โครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ กฎระเบียบการนำเข้าและข้อกำหนดในการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวของเปรู

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 9, 2010 15:02 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. โครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งสินค้าที่เชื่อมโยงกับการขนส่งในภูมิภาค

ก. ท่าเรือ มีจำนวน 30 ท่า ตลอดแนวชายฝั่งของประเทศ (ไม่รวมท่าเรือตามแม่น้ำที่เมือง Iquitos และในเขตลุ่มน้ำอเมซอน) ทั้งนี้ ท่าเรือสำคัญของเปรูตามชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกที่เชื่อมโยงการขนส่งภายในประเทศและภายในภูมิภาค (กับประเทศต่างๆ ตามแนวชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกและแอตแลนติก เช่น ปานามา เอกวาดอร์ โคลอมเบีย ชิลี อาร์เจนตินา บราซิล) ได้แก่

  • Callao
  • San Martin
  • Matarani
  • Chimbote
  • Ilo
  • Paita
  • Talara

ท่าเรือ Callao หรือ Terminal Portuario del Callao (TPC) เป็นท่าเรือที่สำคัญที่สุดของเปรู ซึ่งตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมการผลิตส่วนใหญ่ในประเทศไปสู่ตลาดโลก เนื่องจากเรือเดินสมุทรขนส่งสินค้าระหว่างประเทศส่วนใหญ่จะเทียบท่านี้ ร้อยละ 75 ของสินค้าออกและสินค้าเข้าของเปรูทำการขนส่งขึ้นลงเรือ ณ ท่าเรือแห่งนี้ ท่าเรือแห่งนี้ ตั้งอยู่ห่างจากกรุงลิมา 20 กิโลเมตร มีประชากรอาศัยอยู่ในเขตพื้นที่แถบนี้ประมาณ 8 ล้านคน โดยการให้บริการของท่าเรือแห่งนี้จะครอบคลุมพื้นที่ที่ห่างไกลออกไปถึงกว่า 600 กิโลเมตร ครอบคลุมไปถึงเมือง Ica ทางตอนเหนือและเมือง Ancash ทางตอนใต้ เพื่อขนส่งสินค้าจากเรือกสวนไร่นาขนาดใหญ่ เหมืองแร่ และอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกต่างๆ โดยมีถนนและทางรถไฟเชื่อมต่อกันเป็นอย่างดี ทั้งนี้ ระยะทางขนส่งจากท่าเรือ Callao ถึงเมืองสำคัญต่างๆในเปรูเป็นดังนี้

  • 526 ไมล์ทะเลถึงเมือง Talara
  • 136 ไมล์ทะเลถึงเมือง Puerto Punta Lobitos (Huarmey)
  • 127 ไมล์ทะเลถึงเมือง Pisco
  • 447 ไมล์ทะเลถึงเมือง Matarani
  • 500 ไมล์ทะเลถึงเมือง Ilo
  • 1315 ไมล์ทะเลถึงเมือง Valparaiso ในประเทศชิลี

ข. ท่าอากาศยานที่สำคัญ เปรูมีท่าอากาศยานหลักคือท่าอากาศยาน Jorge Chavez International Airport Corpac (Corporaci?n Peruana de Aeropuertos y Aviaci?n Comercial), Aeropuerto Internacional Jorge Ch?vez, Avenida Faucett s/n, Callao (tel: 529-570) ตั้งอยู่ที่เมือง Callao อยู่ห่างไปทางทิศตะวันตกของกรุงลิมา 16 กิโลเมตร ซึ่งร้อยละ 98 ของเที่ยวบินนานาชาติที่เชื่อมโยงกับภูมิภาคและทั่วโลก ขึ้นลงที่ท่าอากาศยานแห่งนี้ และมีท่าอากาศยานในส่วนภูมิภาคเพื่อให้บริการเที่ยวบินสู่พื้นที่ๆอยู่ห่างไกลและไม่สามารถเดินทางไปถึงได้โดยง่ายด้วยการคมนาคมทางอื่น ที่เมือง Cuzco, Tacna, Arequipa, Iquitos, Ayacucho, Chiclao, Piura and Trujillo เนื่องจากมีภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ยังมีสายการบินท้องถิ่นขนาดเล็กให้บริการเที่ยวบินระหว่างหัวเมืองต่างๆในประเทศ

ค. เส้นทางการคมนาคมขนส่งทางบกในประเทศ และที่เชื่อมโยงกับประเทศอื่นในภูมิภาค

เครือข่ายถนน ประกอบด้วยความยาวทั้งสิ้นประมาณ 85,900 กิโลเมตร (ราดยาง 45,000 กม. ที่เหลือไม่ราดยาง) โดยมีถนนสายหลักวิ่งเรียบไปกับชายฝั่งยาวประมาณ 2,800 กม. และเชื่อมโยงกับพื้นที่ภายใน อีกทั้งมีโครงการก่อสร้างถนนเพิ่มเติมอีกเรื่อยๆ มีทางหลวงและบริการรถบัสโดยสารเชื่อมต่อเปรูกับประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ เส้นทาง Pan-American Highway ซึ่งได้รับการลาดยางเกือบตลอดสายแล้ว ตัดผ่านเอกวาดอร์ทางตอนเหนือของเปรูลงไปถึงชิลีทางตอนใต้ของเปรู โดยมีทางย่อยแยกที่เมือง Arequipa ไปเมือง Sierra และมีทางแยกไปสู่ประเทศโบลีเวีย เส้นทาง Trans-Andean Highway เชื่อมต่อ Lima กับ Pucallpa ผ่าน La Oroya และ Huanuco เส้นทาง Central Highway เชื่อม Lima กับ La Oroya, Huancayo, Huancavelica, Ayacucho, Cuzco and Puno และเชื่อมต่อกับ Pan-American Highway ที่เมือง Arequipa โดยทั่วไปแล้วเส้นทางหลวงต่างๆในประเทศหลายๆเส้นทางยังอยู่ในสภาพที่ไม่ดีนัก ในช่วงเดือนธันวาคม — เมษายน ของทุกปีอันเป็นฤดูฝน มักเกิดปัญหาดินถล่มไปขวางทางเดินรถ ทำให้เกิดความล่าช้าในการเดินทาง

เส้นทางรถโดยสาร มีบริการรถบัสที่มีราคาถูกและมาตรฐานไม่ค่อยสะดวกสบายนัก ตามเส้นทาง Pan-American Highway ไปเอกวาดอร์ และชิลี และจากทางหลวงดังกล่าวไปยังเมือง Callejon de Huaylas ในเขตพื้นที่เทือกเขาแอนดิสทางตอนเหนือ ส่วนการเดินทางในเมืองหลวงมีบริการรถบัสสีเหลืองและรถบัสตู้โดยสารขนาดเล็กเชื่อมต่อกรุงลิมากับเมือง Callao และเขตชานกรุงลิมา

เส้นทางรถไฟ มีเส้นทางเชื่อมระหว่าง Lima กับ La Oroya โดยจาก La Oroya มีทางแยกไปเมือง Cerro de Pasco และ Huancayo กับเมือง Huancavelica บริษัท Ferrocarril Central Andino (FCCA) (Empresa Nacional de Ferrocarriles del Per?, Ancash 207, Apdo 1379, Lima (tel: 289-440)) เป็นกลุ่มบริษัทที่ตกลงร่วมมือกันจัดการเดินรถไฟในลักษณะเป็น Consortium หรือ Cartel เชื่อมต่อระหว่างเมือง Callao —Lima - Huancayo - Cerro de Pasco ซึ่งเส้นทางดังกล่าวจัดว่าเป็นเส้นทางรถไฟที่อยู่ในระดับพื้นที่ที่สูงเป็นลำดับสองของโลก (รองจากธิเบต) คือสูงถึงระดับ 4,818 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล และยังมีเส้นทางรถไฟเพื่อการท่องเที่ยวและการขนส่งสินค้าระหว่างเมือง Matarani ไปยังเมือง Arequipa เมือง Puno เมือง Cuzco และเมือง Quillabamba ใกล้โบราณสถาน Machu Picchu ที่เมือง Puno มีเรือกลไฟเดินข้ามทะเลสาบ Titicaca ไปยังประเทศโบลีเวีย สัปดาห์ละครั้งทุกวันพุธ และมีเส้นทางรถไฟสั้นๆจากเมือง Tacna ในเปรูเชื่อมโยงไปยังเมือง Arica ในประเทศชิลี ซึ่งนับเป็นเส้นทางรถไฟสั้นๆเพียงเส้นเดียวที่เชื่อมโยงกับต่างประเทศ กำหนดการเดินรถจะเปลี่ยนแปลงระหว่างฤดูร้อนและฤดูหนาว เส้นทางรถไฟบางเส้นทางจัดเดินรถไฟโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการท่องเที่ยว เช่นเส้นทางไปเมือง Huancayo และโบราณสถาน Machu Picchu.

เส้นทางอากาศ มีสายการบินแห่งชาติคือ LAN Peru สายการบินอื่นๆของเปรู ได้แก่ Aerocondor Peru, Star Peru and Taca Peru และสายการบินสำคัญๆจากทุกประเทศในภูมิภาคเชื่อมโยงให้บริการกับเปรู และมีบริการเส้นทางบินระหว่างกรุงลิมากับเมืองหลักๆในประเทศ มีท่าอากาศยานสำหรับเส้นทางบินในประเทศ 19 แห่ง และมีท่าอากาศยานสำหรับเที่ยวบินแบบเช่าเหมาลำอีก 22 แห่ง การเดินทางไปบางพื้นที่กันดารโดยเฉพาะพื้นที่ๆเป็นภูเขาสูงบางแห่งจำเป็นต้องเดินทางโดยทางเครื่องบินเนื่องจากไม่มีการคมนาคมทางอื่นหรือมีแต่ไม่สะดวก

ง. บริษัทขนส่ง

มีบริษัทขนส่งสินค้า Freight Forwarder และ Storage Services ที่สำคัญให้บริการ ได้แก่

          -          FedEx Express ซึ่งเป็นบริษัทขนส่งด่วนที่ใหญ่ที่สุดในโลก
          -          UPS เป็นบริษัทส่งพัสดุภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกและเป็นบริษัทชั้นนำในด้านการบริการด้านห่วงโซ่อุปทาน
          -          DHL Worldwide Courier, Avenida La Marina 2469, San Miguel (tel: 525-559)

2. กฎระเบียบในการนำเข้า

มีระบบที่คล้ายคลึงกับของประเทศอื่นๆที่เป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก ระบบภาษีที่จัดเก็บในธุรกรรมการนำเข้าโดยทั่วไปประกอบด้วย

ภาษีนำเข้าที่เรียกเก็บตามมูลค่า(Ad Valorem)

เรียกเก็บจากสินค้าที่นำเข้าประเทศเปรูโดยมีฐานภาษีคือมูลค่าสินค้าพึงประเมินเพื่อเก็บภาษีศุลกากร (Customs Tariff Value) ตามกฎขององค์การการค้าโลก โดยแบ่งออกเป็น 3 ระดับอัตรา คือ 4% 12% และ 20%

Additional Tariff Surcharge

เรียกเก็บเป็นการชั่วคราวจากการนำเข้าสินค้าบางชนิด (ตัวอย่างเช่น Malt, Malt Beer, Wine from Fresh Grapes, Hard Yellow Corn, Sugar เป็นต้น) อัตรา 5% ของ Ad Valorem CIF

Selective Consumer Tax (Luxury Tax)

เรียกเก็บจากการนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยบางรายการ (ตัวอย่างเช่น เชื้อเพลิง สุรา รถยนต์ น้ำอัดลม เบียร์ บุหรี่ เป็นต้น) อัตราภาษีคิดแตกต่างกันไปตามรายการสินค้า เช่น บุหรี่ เก็บภาษีแบบ Specific rate ประมาณมวนละ 0.025-0.10 โซล รถยนต์เรียกเก็บในอัตรา 0%, 10% และ 30%

General Sales Tax (IGV)

เรียกเก็บจากสินค้าที่นำเข้าประเทศเปรูโดยมีฐานภาษีคือ มูลค่ารวมของ Customs Tariff Value บวกภาษีศุลกากร บวก ภาษีอื่นๆที่เรียกเก็บจากการนำเข้าสินค้านั้น อัตราภาษี 16%

Municipal Promotion Tax

เรียกเก็บจากสินค้าที่พึงเสียภาษี IGV มีฐานภาษีเดียวกันกับการเรียกเก็บภาษี IGV อัตราภาษี 2%

Antidumping and Compensation Duties

เรียกเก็บตามมติของ INDECOPI (Consumer and Fair Business Practice Protection Institute) โดยมีฐานการคำนวณจากมูลค่า FOB ที่ระบุตาม Certificate of Inspection หรือ Commercial Invoice อัตราภาษีขึ้นอยู่กับการพิจารณาของทางการเปรูเป็นรายกรณี

ทั้งนี้ การนำเข้าตัวอย่างสินค้า ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีอากรศุลกากร

3. ข้อกำหนดในการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว

ธนาคารโลกจัดลำดับเปรูไว้เป็นประเทศที่มีความง่ายในการประกอบธุรกิจเป็นลำดับที่ 58 ใน 178 ประเทศ เท่าที่ทราบจากนักลงทุนอเมริกัน ส่วนใหญ่ความยุ่งยากในการดำเนินธุรกิจในเปรูคือ ระบบงานของรัฐที่เข้มงวดและล่าช้าเกินไป โดยเฉพาะในเรื่องการจัดตั้งธุรกิจ และการขอใบอนุญาตต่างๆ ปัญหาแรงงานก็เป็นประเด็นสำคัญในการทำธุรกิจ มาตรการปกป้องนักลงทุนท้องถิ่น และความยากในการขอรับสินเชื่อก็มีอยู่ในระดับสูง ตามปกติการลงทุนประกอบธุรกิจสำหรับชาวต่างชาติในเปรูควรจะมีการวิจัยตลาดสินค้าคู่แข่งขันอย่างละเอียดโดยพิจารณาเลือกลงทุนเฉพาะโครงการที่จะประสบผลกำไรในระยะสั้นถึงระยะปานกลาง โดยไม่ต้องให้ความสนใจกับสิ่งจูงใจและการอุดหนุนพิเศษอื่นใดที่ไม่เกี่ยวกับการตลาด เนื่องจากเป็นการยากที่จะคาดการณ์ว่าสิ่งจูงใจเหล่านี้จะยังคงมีอยู่ในอนาคตหรือไม่ และไม่ต้องลงทุนโดยตั้งอยู่บนสมมุติฐานว่าทางการเปรูจะให้การอนุญาตใดๆเป็นพิเศษ (ความเห็นข้างต้นเป็นทัศนะของนักธุรกิจอเมริกันบางราย) แต่อย่างไรก็ดี นักลงทุนบางรายก็ให้เหตุผลในเชิงสนับสนุนคือ เปรูเป็นประเทศที่น่าลงทุนเนื่องจากผู้คนในประเทศมีความอบอุ่น บรรยากาศทางธุรกิจมีความเป็นยุโรปมากกว่าเป็นอเมริกัน และการจัดตั้งธุรกิจในเปรูก็เป็นเรื่องที่ท้าทายพอสมควรแต่ไม่เป็นที่น่าหวั่นเกรงนัก ทั้งนี้ ในการลงทุนในเปรูสิ่งที่จะต้องมีในลำดับแรกคือ เงินทุนเบื้องต้น บัญชีเงินฝากในธนาคารเปรู แผนการดำเนินธุรกิจที่ดี และเครือข่ายการติดต่อธุรกิจในเปรู

ขั้นตอนและข้อกำหนดในการจัดตั้งธุรกิจของต่างประเทศในเปรู (ตั้งบริษัทใหม่ หรือตั้งสาขาของบริษัทต่างประเทศในเปรู)

เปรูสร้างบรรยากาศการให้สิทธิและเสรีภาพแก่นักลงทุนต่างประเทศอย่างกว้างขวาง โดยให้การประกันถึงเสถียรภาพทางกฎหมาย ไม่มีข้อกำหนดเกี่ยวจำนวนเงินลงทุน และสามารถจะโอนเงินกำไรกลับไปต่างประเทศได้ถ้าธุรกิจเข้าสู่ระบบการเงินของประเทศ นักลงทุนจะต้องเลือกว่าจะดำเนินการในรูปเปิดบริษัทใหม่ หรือเปิดสาขาของบริษัทต่างประเทศ หรือบริษัทร่วมทุน ในรูปแบบต่างๆตามที่กฎหมายเปรูกำหนด ได้แก่ Corporation, Limited Liability Company, General Partnership, Non Commercial Limited Company, Limited Partnership Issuing Shares, Partnership และ Branch เป็นต้น รูปแบบที่นักลงทุนต่างประเทศนิยมคือ Corporation และสาขาของบริษัทต่างประเทศ (Branch) เนื่องจากจะได้รับสิทธิประโยชน์สูงว่ารูปแบบอื่นๆ

Corporation

การจัดตั้งใช้เวลาประมาณ 4-6 สัปดาห์ ขั้นตอนได้แก่

ก. การตั้งชื่อธุรกิจ ใช้ชื่อใดก็ได้ ตามด้วยคำว่า Sociedad Anonma (แปลว่าCorporation) ซึ่งใช้อักษรย่อว่า S.A. โดยขอสงวนชื่อนี้ไว้ ณ สำนักจดทะเบียนสาธารณะ ถ้าชื่อดังกล่าวไม่ซ้ำกับชื่อที่มีผู้ใช้อยู่แล้ว ก็จะมีสิทธิใช้ชื่อบริษัทดังกล่าวภายใน 30 วัน และเปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคารของเปรู

ข. การขอให้ลงทะเบียนรับรองเอกสารการจัดตั้งบริษัท และข้อบังคับบริษัทกับบุคคลที่ทำหน้าที่รับรองลายมือชื่อและเอกสาร (Public Notary) โดยในขณะเดียวกันจะต้องนำเงินทุนประเดิมของบริษัทเข้าฝากในบัญชีธนาคารภายใต้ชื่อของบริษัท ในส่วนของเงินทุนจะต้องระบุทุนเรือนหุ้น ตามมูลค่าหุ้นจดทะเบียน และต้องมีการชำระเงินค่าหุ้นแล้วอย่างน้อยร้อยละ 25

ค. หุ้นส่วนจะต้องลงนามบังคับใช้ตราสารบริษัทต่อหน้า Public Notary แล้วขอจดทะเบียนบริษัทกับสำนักงานจดทะเบียนสาธารณะ (Public Registry) ผู้ถือหุ้นจะต้องมีบุคคลหรือนิติบุคคลเป็นผู้ถือหุ้นอย่างน้อย 3 ราย จะเป็นผู้ที่มีถิ่นฐานอยู่ในเปรูหรือไม่ก็ได้ บริษัทแบบ Incorporation จะต้องมีหนังสือขึ้นทะเบียนโดยผู้ก่อตั้งบริษัท และผู้ถือหุ้นจะต้องยื่นหนังสือจดทะเบียนบริษัท เอกสารระบุชื่อผู้ถือหุ้น และเอกสารแสดงการฝากเงินทุนไว้กับธนาคารของเปรู ทั้งนี้ บริษัทแบบ Incorporation มี 2 แบบ

  • Direct Creation จะต้องนำเงินทุนฝากไว้กับสถาบันทางการเงินของเปรู ผู้ถือหุ้นจะต้องร่างหนังสือบริคณห์สนธิโดยลงนามต่อหน้าสำนักงานทนายความแล้วเสนอต่อที่ปรึกษากฎหมาย (Notary) เพื่อจัดทำตราสารสาธารณะสำหรับจดทะเบียนบริษัทกับสำนักงานจดทะเบียนการค้า (Commercial Registry)
  • Public Subscription ผู้เริ่มก่อการจะต้องร่างแผนกองทุนของบริษัทแล้วเสนอต่อที่ปรึกษากฎหมายเพื่อยืนยันลายมือชื่อผู้ร่วมร่างแผนกองทุน แล้วนำแผนการลงทุนจดทะเทียนกับสำนักจดทะเบียนการค้าเพื่อพิมพ์เผยแพร่หาผู้จองหุ้นต่อไป จากนั้นจะต้องมีการประชุมผู้จองซื้อหุ้นภายใน 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่มีการนำแผนกองทุนจดทะเบียนกับสำนักงานจดทะเบียนการค้า และหลังจากนั้นอีก 30 วัน บุคคลผู้ได้รับการมอบหมายจะนำตราสารบริษัทมหาชน (Incorporation Public Deed) จดทะเบียนกับสำนักงานจดทะเบียนการค้า
ค่าใช้จ่ายในการขอตั้งบริษัท
  • Notary’s expense คิดตามเงินทุนตามที่ปรากฏในราคาหุ้น และความยาวของตราสารบริษัท
  • ค่าจดทะเบียน คิดในอัตราร้อยละ 0.3 ของเงินทุนตามที่ปรากฏในราคาหุ้น
  • อื่นๆ ได้แก่ ค่าจดทะเบียนแต่งตั้งกรรมการบริษัท และค่าบริการของสำนักงานกฎหมาย

อายุของบริษัท

หากไม่มีการระบุในหนังสือบริคณห์สนธิเป็นอื่น อายุของบริษัทจะมีไม่จำกัด

สิ่งที่ต้องจ่ายสมทบให้แก่ฝ่ายเปรู

สามารถทำในรูปเงินตราสกุลท้องถิ่นหรือเงินตราต่างประเทศ สินค้าหรือสิ่งของที่จับต้องได้ รวมทั้งสิ่งสนับสนุนทางเทคโนโลยีซึ่งเป็นนามธรรม โดยจะมีการประเมินค่าของสิ่งสนับสนุนที่ไม่เป็นตัวเงินออกมาเป็นตัวเงิน

องค์ประกอบบริษัท

  • การประชุมทั่วไปผู้ถือหุ้น จะมีขึ้นเพื่อตัดสินใจเรื่องสำคัญโดยจัดขึ้นเป็นพิเศษหรือจัดขึ้นอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำ
  • คณะกรรมการบริษัท จะถูกเลือกและแต่งตั้งโดยที่ประชุมทั่วไปผู้ถือหุ้น โดยการแต่งตั้งดังกล่าวจะต้องจดทะเบียนไว้กับสำนักงานจดทะเบียนการค้า ณ ท้องที่และเขตภูมิลำเนาของบริษัท กรรมการบริษัทไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ถือหุ้นเว้นแต่มีกฎข้อบังคับบริษัทระบุไว้หรือเป็นมติของที่ประชุมทั่วไป คณะกรรมการบริษัทจะได้รับการมอบอำนาจเป็นตัวแทนทางกฎหมายและการบริหารงานเท่าที่จำเป็นต่อการบริหารจัดการบริษัทให้บรรลุวัตถุประสงค์
  • คณะกรรมการบริษัทจะต้องเตรียมบัญชีงบดุล และบัญชีกำไรขาดทุน ข้อเสนอการจัดสรรกำไร และรายงานประจำปี ภายในเวลาไม่เกิน 180 วัน นับแต่วันสิ้นสุดปีงบดำเนินการของบริษัท โดยจะต้องแจ้งทรัพย์สินของความเป็นหุ้นส่วน ผลกำไรที่ได้รับ หรือผลขาดทุนที่สูญเสียไป และสถานะทางธุรกิจของบริษัท ด้วยวิธีการที่ชัดเจนและแน่นอน
การบริหารงานบริษัท

คณะกรรมการบริษัทแต่งตั้งผู้จัดการ ยกเว้นกรณีที่กฎข้อบังคับของบริษัทให้อำนาจที่ประชุมทั่วไปเป็นผู้แต่งตั้ง อาจแต่งตั้งผู้จัดการได้มากกว่า 1 คน ถ้ามีกำหนดไว้ในข้อบังคับหรือที่ประชุมทั่วไปเห็นชอบ ระยะเวลาดำรงตำแหน่งไม่จำกัด ยกเว้นข้อบังคับระบุเป็นอื่น หรือการแต่งตั้งมีการเจาะจงกำหนดระยะเวลาไว้ หน้าที่ของผู้จัดการจะถูกระบุไว้ด้วยข้อบังคับของบริษัท หรือระบุไว้ ณ เวลาที่แต่งตั้ง อย่างไรก็ดี เป็นที่สันนิษฐานไว้ก่อนได้ว่า ผู้จัดการได้รับมอบอำนาจให้ลงมือปฏิบัติและบริหารจัดการพันธกรณีต่างๆที่เป็นสาระทางธุรกิจของบริษัท

ข้อกำหนดทางการบัญชี

บริษัทจะต้องมีสมุดบัญชีต่างๆซึ่งถือเป็นสมุดบัญชีหลัก บันทึกด้วยภาษาสเปน และระบุจำนวนเงินเป็นเงินตราสกุลท้องถิ่น (ยกเว้นกรณีบริษัทได้รับมอบอำนาจเป็นพิเศษให้บันทึกข้อมูลเป็นเงินตราต่างประเทศเพราะบริษัทได้รับเงินทุนต่างประเทศหรือลงทุนในต่างประเทศ) ฐานในการคำนวณภาษีจะวัดจากมูลค่าเป็นเงินตราต่างประเทศ แต่กระนั้น การชำระภาษี ก็จะเป็นเงินตราสกุลท้องถิ่น ณ อัตราแลกเปลี่ยนในขณะนั้น สมุดบัญชีหลักต่างๆที่ต้องสำแดงคือ

  • บัญชีพัสดุในสต็อก
  • บัญชีงบดุลทดลอง
  • บัญชีประจำวัน
  • บัญชีแยกประเภท
  • บัญชีเงินเดือนค่าจ้าง
  • สมุดจดรายงาน

ในการใช้สมุดบัญชีดังกล่าว จะต้องมีการรับรองโดยเจ้าพนักงานขึ้นทะเบียนหนังสือสาธารณะ และสำหรับบัญชีเงินเดือนและค่าจ้าง จะต้องได้รับการรับรองจากกระทรวงแรงงานและส่งเสริมสังคม

กำไร

จะต้องจ่ายเงินปันผลต่อหุ้นจากกำไรที่แท้จริง และเงินสำรองที่ปราศจากข้อผูกพัน โดยมูลค่าทรัพย์สินจะต้องไม่ต่ำกว่าทุนเรือนหุ้น การจัดสรรเงินปันผลระหว่างผู้ถือหุ้นจะต้องทำตามสัดส่วนของเงินทุนเรือนหุ้นที่ผู้ถือหุ้นจ่ายและระยะเวลาที่ลงทุนในหุ้นดังกล่าว

ง. ในการที่จะเริ่มดำเนินกิจการ บริษัทจะต้องไปลงทะเบียนเพื่อขอรับหมายเลขประจำของผู้เสียภาษีกับหน่วยงานภาษีของรัฐที่ชื่อว่า Superintendencia Nacional de Administracion Tributaria (SUNAT) ซึ่งจะดูแลเรื่องภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม และการเก็บเงินประกันสังคม เป็นต้น

จ. เปิดดำเนินธุรกิจได้ตามขั้นตอนการดำเนินธุรกิจตามปกติ โดยมีข้อแนะนำ คือ

  • เปรูเป็นประเทศที่เศรษฐกิจกำลังขยายตัวมาก โปรดอย่าละเลย เรื่องการให้บริการลูกค้าที่ดี นักธุรกิจเปรูมีสติปัญญาความคิดที่ค่อนข้างเร็ว และมีธรรมเนียมปฏิบัติทางธุรกิจคล้ายยุโรปและเอเซียมากกว่าที่จะคล้ายสหรัฐอเมริกา
  • การเปิดเป็นบริษัทสาขาจะดีกว่าการเปิดบริษัทใหม่แยกต่างหาก แต่การขอจัดตั้งบริษัทสาขามีขั้นตอนที่ใช้เอกสารต่างๆมากกว่า
  • ในการติดต่อธุรกิจ หากเดินทางไปติดต่อพบด้วยตนเอง จะได้ผลดีกว่าการติดต่อทางโทรศัพท์ หรือการใช้จดหมายอิเล็กทรอนิกส์
  • การจ้างงานเป็นประเด็นที่สำคัญโดยเฉพาะการจ้างงานแรงงานต่างประเทศ แต่ข้ออุปสรรคในขั้นตอนการจดทะเบียนแรงงานมีไม่มากจนเกินไปนัก
  • นักธุรกิจต่างประเทศบางรายยังรู้สึกว่าการทำงานของหน่วยงานของรัฐยังล่าช้าอยู่บ้าง

ช. ภาษีและเงินสมทบให้รัฐภาคบังคับต่างๆที่เรียกเก็บจากการดำเนินธุรกิจ

ขนาดกลางในประเทศเปรู ได้แก่

  • Corporate income tax เรียกเก็บในอัตรา 30% ของ taxable profit
  • Social security contributions เรียกเก็บในอัตรา 9% ของ gross salaries
  • Property tax เรียกเก็บในอัตรา 0.2, 0.6, 1 % ของมูลค่าทรัพย์สิน
  • Industrial corporations contribution เรียกเก็บในอัตรา 0.8% ของ gross salaries
  • Financial transactions tax เรียกเก็บในอัตรา 0.08% ของ transaction value
  • Fuel tax เรียกเก็บในอัตรา 2.11 Sol ต่อ ลิตร ตามปริมาณการใช้เชื้อเพลิง (หมายเหตุ Sol เป็นเงินตราสกุลท้องถิ่น)
  • Vehicle tax เรียกเก็บในอัตรา 1% ของราคารถยนต์
  • Value added tax (VAT) เรียกเก็บในอัตรา 19% ของมูลค่าที่เพิ่มเป็นต้น
Branches

บริษัทต่างประเทศสามารถจัดตั้งสาขาในเปรูได้โดยเสรีแต่ต้องทำการจดทะเบียนกับทางการเปรู ระบุที่อยู่ในเปรู เงินทุนที่ได้รับมอบหมายให้จัดการในสาขา การแต่งตั้งและอำนาจของตัวแทนตามกฎหมายในเปรู สายการดำเนินธุรกิจของสาขารวมถึงธุรกิจและการปฏิบัติการที่สาขาเกี่ยวข้องด้วย รวมทั้งสัญญาหรือเอกสารเทียบเท่าสัญญาในการบริหารงานสาขา ใบรับรองว่าบริษัทมีจริงและยังดำเนินกิจการจากเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจรับรองโดยผู้แทนทางกงสุลของเปรูในประเทศที่บริษัทแม่ตั้งอยู่ หลักฐานแสดงอำนาจของบริษัทในการตั้งสาขาในต่างประเทศ และมติของบริษัทที่จะจัดตั้งสาขาในเปรู ทั้งนี้ ตัวแทนตามกฎหมายที่ได้รับการแต่งตั้งในเปรูจะต้องมีอำนาจพอที่จะแก้ไขเรื่องต่างๆที่เป็นกิจกรรมของบริษัท เช่น การดำเนินธุรกรรมซื้อขายต่างๆของบริษัท การไปขึ้นศาล และการตอบข้อเรียกร้องต่างๆ

Joint Venture และ Partnerships

กิจการ Joint Venture และหุ้นส่วนเป็นสัญญาที่ฝ่ายต่างๆตกลงกัน ซึ่งไม่ต้องจดทะเบียนกับสำนักงานจดทะเบียนการค้า (Commercial Registry) แต่อย่างไร จึงไม่มีบริษัทหรือชื่อบริษัทเกิดขึ้นแต่อย่างไร ทรัพยากรต่างๆที่จะนำไปลงทุนในเปรูจึงถือเสมือนเป็นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ โดยทำสัญญากันในรูปแบบที่นักลงทุนต่างประเทศเป็นผู้สนับสนุนสินค้าและบริการต่างๆให้บริษัทผู้รับในเปรูเพื่อแลกเปลี่ยนกับการเข้าไปมีส่วนร่วมในผลผลิตทางกายภาพ เป็นมูลค่ารวมหรือกำไรสุทธิ ของกิจการที่รับการลงทุน

4. ความเห็นของสคต. ณ กรุงซานติอาโก
ประเด็นต่างๆที่ควรพิจารณา ได้แก่

เปรูเป็นตลาดส่งออกใหม่ของไทย หากพิจารณาจากมูลค่าการค้าขายระหว่างประเทศของประเทศไทย ในปี 2549 2550 และ 2551 ไทยส่งออกไปเปรูคิดเป็นมูลค่า 57.996 ล้านเหรียญสหรัฐ 124.498 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 258.988 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ การส่งออกของไทยไปเปรูในปี 2551 มีอัตราการส่งออกที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้ามากถึงร้อยละ 108.03 โดยมีสัดส่วนในตลาดเปรูร้อยละ 0.15 ในปี 2551 เปรูเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของไทยลำดับที่ 63 ในโลก หรือลำดับที่ 7 ในภูมิภาคละตินอเมริกา ทั้งนี้ ประเทศในภูมิภาคละตินอเมริกาที่ไทยส่งออกไปได้มากที่สุด 7 อันดับแรก ได้แก่ บราซิล เม็กซิโก อาร์เจนตินา ชิลี เอกวาดอร์ โคลัมเบีย และเปรู ตามลำดับ สินค้าที่ไทยส่งออกไปเปรูมากได้แก่ รถยนต์และชิ้นส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ข้าวเจ้า ผลิตภัณฑ์ยาง ผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์เหล็กและเหล็กกล้า เครื่องจักรกลไฟฟ้า สิ่งทอ เศษดีบุก ของเล่นและอุปกรณ์การกีฬา ออพติกไฟเบอร์และเครื่องมือแพทย์ เคมีภัณฑ์ เสื้อผ้าทอ แก้วและเครื่องแก้ว และอาหารแปรรูป เป็นต้น

เปรูเป็นแหล่งนำเข้าทรัพยากรและปัจจัยการผลิตของไทย หากพิจารณาจากมูลค่าการค้าขายระหว่างประเทศของประเทศไทย ในปี 2549 2550 และ 2551 ไทยนำเข้าจากเปรูคิดเป็นมูลค่า 92.864 ล้านเหรียญสหรัฐ 91.507 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 69.644 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ ทั้งนี้ การนำเข้าของไทยจากเปรูในปี 2551 มีอัตราการนำเข้าที่ลดลงจากปีก่อนหน้าร้อยละ —23.89 สินค้าเปรูมีส่วนแบ่งในตลาดนำเข้าประเทศไทยร้อยละ 0.04 ในปี 2551 เปรูเป็นแหล่งนำเข้าที่สำคัญของไทยลำดับที่ 64 ในโลก หรือลำดับที่ 6 ในภูมิภาคละตินอเมริกา ทั้งนี้ ประเทศในภูมิภาคละตินอเมริกาที่ไทยนำเข้ามากที่สุด 6 อันดับแรก ได้แก่ บราซิล อาร์เจนตินา เม็กซิโก ชิลี ปวยโตริโก และเปรู ตามลำดับ ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้าเปรู 189.344 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าที่ไทยต้องการนำเข้าจากเปรูที่สำคัญ ได้แก่ สินแร่สังกะสี ทองแดง และเหล็ก อาหารสัตว์ทำจากเศษอาหาร ปลาและอาหารทะเล ผลิตภัณฑ์ทองแดง สีฟอกย้อม เสื้อผ้า เคมีภัณฑ์ ไขมันสัตว์ โลหะมีค่า(เงิน) ผลิตภัณฑ์ อนินทรีย์เคมีและสารประกอบเคมี ผลไม้และถั่วต่างๆ ฝ้าย เศษโลหะอลูมินัม เศษทองแดง เสื้อผ้าทอ เป็นต้น เปรูเป็นประเทศผู้ผลิตแร่เงินรายใหญ่เป็นอันดับสองของโลก และเป็นประเทศผู้ผลิตทองคำและทองแดงรายใหญ่เป็นอันดับหกของโลก อีกทั้งยังเป็นประเทศผู้ผลิตแร่สังกะสีและตะกั่วรายสำคัญรายหนึ่งของโลก ตลอดระยะเวลา 8 ปีนับจากปี 2541-2548 การส่งออกแร่ธาตุดังกล่าวของเปรูคิดเป็นมูลค่ากว่าร้อยละ 50 ของมูลการการส่งออกทั้งหมดของเปรู โดยเฉพาะในปี 2549 สัดส่วนดังกล่าวได้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 62 ทั้งนี้แร่ธาตุดังกล่าวล้วนเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญในกระบวนการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ไทยจำเป็นต้องใช้

หากพิจารณาจากสถิติการค้าของทางฝ่ายเปรู ประเทศไทยเป็นแหล่งนำเข้าสำคัญลำดับที่ 17 ในโลกของเปรู ในปี 2549 2551 และ 2552 เปรูนำเข้าจากไทยคิดเป็นมูลค่า 86.558 ล้านเหรียญสหรัฐ 137.381 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 334.577 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ ทั้งนี้ การนำเข้าของเปรูจากไทยในปี 2551 มีอัตราการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึงร้อยละ 143.54 คิดเป็นร้อยละ 1.12 ของส่วนแบ่งตลาดนำเข้าเปรูทั้งหมด สินค้าที่เปรูนำเข้าจากไทยส่วนใหญ่ ได้แก่ รถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องซักผ้า คอมพิวเตอร์ ชิ้นส่วนเครื่องยนต์ ข้าวเจ้า เครื่องโทรศัพท์มือถือ เตาอบไมโครเวฟ วิทยุติดรถยนต์ ยางรถจักรยานยนต์ ผลิตภัณฑ์เหล็กและเหล็กกล้า ผลิตภัณฑ์พลาสติก เส้นด้ายและสิ่งทอ เครื่องมือแพทย์ ของเล่นและอุปกรณ์กีฬา สีฟอกย้อม เคมีภัณฑ์ เสื้อผ้าทอ เป็นต้น และประเทศไทยเป็นตลาดส่งออกลำดับที่ 41 ในโลกของเปรู ในปี 2549 2551 และ 2552 เปรูส่งออกมาไทยคิดเป็นมูลค่า 65.431 ล้านเหรียญสหรัฐ 46.363 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 45.114 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ การส่งออกของเปรูมาไทยในปี 2551 มีอัตราการส่งออกที่ลดลงจากปีก่อนหน้าร้อยละ —2.69 โดยมีสัดส่วนในตลาดนำเข้าของไทยร้อยละ 0.15 ทั้งนี้ ในปี 2551 เปรูเป็นฝ่ายขาดดุลการค้ากับประเทศไทยเป็นมูลค่า 289.464 ล้านเหรียญสหรัฐ

(ข้อสังเกตุ ข้อมูลสถิติด้านประเทศไทยแลเปรูดังกล่าวข้างต้นได้มาจากแหล่งเดียวกันคือ World Trade Atlas แต่ข้อมูลไม่ตรงกันเนื่องจากจัดเก็บรวบรวมมาจากข้อมูลของทางการไทยและเปรูซึ่งรวบรวมตัวเลขไว้ไม่ตรงกัน จึงต้องนำมาพิจารณาทั้งสองทาง แต่ก็พบว่าเป็นไปในทิศทางเดียวกัน)

อนาคตของตลาดเปรู มีการค้นพบว่าเปรูมีแหล่งของน้ำมันปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติมากพอที่จะส่งออกเชื้อเพลิงที่เป็นแหล่งกำเนิดของพลังได้ในอนาคตอันใกล้ กล่าวคือในปี 2004 เปรูได้เริ่มดำเนินโครงการขุดเจาะก๊าซธรรมชาติโครงการใหญ่เรียกชื่อว่าโครงการ Camisea project เพื่อนำก๊าซไปใช้ในการผลิตไฟฟ้าและโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของประเทศ ซึ่งในระยะ (phase) ที่สองของโครงการดังกล่าว เปรูมีแผนการที่จะส่งออกก๊าซธรรมชาติไปยังตลาดสหรัฐอเมริกาฝั่งตะวันตก (West Coast) และตลาดเม็กซิโก ทั้งนี้ แหล่งก๊าซธรรมชาติดังกล่าวพบว่ามีปริมาณก๊าซสำรองอยู่เป็นปริมาณเทียบเท่า 2.4 ล้านบาเรลน้ำมันดิบ หรือคิดเป็น 7 เท่าของปริมาณน้ำมันดิบสำรองที่เปรูทำการสำรวจพบว่ามีอยู่ในประเทศ ทางเปรูจึงคาดว่าโครงการดังกล่าวจะเป็นตัวปัจจัยสำคัญในการค่อยๆปรับปรุงพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศและเป็นตัวผลักดันให้เปรูสามารถเป็นประเทศผู้ส่งออกพลังงานโดยสุทธิได้ในอนาคต หากพิจารณาถึงระบบเศรษฐกิจของเปรู ก็อาจเห็นได้ว่าได้รับการบริหารจัดการเป็นอย่างดีพอสมควร เนื่องจากมีการจัดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นเพราะมีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งภาษีที่จัดเก็บได้ก็เพียงพอสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆของประเทศ มีการลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และเมื่อระยะเวลาไม่นานมานี้ รัฐบาลเปรูประสบความสำเร็จในการออกพันธบัตรต่างประเทศ ยังผลให้บรรยากาศการลงทุนในประเทศดีขึ้น อีกทั้งรัฐบาลเปรูกำลังดำเนินมาตรการส่งเสริมให้มีการกระจายความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศจากส่วนกลางไปสู่ท้องถิ่นให้มากขึ้นและเน้นการพัฒนาธุรกิจขนาดเล็กไปสู่รูปแบบการดำเนินงานที่เป็นสากลมากยิ่งขึ้น ในปีที่ผ่านมา กรุงลิมา นครหลวงของเปรูเป็นพื้นที่ที่มีการลงทุนทั้งจากในประเทศเองและจากต่างประเทศคิดเป็นมูลค่ามากแห่งหนึ่งในภูมิภาค โดยมีบริษัทต่างประเทศหลายบริษัทสนใจลงทุนในธุรกิจขายปลีกในเปรูเพื่อเป็นหนทางไปสู่การที่จะเข้าตลาดเปรูให้ได้มากยิ่งขึ้น ดังนั้นในอนาคตเปรูอาจจะมีบทบาทในการเป็นศูนย์กลางธุรกิจ (Business hub) ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของภูมิภาค

ความพร้อมในการเข้าสู่ความเป็นสากลของตลาดเปรู หากพิจารณาในแง่ความสนใจที่จะขยายความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศต่างๆรวมทั้งประเทศไทยและความพร้อมในการเข้าสู่ความเป็นสากลของตลาด จะเห็นได้ว่าเปรูให้ความสำคัญในเรื่องนี้มาก ที่ผ่านมาเปรูพยายามตัดทอนข้ออุปสรรคทางการค้าลง และค่อยๆยกเลิกการให้การอุดหนุนทางตรงแก่ผู้ส่งออกและผู้ผลิตในประเทศ โดยให้การปฏิบัติที่เท่าเทียมกันต่อนักลงทุนต่างประเทศและนักลงทุนท้องถิ่น ปัจจุบันเปรูพยายามเชื่อมโยงเศรษฐกิจของประเทศเข้ากับเศรษฐกิจโลกมากยิ่งขึ้น และวางกลยุทธ์สำคัญในการนำเศรษฐกิจของประเทศไปสู่สากล โดยการเข้ารวมตัวในระดับกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจภูมิภาค ที่สำคัญได้แก่ การเป็นประเทศสมาชิกของ Andean Community ยังผลให้สินค้าหลายรายการสามารถเคลื่อนย้ายในหมู่ประเทศสมาชิกได้โดยไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า และการเป็นประเทศสมาชิกของเอเปค โดยมีบทบาทที่สำคัญในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคปี 2008 นอกจากนี้ เปรูยังมีแผนการที่จะเจรจาการค้าทั้งในระดับทวิภาคีและในระดับภูมิภาคกับประเทศต่างๆเพื่อขยายการค้าระหว่างกัน โดยเฉพาะในส่วนของประเทศไทย เปรูต้องการจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับประเทศไทยให้สำเร็จโดยสมบูรณ์ ในระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมาการค้าระหว่างเอเปคและเปรูขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยในช่วงปี 2000 ถึง 2006 เปรูส่งออกไปยังเอเปคเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 270 เพิ่มขึ้นจากมูลค่า 3,709 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 13,635 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่เปรูนำเข้าจากเอเปคเพิ่มขึ้นร้อยละ 90 คือจาก 3,892 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 7,400 ล้านเหรียญสหรัฐ

นโยบายการค้าของไทยเน้นให้ความสำคัญตลาดละตินอเมริกามากขึ้นแต่ระยะทางขนส่งสินค้าห่างไกล เนื่องจากกระทรวงพาณิชย์มีนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งในการฟื้นฟูเศรษฐกิจคือ การหารายได้เข้าประเทศโดยการผลักดันการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ แต่เนื่องจากปัจจุบันตลาดส่งออกของไทยส่วนใหญ่กำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจหดตัวเนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก ทำให้การค้าโลกหดตัวและตลาดโลกมีการนำเข้าจากไทยลดลง ไทยจึงต้องเร่งพัฒนาตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ โดยการพัฒนาความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศคู่ค้าที่มีศักยภาพในการนำเข้าจากไทยให้มากขึ้น โดยตลาดที่สำคัญได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน อินเดีย ซึ่งกำลังจะเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจใหม่ กลุ่มประเทศคู่ค้าใหม่ที่ไทยยังไม่ได้เน้นให้ความสำคัญเท่าที่ควร ได้แก่ ตลาดตะวันออกกลาง แอฟริกา ละตินอเมริกา และกลุ่มยุโรปตะวันออก ทั้งนี้ ในส่วนของการขยายตลาดภูมิภาคละตินอเมริกานั้น เนื่องจากเป็นภูมิภาคที่อยู่ห่างไกลจากประเทศไทยมากและเป็นภูมิภาคที่ใหญ่ มีประชากรมากถึงกว่า 450 ล้านคน มีพื้นที่กว้างขวางครอบคลุมกลุ่มประเทศแถบแคริบเบียน อเมริกากลางและทวีปอเมริกาใต้ ถึงกว่า 18.34 ล้านตารางกิโลเมตร ทั้งนี้ อุปสรรคในการส่งออกไปยังตลาดนี้ที่สำคัญที่สุดคือ ปัญหาต้นทุนด้านโลจิสติกส์สูงอันเกิดจากระยะทางขนส่งไกล ดังนั้นหากจะมีการส่งเสริมให้มีศูนย์กระจายสินค้าขึ้นที่เปรู ก็จะเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกต่อการบริหารจัดการในการลดต้นทุนทางด้านโลจิสติกส์แก่สินค้าส่งออกของไทย เพื่อส่งเสริมให้ขยายตลาดละตินอเมริกาสำหรับสินค้าไทยมากยิ่งขึ้น

ทำเลทางโลจิสติกส์ของเปรู หากพิจารณาเรื่องทำเลที่ตั้งในทางโลจิสติกส์ของเปรูในกรณีที่ต้องกระจายสินค้าไปยังตลาดประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ติดหรือใกล้เคียงกับประเทศเปรู ได้แก่ ตลาดเอกวาดอร์ โคลัมเบีย ชิลี โบลีเวีย และบราซิล จะเห็นได้ว่าเปรูมีทำเลทางภูมิศาสตร์ที่ติดต่อกับประเทศเหล่านี้ เปรูจึงมีบทบาทต่อการค้าตามชายแดนกับประเทศเหล่านี้ แต่ยังไม่สามารถเป็นศูนย์กลางทางโลจิสติกส์ของตลาดในประเทศเหล่านี้ได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากเป็นพื้นที่ๆกว้างใหญ่ไพศาลมากและยังขาดโครงสร้างพื้นฐานทางการขนส่งที่ดีพอ ประกอบกับประเทศเพื่อนบ้านของเปรูเหล่านี้ส่วนใหญ่มีปัจจัยพื้นฐานทางโลจิสติกส์อาทิ ท่าเรือ ท่าอากาศยาน ทางหลวง ที่ไม่ด้อยไปกว่าเปรู (ยกเว้นประเทศโบลีเวียซึ่งไม่ติดทะเลและมีโครงสร้างพื้นฐานทางการขนส่งไม่ดี) และเป็นศูนย์กลางทางโลจิสติกส์แก่ภูมิภาคย่อยในพื้นที่ใกล้เคียงอยู่แล้ว เช่น กรณีของประเทศบราซิล อาร์เจนตินา และชิลี เป็นต้น การจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าที่เปรูจึงอาจมีรัศมีทำการอยู่เฉพาะในเขตพื้นที่ตลาดเปรูเองและเขตประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้กับแนวชายแดนเท่านั้น ยกเว้น กรณีสินค้าที่มีศักยภาพ ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ฯ หากศึกษาแล้วพบว่ามีความเป็นไปได้ในการทำการผลิตในเปรูโดยใช้สิทธิประโยชน์ในการนำเข้า/ส่งออก วัสดุในการผลิตจากความตกลงการค้าเสรีไทย-เปรู แล้วส่งออกไปยังตลาดประเทศที่ 3 ในภูมิภาคที่มีความตกลงการค้าเสรีกับเปรูต่อไป ก็จะมีความเป็นไปได้สูงที่เปรูจะเป็นศูนย์กลางจัดจำหน่าย/กระจายสินค้าดังกล่าวเป็นการเฉพาะชนิดสินค้า ให้แก่ตลาดในภูมิภาค เนื่องจากเกิดความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ (comparative advantage) ทางการค้า

ความเห็นของสำนักงานฯ เป็นที่คาดหมายว่าหากไม่มีการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจที่ผิดพลาดใดๆ เปรูควรจะเป็นประเทศที่มีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจดีพอสมควรซึ่งจะเป็นฐานรองรับการส่งออกของไทยได้อีกส่วนหนึ่งและเป็นฐานในการกระจายสินค้าไทยไปยังประเทศใกล้เคียงได้ตามสมควร เพราะปัจจุบันไทยยังมีส่วนแบ่งในตลาดสินค้านำเข้าเปรูอยู่ไม่มากนักจึงน่าจะมีทางขยายส่วนแบ่งตลาดเปรูให้มากขึ้นได้ รวมทั้งตลาดประเทศเพื่อนบ้านของเปรู ได้แก่ เอกวาดอร์ โคลัมเบีย บราซิล โบลีเวีย และชิลี ตามเขตแนวชายแดนของเปรู ซึ่งที่ผ่านมา มีนักลงทุนต่างประเทศเข้าไปลงทุนเปิดกิจการจำหน่ายสินค้าในเปรูเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะการเปิดธุรกิจจำหน่ายปลีกขนาดย่อมถึงขนาดกลาง จึงเห็นเป็นการเหมาะสมที่นักธุรกิจไทยจะได้พิจารณาความเป็นไปได้ในการเปิดธุรกิจจัดจำหน่าย ผลิต หรือกระจายสินค้าในเปรู ซึ่งประเด็นการจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าในเปรู สำนักงานฯเห็นว่าควรเป็นการส่งเสริมให้ภาคเอกชนเป็นผู้มาลงทุนดำเนินการเพื่อให้การบริหารจัดการสามารถใช้กลยุทธ์ในเชิงธุรกิจเอกชน โดยควรมีการศึกษาวิจัยตลาดคู่แข่งขันอย่างละเอียดแล้วเลือกลงทุนเฉพาะโครงการที่จะประสบผลกำไรในระยะสั้นและระยะปานกลาง ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยที่สนใจเจาะ ขยายตลาด จัดหาปัจจัยการผลิต ตั้งโรงงานผลิตสินค้า และประกอบธุรกิจศูนย์กระจายสินค้า ในตลาดดังกล่าว ควรพิจารณาธุรกิจหรือสินค้าที่มีศักยภาพในตลาด ได้แก่ สินค้าในสาขายานพาหนะและชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สินค้าในสาขาเหมืองแร่ เกษตรกรรม การแปรรูปสินค้าทางการประมง และสินค้าและบริการที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เป็นต้น

หมายเหตุ ข้อมูลที่เป็นสถิติการค้าใช้ของ World Trade Atlas

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงซานติอาโก

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ