วนแบ่งในตลาดร้อยละ 14.77 มูลค่าการนำเข้าลดลงจากปี 2004 ร้อยละ 31.27 ในปี 2006 ส่วนแบ่งตลาดลดลง เหลือเพียงร้อยละ 9.26 ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าลดลงร้อยละ 9.96 แต่ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2007 เชกนำเข้าข้าวจากไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.15 โดยส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 9.66

นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2004 ซึ่งสาธารณรัฐเชกได้เข้าเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป สาธารณรัฐเชกได้มุ่งไปที่ตลาดส่งออกในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปด้วยกันมากขึ้น ทั้งนี้ เนื่องจากผลของการค้าโดยไม่มีพรมแดน ดังนั้น อิตาลี ยังคงครองอันดับ 1 ในการส่งออกข้าวมายังสาธารณรัฐเชก ถึงแม้ไทยจะยังคงครองอันดับ 2 แต่ข้าวที่นำเข้าจากไทยยังคงจำกัดเฉพาะข้าวคุณภาพดี (ข้าวหอมมะลิ) ซึ่งนิยมบริโภคในหมู่ผู้บริโภคที่มีรายได้ปานกลางถึงรายได้ดีเท่านั้น

ก่อนที่จะเข้าเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป อัตราภาษีศุลกากรสำหรับการนำเข้าข้าวของสาธารณรัฐเชก เป็น 0 %

โครงสร้างการนำเข้าข้าวของสาธารณรัฐเชก

จากตารางโครงสร้างการนำเข้าข้าวของสาธารณรัฐเชก พบว่าในปี 2006 ข้าวที่นำเข้า

  • ร้อยละ 48.9 เป็นข้าว รหัส HS code 1006 3098 มีมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด 16.291 ล้านเหรียญสหรัฐ ในจำนวนนี้ นำเข้าจากอิตาลี (อันดับ 1) มูลค่า 9.955 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากไทย (อันดับ 2) มีมูลค่า 2.775 ล้านเหรียญสหรัฐ
  • ร้อยละ 26.3 เป็นข้าวรหัส HS code 1006 3067 มีมูลค่าการนำเข้า 8.764 ล้านเหรียญสหรัฐ นำเข้าจากอิตาลี (อันดับ 1) มูลค่า 8.143 ล้านเหรียญสหรัฐ ไม่มีการนำเข้าจากไทย
  • ร้อยละ 15.2 เป็นข้าวรหัส HS code 1006 3092 มีมูลค่าการนำเข้า 5.049 ล้านเหรียญสหรัฐนำเข้าจากอิตาลี (อันดับ 1) มูลค่า 4.779 ล้านเหรียญสหรัฐ ไม่มีการนำเข้าจากไทย
  • ร้อยละ 3.0 เป็นข้าวรหัส HS code 1006 3096 มีมูลค่าการนำเข้า 1.032 ล้านเหรียญสหรัฐ นำเข้าจากอิตาลี มูลค่า 0.736 ล้านเหรียญสหรัฐ นำเข้าจากไทยมูลค่า 0.182 ล้านเหรียญสหรัฐ
  • ร้อยละ 2.6 เป็นข้าวรหัส HS code 1006 20 มีมูลค่าการนำเข้า 0.876 ล้านเหรียญสหรัฐ ไม่มีการนำเข้าจากอิตาลี/ไทย
  • ร้อยละ 1.5 เป็นข้าวรหัส HS code 1006 4000 มีมูลค่าการนำเข้า 0.508 ล้านเหรียญสหรัฐ นำเข้าจากไทย มูลค่า 0.036 ล้านเหรียญสหรัฐ
  • ร้อยละ 2.5 เป็นข้าวชนิดอื่นๆ มีมูลค่าการนำเข้า 0.782 ล้านเหรียญสหรัฐ นำเข้าจากไทย มูลค่า 0.056 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 0.035 ล้านเหรียญสหรัฐ
ผู้นำเข้าข้าวรายสำคัญของสาธารณรัฐเชก

1. LAGRIS Co. (www.podravka.cz) ส่วนใหญ่นำเข้าข้าวเมล็ดยาว (long grain rice)จากยุโรป โดยบริษัทฯ เป็นผู้นำข้าวเข้ามาบรรจุใหม่แล้วส่งไปจำหน่ายทั้งในสาธารณรัฐเชก สาธารณรัฐสโลวัค โปแลนด์ และรัสเซียในปี 2002 LAGRIS ได้เข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนของ PODRAVKA GROUP ทำให้เพิ่มศักยภาพในการกระจายสินค้ามากขึ้น ทั้งนี้ PODRAVKA เป็นกลุ่มที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับสินค้าอาหารในโครเอเทีย ปัจจุบันข้าวที่นำเข้าจะจำหน่ายภายใต้ตรา LAGRIS และบริษัทกำลังวางแผนที่จะนำเข้าข้าวหอมมะลิจากประเทศไทยโดยตรง

2. VITANA Co. (www.vitana.cz) เป็นบริษัทภายใต้กลุ่ม RIEBER AND SON ของประเทศนอร์เวย์ ซึ่งถือหุ้น 100 % บริษัทนี้นำเข้าข้าวส่วนใหญ่จากอิตาลีและเสปน มีบางส่วนนำเข้าจากประเทศอินเดียและไทย ข้าวที่นำเข้าส่วนใหญ่เป็นข้าวคุณภาพดี โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิจากไทย ข้าวที่นำเข้ามาจะจำหน่ายภายใต้ตราของ VITANA

ส่วนผู้นำเข้ารายอื่นๆ เช่น EMCO Co.(www.emco.cz) ซึ่งเป็นบริษัทของคนเชก นำเข้าข้าวจากเสปน ภายใต้ตรา “SOS”/CANO Co. (www.cana.cz) นำเข้าข้าวจากเสปน ภายใต้ตรา “ARROZ” และ“LA PERDIZ”ปัจจุบันนำเข้าข้าวหอมมะลิไทยจากเสปน ภายใต้ตรา La Perdiz / ESSA Co. (www.essacb.cz) นำเข้าข้าวจากอิตาลี อินเดีย ปากีสถานและเวียดนาม นอกจากนี้ ผู้นำเข้าอาหารเอเชีย เช่น F.W.TANDOORI (www.fwtandoori.cz) จะนำเข้าข้าวหอมมะลิจากไทย ส่งให้กับโรงแรม ภัตตาคาร แต่เดิมบริษัทนี้ สั่งซื้อข้าวไทยจากบริษัทเวียดนามในสาธารณรัฐเชก และเมื่อปริมาณความต้องการมีมากขึ้นจึงได้นำเข้าโดยตรงจากไทย โดยบริษัทฯ เริ่มนำเข้าข้าวจากไทยในปี 2006 ภายใต้ตรา SMART CHEF นำมาบรรจุเป็นถุง ถุงละ 0.5 — 20.0 กิโลกรัม แล้วแต่ความต้องการของลูกค้า ขนาดเล็กส่วนใหญ่ส่งให้ซุปเปอร์มาร์เก็ต ขนาดกลางส่งให้โรงแรม ภัตตาคาร และธุรกิจบริการจัดเลี้ยง (catering)

ช่องทางการจัดจำหน่ายข้าวไทย

ข้าวไทยที่นำเข้ามาในสาธารณรัฐเชก จะผ่านท่าเรือ HAMBURG และมีบางส่วนผ่านมาทางท่าเรือ ROTTERDAM แล้วขนส่งทางรถต่อมายังสาธารณรัฐเชก โดยปกติจะบรรจุถุงละ 50 กิโลกรัม แล้วนำมาบรรจุใหม่ตามความต้องการของตลาด แต่ก็มีบางส่วนที่ส่งให้กับพ่อค้าส่งซึ่งจะนำไปบรรจุเองหรือขายปลีกให้ผู้บริโภคตามน้ำหนักที่ต้องการ

กล่าวโดยสรุป ช่องทางการจำหน่ายข้าวไทย จะแบ่งเป็น 3 ช่องทาง ได้แก่

1. ผู้นำเข้าตามที่ได้กล่าวไว้ในเบื้องต้น นำเข้ามาบรรจุใหม่ ในบรรจุภัณฑ์ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกล่องกระดาษ ถุงพลาสติก และถุงกระดาษ ขนาดบรรจุ 0.5 กิโลกรัม และใช้ตราของบริษัท จำหน่ายให้กับผู้บริโภคทั่วไป ผ่านซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านชำ บางรายจะบรรจุข้าวภายใต้ตราของลูกค้า เช่น LAGRIS ส่งข้าวให้ TESCO ภายใต้ฉลาก “TASCO” การจำหน่ายข้าวภายใต้ตราของบริษัท จะช่วยในการประชาสัมพันธ์บริษัทด้วย

2. ผู้นำเข้าอาหารเอเชีย เช่น F.W.TANDOORI (www.fwtandoori.cz) นำเข้าข้าวเพื่อส่งให้กับโรงแรม ภัตตาคาร ธุรกิจบริการจัดเลี้ยง ส่วนใหญ่จะบรรจุกระสอบป่าน ขนาดบรรจุ 5-20 กิโลกรัม และบางส่วน หากส่งให้ซุปเปอร์มาร์เก็ตก็จะใช้บรรจุภัณฑ์เป็นถุงกระดาษ/กล่องกระดาษ ขนาดบรรจุ 0.5 กิโลกรัม

3. บริษัทในสาธารณรัฐเชกที่เจ้าของเป็นคนเวียดนาม เช่น TRALYCO (www.tralyco.cz) ,THUS (www.thus.cz), DALAT (www.dalat.cz) นำเข้าข้าวจากประเทศไทย(บางรายนำเข้าจากเยอรมัน) ส่งมาจำหน่ายในตลาดเวียดนาม (เป็นตลาดที่มีผู้ประกอบการทั้งหมดเป็นคนเวียดนาม จำหน่ายสินค้าจากเวียดนาม เช่น เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ผ้าห่ม ของใช้ในบ้าน ของเด็กเล่น อาหาร ฯลฯ เหมือนกับไชน่าทาวน์ในบางประเทศ) หรือร้านค้าปลีก (คนเวียดนามเป็นเจ้าของ)ในชุมชนใหญ่ๆในสาธารณรัฐเชก ข้าวหอมมะลิไทย เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคชาวเอเชียที่อาศัยในสาธารณรัฐเชก รวมถึงภัตตาคารอาหารจีน สถานทูตต่างๆ ข้าวส่วนใหญ่ที่จำหน่ายในตลาดเวียดนาม จะบรรจุในกระสอบป่าน ขนาดบรรจุ 5,10 หรือ 20 กิโลกรัม การสำรวจข้อมูลจากบริษัทเวียดนามหรือตลาดเวียดนาม กระทำได้ยาก เนื่องจากบริษัทเหล่านี้ไม่ยอมให้ข้อมูล ถือเป็นความลับทางธุรกิจ

ความนิยมของผู้บริโภคที่มีต่อบรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์

แม่บ้านส่วนใหญ่ นิยมซื้อข้าว parboiled rice ที่บรรจุในซองพลาสติกขนาดเล็ก (สำหรับ 1-2 จาน) ซึ่งสามารถนำไปต้มในน้ำเดือดเพียง 10-25 นาที ข้าวในถุงพลาสติกจะถูกนำไปบรรจุในกล่องกระดาษกล่องละ 4 ซอง ดังได้กล่าวแล้วว่า แม่บ้านส่วนใหญ่ไม่รู้จักวิธีหุงข้าว และไม่รู้จักหม้อหุงข้าวไฟฟ้า (ซึ่งมีจำหน่ายในบางห้างสรรพสินค้าในปริมาณที่น้อยมาก) วิธีที่จะนำข้าวไปปรุงรับประทานคือการต้มในน้ำเดือดเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในปี 2006 บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์และเครื่องใช้ไฟฟ้าของเชกรายหนึ่ง ได้แก่ ETA Co. ได้เริ่มทดลองตลาดโดยการแนะนำหม้อหุงข้าวที่ผลิตในเชก แต่ก็ยังไม่มีผู้สนใจมากนัก เนื่องจากไม่ทราบประโยชน์ใช้สอยที่แท้จริง ซึ่งต่อมาในปี 2007 บริษัทก็เลิกนำสินค้านี้เข้าสู่ตลาด

ราคาจำหน่ายปลีก

จากการสำรวจในห้างสรรพสินค้า/ซุปเปอร์มาร์เก็ต/ร้านชำต่างๆ /ตลาดเวียดนาม พบว่า ราคาจำหน่ายปลีกข้าว ค่อนข้างจะหลากหลาย ขึ้นอยู่กับคุณภาพ ตรา บรรจุภัณฑ์ ตัวอย่างเช่น ข้าวที่บรรจุกล่อง ขนาด 0.4 — 0.5 กิโลกรัม มีราคาจำหน่ายปลีกกล่องละตั้งแต่ 11.90 เชกคราวน์ ไปจนถึงกล่องละ 45.90 เชกคราวน์ ข้าวที่มีราคาสูงที่สุด เป็นข้าวบัสมาติ จากอินเดียและปากีสถาน สำหรับข้าวในตลาดเวียดนาม ซึ่งเป็นข้าวหอมมะลิราคาจำหน่ายปลีก กระสอบ (10 กิโลกรัม)ละ 270 เชกคราวน์ ( 1 เชกคราวน์ ประมาณ 1.80 บาท)

ปัญหา/อุปสรรค

ปัญหาในด้านของสาธารณรัฐเชก

1. ข้อจำกัดของขนาดตลาด: ประชากรมีเพียง 10.3 ล้านคน

2. กำลังซื้อ: กำลังซื้อของประชากรในสาธารณรัฐเชกต่ำกว่ามาตรฐานทั่วไปของสหภาพยุโรประมาณร้อยละ 30 นอกจากนี้ยังมีความแตกต่างค่อนข้างมากระหว่างระดับรายได้ของประชากรในเมืองใหญ่กับประชากรในชนบทหรือเมืองเล็ก

3. เงื่อนไขการชำระเงิน: เท่าที่ผ่านมาโดยปกติผู้ประกอบการจะให้เครดิต 60-90 วัน เพื่อจูงใจลูกค้า เนื่องจากภาวะการแข่งขันในตลาดค่อนข้างสูง แต่ในความเป็นจริง ปัจจุบันสาธารณัฐเชกประสบปัญหา “หนี้เสีย”เยอะมาก เนื่องจากลูกค้าไม่ยอมชำระค่าสินค้าและบริการ ประกอบกับเชกยังไม่มีศาลเฉพาะในเรื่องเกี่ยวกับคดีแพ่งและพาณิชย์ และไม่มีผู้เชี่ยวชาญด้านการพาณิชย์ การค้าส่วนใหญ่อยู่ได้ด้วยการไว้วางใจซึ่งกันและกัน ดังนั้น นักธุรกิจไทยที่เพิ่งจะเริ่มธุรกิจกับคนเชก ควรใช้ระบบ L/C จะปลอดภัยกว่า

4. ภายหลังจากเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป สาธารณรัฐเชกต้องใช้กฎระเบียบเดียวกับสมาชิก ซึ่งภาษีนำเข้าสินค้าประเภทอาหารและสินค้าเกษตรมีอัตราที่สูงขึ้นตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2004 เป็นต้นมา

ปัญหาในด้านไทย

ส่วนใหญ่เป็นปัญหาในเรื่องของราคาข้าวไทยที่สูงกว่าของประเทศคู่แข่งขันอื่นๆ เช่น เวียดนาม/อินเดีย (ซึ่งสามารถอธิบายได้ในเรื่องของคุณภาพข้าว) แต่ที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือผู้นำเข้าเชกต้องการระยะเวลาในการให้เครดิตการชำระเงิน และไม่ต้องการเปิด L/C

บทสรุป

เนื่องจากสภาพภูมิอากาศไม่อำนวย จึงไม่สามารถปลูกข้าวได้ในสาธารณรัฐเชก ดังนั้นเพื่อสนองตอบความต้องการของตลาด ซึ่งมีประมาณปีละ 63,000 ตัน จึงต้องอาศัยการนำเข้าเพียงอย่างเดียว สำหรับอนาคตข้าวไทยในตลาดเชกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ถึงแม้ในอดีตที่ผู้บริโภคเชกพิจารณาเลือกซื้อสินค้าโดยอาศัยปัจจัยสำคัญคือเรื่องของราคาเป็นส่วนใหญ่ แต่ในปัจจุบันมาตรฐานการครองชีพของประชากรเริ่มดีขึ้น ผู้บริโภคที่มีรายได้สูงถึงรายได้ปานกลางเริ่มหันมาเลือกซื้อสินค้าที่มีคุณภาพดีขึ้น และถึงแม้ตลาดล่างจะยังคงให้ความสำคัญในเรื่องของราคา แต่สำหรับสินค้าข้าวของไทยในตลาดเชกเน้นข้าวหอมมะลิเป็นหลัก จึงควรเน้นไปที่ตลาดของผู้มีรายได้ระดับปานกลางถึงสูง

ซึ่งสำคัญที่ควรจะต้องให้ความใส่ใจเป็นพิเศษก็คือ หากจะขยายตลาดข้าวหอมมะลิไทยในตลาดเชกและใกล้เคียง ควรจะต้องเน้นการสาธิต/แนะนำวิธีปรุง/หุงข้าว ทั้งนี้ การซื้อข้าวบรรจุซองที่พร้อมปรุงได้ทันที เป็นความสิ้นเปลือง เพราะราคาสูงหากผู้บริโภคโดยเฉพาะในครัวเรือน ได้เรียนรู้ถึง กรรมวิธี/ขั้นตอนในการหุงข้าว จะสามารถหาซื้อข้าวสารจากซุปเปอร์มาร์เก็ตมาหุงด้วยตนเอง จะประหยัดมากกว่า ดังนั้นการประชาสัมพันธ์ข้าวไทยควรควบคู่ไปกับการประชาสัมพันธ์หม้อหุงข้าว ซึ่งยังไม่เป็นที่รู้จักในสาธารณรัฐเชก

ข้าวไทยได้เปรียบข้าวจากประเทศอื่นในเอเชียในแง่ของคุณภาพ แม้ราคาจะสูงกว่า แต่ปริมาณความต้องการยังคงที่หากมีกิจกรรมส่งเสริมตลาดอย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าอนาคตข้าวไทยในตลาดสาธารณรัฐเชกจะดีขึ้นอย่างแน่นอน/

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงปราก

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ