พิธีมอบรางวัล "กำพล วัชรพล" ประจำปี 2557 และปาฐกถา "กระบวนการเรียนรู้เพื่อสร้างพลเมืองยุคใหม่"

ข่าวทั่วไป Monday December 29, 2014 14:45 —สำนักโฆษก

ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานงานมอบรางวัล “กำพล วัชรพล” ประจำปี 2557 และกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “กระบวนการเรียนรู้เพื่อสร้างพลเมืองยุคใหม่” โดยมีผู้บริหารจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่มูลนิธิไทยรัฐ ผู้บริหารและครูโรงเรียนไทยรัฐวิทยา และนักเรียนนักศึกษา เข้าร่วมกว่า 500 คน เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2557 ที่ห้องประชุม ชั้น 9 อาคาร 9

ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร รมช.ศธ. กล่าวในพิธีเปิดว่า อดีตผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ คือ คุณกำพล วัชรพล เป็นผู้ที่มีวิสัยทัศน์อันยาวไกล และเล็งเห็นถึงความสำคัญของการศึกษา ด้วยการบริจาคทรัพย์ สร้างโรงเรียนไทยรัฐวิทยาถึง 101 แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้เยาวชนไทยมีสถานที่ศึกษาเล่าเรียน อีกทั้งได้ก่อตั้งมูลนิธิไทยรัฐ เพื่อให้การอุปการะและเกื้อหนุนดูแลโรงเรียน ครูและนักเรียนตลอดมา นับเป็นตัวอย่างอันดีที่ภาคเอกชนอย่างหนังสือพิมพ์ไทยรัฐและมูลนิธิไทยรัฐได้เข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยเหลือประเทศชาติด้วยการสนับสนุนการศึกษาเช่นนี้ ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ที่ต้องการให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา

หวังว่า มูลนิธิไทยรัฐจะมีเจตจำนงที่แน่วแน่ที่จะพัฒนาโรงเรียนไทยรัฐวิทยาอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบแทนสังคม เป็นตัวอย่างของความร่วมมือ และการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา นับเป็นการกระทำที่ควรค่าแก่การยกย่อง และหวังเป็นอย่างยิ่งว่ามูลนิธิไทยรัฐจะสนับสนุนการศึกษา เพื่อสร้างคนและสร้างชาติต่อไป

นายมานิจ สุขสมจิตร ประธานกรรมการพิจารณาให้รางวัล “กำพล วัชรพล” และกรรมการบริหาร มูลนิธิไทยรัฐ กล่าวถึงการจัดงาน “กำพล วัชรพล” ประจำปี 2557 นับเป็นครั้งที่ 18 ซึ่งมูลนิธิไทยรัฐได้จัดขึ้นเพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีของนายกำพล วัชรพล อดีตผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เป็นผู้ให้กำเนิดโรงเรียนไทยรัฐวิทยาทั้ง 101 แห่งทั่วประเทศไทย และก่อตั้งมูลนิธิไทยรัฐ กิจกรรมภายในงาน แบ่งออกเป็น 3 กิจกรรม ได้แก่

กิจกรรมที่ 1) การมอบรางวัล “กำพล วัชรพล” สำหรับวิทยานิพนธ์ดีเด่นด้านสื่อสารมวลชน เพื่อช่วยยกระดับการทำวิทยานิพนธ์ของนิสิตนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งในปีนี้ วิทยานิพนธ์เรื่อง “อิสลามานุวัตรละครโทรทัศน์อิสลามในประเทศไทย” ของนายสุธี นามศิริเลิศ วิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท หลักสูตรนิเทศศาสตรมหาบัณฑิต คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับรางวัลชมเชย ประจำปี 2557

กิจกรรมที่ 2) การมอบรางวัลเชิดชูเกียรติแก่โรงเรียนไทยรัฐวิทยาดีเด่น ผู้บริหารโรงเรียนไทยรัฐวิทยาดีเด่น และครูโรงเรียนไทยรัฐวิทยาดีเด่น เป็นกิจกรรมเพื่อส่งเสริมและยกย่องบุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียนไทยรัฐวิทยาที่ได้ปฏิบัติตามแผนพัฒนาโรงเรียน ซึ่งคณะกรรมการมูลนิธิไทยรัฐและผู้แทนจาก สพฐ.ได้ร่วมกันกำหนดขึ้น

กิจกรรมที่ 3) การแสดงปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “กระบวนการเรียนรู้เพื่อสร้างพลเมืองยุคใหม่” โดย รมช.ศธ. (ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร)

การแสดงปาฐกถา เรื่อง

“กระบวนการเรียนรู้เพื่อสร้างพลเมืองยุคใหม่”

โดย ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

26 ธันวาคม 2557

การศึกษาเปลี่ยนโลกได้ "พลเมืองยุคใหม่" ต้องเปลี่ยนไปจากพลเมืองยุคปัจจุบัน

"ทุกคนเชื่อว่าคุณภาพของคนจะเป็นปัจจัยชี้ขาดในการกำหนดอนาคตของสังคม ดังคำกล่าวของเนลสัน แมนเดลา “การศึกษาคือสิ่งที่สำคัญที่สุดที่เราจะเปลี่ยนโลกได้” และความเชื่อที่ว่า “คุณภาพของคนกำหนดได้ด้วยการศึกษา” โดยมีผู้วิเคราะห์ว่า อนาคตของโลกจะมีปัจจัยขับเคลื่อนที่ต่างจากอดีต ทั้งหมดนี้จึงเป็นเหตุผลที่กล่าวถึง “พลเมืองยุคใหม่” และ “กระบวนการเรียนรู้ใหม่”

ปัจจัยขับเคลื่อนที่ต่างจากอดีต ได้แก่ 1) อายุมนุษย์ที่ยืนยาวขึ้น ปัจจุบันคนไทยมีอายุยืนยาวประมาณ 80-90 ปี ด้วยอายุที่ยืนยาวขึ้นทำให้ลักษณะการประกอบอาชีพและการเรียนรู้ต่างไปจากอดีต การเรียนรู้จะไม่ใช่เพื่อผู้ที่อยู่ในวัยเรียนเท่านั้น 2) อุปกรณ์และเครื่องมือที่มีความทันสมัยขึ้น หรือที่เรียกว่า “อุปกรณ์อัจฉริยะ” 3) โลกที่สามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์และเครื่องมือเข้าด้วยกันผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ไม่เฉพาะกับคอมพิวเตอร์เท่านั้น (Internet of Things) 4) นิเวศวิทยาใหม่ของสื่อ เป็นการสื่อสารที่ใช้สมรรถนะใหม่ ไม่ใช่การสื่อสารด้วยตัวหนังสือเท่านั้น แต่รวมถึงการสื่อสารด้วยรูปภาพด้วย 5) องค์กรจะมีความซับซ้อนขึ้น มีปฏิสัมพันธ์แบบใหม่ที่จะสร้างคุณค่าและการทำงานแบบใหม่ให้เกิดขึ้น และ 6) โลกเชื่อมต่อถึงกัน ทำให้คนทั้งโลกมีความหลากหลายค่อนข้างมาก ดังนั้น การดำเนินงานขององค์กรและการปรับตัวท่ามกลางความหลากหลายเป็นหัวใจสำคัญ

จากปัจจัยขับเคลื่อนดังกล่าว จึงมีความเชื่อว่าพลเมืองยุคใหม่ต้องเปลี่ยนไปจากพลเมืองยุคปัจจุบัน ด้วยการใช้กระบวนการเรียนรู้ที่ต่างจากปัจจุบัน การแสวงหากระบวนการเรียนรู้ที่ต่างจากปัจจุบัน ประเทศไทยไม่ต้องเริ่มจากศูนย์ แต่สามารถเรียนรู้ได้จากการติดตามการเปลี่ยนแปลงกระแสด้านการศึกษาของโลก

ซึ่งจะพบว่าต่างประเทศไม่ได้มองการศึกษาในมุมแคบว่าการศึกษาเป็นเรื่องของนักเรียน ครู หลักสูตร กระบวนการสอน หรือระบบการบริหารจัดการเท่านั้น หลายประเทศเห็นพ้องต้องกันว่าทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ดังภาษิตแอฟริกันที่กล่าวไว้ว่า “หากจะดูแลเด็กสักคน ต้องใช้คนทั้งหมู่บ้าน” หากประเทศไทยเป็นหมู่บ้านหนึ่ง มูลนิธิไทยรัฐก็เปรียบเสมือนสมาชิกคนหนึ่งของหมู่บ้าน ที่มาช่วยดูแลเด็ก

แนวโน้มกระบวนการเรียนรู้ใหม่ เพื่อสร้าง "ทักษะในการดำรงชีวิต" มากกว่าเรียนเพื่อวิชาความรู้

แนวโน้มการเรียนรู้กระแสใหม่จากทั่วโลกมีนัยยะต่อการพัฒนาครู หลักสูตร ระบบการจัดการเรียนการสอน และการบริหารจัดการ ดังเช่นโครงการ “จับกระแสความเคลื่อนไหวและนวัตกรรมในการจัดการศึกษาและพัฒนาเด็กและเยาวชน” (INTREND) ซึ่งเป็นโครงการของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มีแนวโน้มสำคัญ 3 ประการ คือ 1) ทิศทางกระบวนการเรียนรู้ใหม่ 2) ทิศทางเนื้อหาการเรียนรู้ใหม่ และ 3) ทิศทางระบบบริหารจัดการใหม่ กล่าวสรุปได้ว่า กระบวนการเรียนรู้ใหม่เป็นการเปิดโลกการเรียนรู้ ที่นอกเหนือจากการเรียนรู้ 8 กลุ่มสาระ เพื่อสร้างทักษะสำคัญในการดำรงชีวิตมากกว่าวิชาความรู้ เช่น ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 (3R 7C 2L)

3R คือ ทักษะพื้นฐาน ได้แก่ การอ่าน (Reading) การเขียน (Writing) และการคิดคำนวณ (Arithmetic)

7C คือ ทักษะเท่าทันโลก ได้แก่ การมีวิจารณญาณ (Critical thinking & problem solving) ความสร้างสรรค์ (Creativity & innovation) การทำงานเป็นทีม (Collaboration & teamwork & leadership) ความเข้าใจพหุวัฒนธรรม (Cross-cultural understanding) การสื่อสารเป็น (Communication, information & media literacy) ความรู้เท่าทันเทคโนโลยี (Computing & media literacy) ความพร้อมด้านอาชีพ (Career & learning self-reliance change)

2L คือ ทักษะการเรียนรู้และความเป็นผู้นำ (Learning & leadership) การจัดกระบวนการเรียนรู้แบบใหม่นี้ จะเห็นได้ว่าการเรียนไม่ได้เกิดเฉพาะในห้องเรียนอีกต่อไป และต้องเปลี่ยนสภาพแวดล้อมของผู้เรียนให้เป็นแหล่งเรียนรู้ให้ได้

กระบวนการเรียนรู้ใหม่ ได้แก่ 1) การเรียนรู้บนฐานปัญหา (Problem-Based Learning) เพื่อเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์และการแก้ปัญหา 2) การเรียนรู้บนฐานการวิจัย (Research-Based Learning) เป็นการสอนให้ถามและตอบคำถาม เพื่อกระตุ้นความใฝ่รู้และทักษะ 3) การเรียนรู้คู่กับการทำงาน (Work-Based Learning) เพื่อเสริมทักษะความพร้อมด้านอาชีพไปพร้อมกับการเรียน และ 4) การเรียนรู้คู่กับการบริการ (Service Learning) เพื่อสร้างทักษะชีวิตและจิตสำนึกในหน้าที่ต่อสังคม อีกทั้งมีเนื้อหาความรู้ใหม่ เช่น การเตรียมความพร้อมเพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคม เป็นเนื้อหาที่มีความหมายต่อชีวิตและคุณค่าของชีวิตต่ออนาคต และไม่มีคำตอบตายตัว การสร้างทักษะชีวิต (Life skills) ให้ครอบคลุมโจทย์ที่จะมาใหม่ในอนาคต อาทิ ปัญหาความรุนแรงและเพศในกลุ่มเยาวชน และความขัดแย้งในสังคม เป็นต้น และการสร้างทักษะการทำงาน เพื่อการเตรียมความพร้อมในการประกอบอาชีพ (Career-Oriented Curriculum)

จึงต้องเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอนที่เน้น "การเรียนรู้คู่กับการทำงาน"

กว่าสิบปีที่ผ่านมา คนไทยส่วนใหญ่ออกจากระบบการศึกษาเพื่อประกอบอาชีพ ไม่ได้ศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย แต่ยังมีการเรียนการสอนที่มุ่งสู่การศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา

จึงต้องเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอนที่เน้นการเรียนรู้คู่กับการทำงาน เพื่อให้ผู้เรียนมีความเข้าใจเกี่ยวกับอาชีพมากขึ้น อาจจะต้องทำแผนที่อาชีพ (Occupation Map) ของแต่ละพื้นที่ เพื่อดูว่าในแต่ละพื้นที่มีอาชีพอะไรบ้างที่สามารถทำได้ ต้องให้ผู้เรียนเข้าใจเรื่องการจัดการการเงิน การลงทุน หรือเศรษฐศาสตร์ในชีวิตประจำวัน หากเป็นวิชาที่เกี่ยวกับกลุ่มวิชาช่าง ก็ต้องอาศัยโรงงานหรือสถานประกอบการในการจัดการเรียนรู้ สำหรับวิชาที่เกี่ยวกับการเกษตร ก็ต้องจัดการเรียนรู้บนพื้นที่ทางการเกษตร อีกทั้งต้องมีระบบการบริหารจัดการใหม่ คือกระจายอำนาจออกไป เพื่อลดขนาดของการจัดการของภาครัฐ

ขณะนี้ รัฐบาลอยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำโครงการนำร่องการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ เนื่องจากประเทศไทยมีขนาดใหญ่ มีความซับซ้อนและหลากหลายเกินไปที่จะมีรูปแบบการจัดการศึกษาแบบเดียว ในการดำเนินการจะต้องอาศัยระบบข้อมูลเชิงพื้นที่ค่อนข้างมาก และมีการคำนวณค่าใช้จ่ายรายหัวด้วย เพื่อให้เด็กและเยาวชนทุกคนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียม แต่ความไม่เท่าเทียมกันในด้านปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคม ทำให้ปัจจุบันไม่สามารถจัดการศึกษาที่จะสนองตอบเป้าหมายทางสังคม การจัดการศึกษาที่มีความเท่าเทียมและเป็นธรรมได้

โจทย์ใหม่ของความสำเร็จที่จะนำไปสู่การมีงานทำและการใช้ชีวิตอย่างเท่าทัน คือ "ประชาชน และการมีส่วนร่วม"

ภาวะว่างงานของคนไทยในปัจจุบัน แสดงถึงการศึกษาที่มุ่งสู่การเรียนมหาวิทยาลัยไม่สามารถประกันการมีงานทำ แต่คนไทยยังติดมโนทัศน์เดิมว่าต้องเรียนจบระดับอุดมศึกษาจึงจะมีงานทำ จึงต้องมีการทบทวนว่า ระบบการเรียนรู้ของไทย ซึ่งเดิมกล่าวถึงแต่โจทย์วิชาการ แต่ไม่ตอบโจทย์ชีวิตและความต้องการของประเทศได้

จึงต้องเดินไปสู่โจทย์ใหม่ คือการมีงานทำ การมีทักษะความคิด ความฉลาดในการใช้ชีวิต และการพร้อมเข้าสู่โลกของการทำงานมากขึ้น โจทย์ใหม่ที่จะนำไปสู่การมีงานทำและการใช้ชีวิตอย่างเท่าทันจะสำเร็จได้ ต้องนึกถึงประชาชนทั้งหมด และทุกภาคส่วนต้องเข้าไปช่วย เป็นการจัดการศึกษาเพื่อปวงชน (Education for All) ที่ไม่ได้หมายถึงผู้ที่อยู่ในวัยเรียนเท่านั้น แต่ต้องรวมถึงประชากรวัยแรงงานซึ่งเป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และประชากรสูงวัยด้วย เพื่อให้ประเทศไทยสามารถหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง

ระบบการบริหารจัดการใหม่ของต่างประเทศ มีการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนมากขึ้น มีเวทีวิพากษ์วิจารณ์การศึกษา โดยอาศัยองค์กรและทุกภาคส่วน เช่น สื่อ เป็นกลไกที่จะทำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการวิพากษ์วิจารณ์การศึกษาและการจัดงบประมาณเพื่อการศึกษา ผู้ที่ออกจากระบบการศึกษาในประเทศไทย ไม่มีโอกาสกลับเข้ามาในระบบได้อีก เพราะระบบการศึกษาของไทยมีความแข็งตัว ไม่เปิดโอกาสให้คนทำงานกลับเข้ามาเรียนหนังสือมากนัก ในบางพื้นที่ที่มีเด็กพิการ ก็ต้องมีการวิพากษ์วิจารณ์การศึกษาเพื่อให้มีการจัดการศึกษาที่อ่อนตัวลง และสามารถนำเด็กพิการเข้ามาเรียนได้

บทบาทของรัฐบาลกลางควรเปลี่ยนจากการเป็นผู้จัดการศึกษา กลายเป็น "ผู้จัดหาบริการ"

จากการที่ภาคเอกชน บริษัทหลายแห่งเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษามากขึ้น ไม่ใช่รัฐบาลกลางอีกต่อไป บทบาทของรัฐบาลกลางก็จะเปลี่ยนไป จากการเป็นผู้จัดการศึกษากลายเป็นผู้จัดหาบริการ รัฐบาลกลางของประเทศที่ประสบความสำเร็จในเรื่องก็เปลี่ยนบทบาทจากผู้จัด เป็นผู้ให้บริการแก่ประชาชน เพื่อเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ

นอกจากนี้ การจัดการศึกษาแบบรองเท้าเบอร์เดียว เสื้อเบอร์เดียว หรือเสื้อโหล จะต้องเปลี่ยนไป ต้องเป็นการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่มากขึ้น ทั้งเรื่องหลักสูตร การเรียนรู้ การวัดและประเมินผล

การสร้างพลเมืองรุ่นใหม่จะไม่มีสูตรสำเร็จรูปอีกต่อไป คนไทยจะต้องหลุดจากความคิดเดิมที่ว่า ความสำเร็จของการศึกษา หมายถึง ผู้ที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาดี แต่เป้าหมายการศึกษาที่แท้จริงคือ ความสมดุลของการใช้ชีวิต การศึกษาที่นำไปสู่การมีสัมมาชีพและการอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้

ย้ำให้เห็นว่า "ผู้บริหารและครู" คือบทบาทสำคัญที่สุด ต่อการขับเคลื่อนกระบวนการเรียนรู้เพื่อสร้างพลเมืองยุคใหม่

ในการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ครูเป็นผู้มีบทบาทสำคัญมาก จึงต้องพยายามขับเคลื่อนผู้บริหารและครูให้มีทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา และจิตวิทยาการเรียนรู้ของผู้เรียนยุคใหม่ ครูจะต้องทำให้เกิดการเรียนแบบมีปฏิสัมพันธ์ มีกระบวนการเรียนรู้ที่เป็นการปฏิบัติจริง ถูกจริตของคนรุ่นใหม่ มีความประณีต และเหมาะสมกับผู้เรียนเป็นรายบุคคล รวมถึงการมีระบบวัดและประเมินผลที่สามารถพัฒนาการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน และพัฒนาการเรียนการสอนให้กับครูได้

ในพื้นที่การเรียนรู้ใหม่ ครูอาจจะต้องใช้กิจกรรมทางเลือกและเทคโนโลยีสารสนเทศจะมีความสำคัญมากขึ้น กระบวนการการเรียนรู้ใหม่ที่ช่วยพัฒนาครูจะต้องไม่ใช่จากการฝึกอบรม (Training) แต่เป็นการสอนงาน (Coaching) การเรียนรู้จากประสบการณ์สะสมซึ่งกันและกัน เพราะครูไม่สามารถพัฒนาได้ด้วยการสอนนักเรียนหรือการฝึกอบรมเพียงอย่างเดียว

การสร้างพลเมืองยุคใหม่ จึงต้องเปลี่ยน Heart - Head - Hand

การสร้างพลเมืองยุคใหม่ ต้องเปลี่ยนจิตและใจ (Heart & Head) จากนั้นจึงจะเปลี่ยนมือ (Hand) หรือ วิธีปฏิบัติได้ ต้องมีกระบวนการเรียนรู้ เนื้อหาสาระ ระบบการบริหารจัดการใหม่ โดยทุกฝ่ายต้องเข้ามามีส่วนร่วมด้วย

สุดท้ายนี้ ขอขอบคุณมูลนิธิไทยรัฐ และทุกฝ่ายในสังคมที่ช่วยกันขับเคลื่อนการสร้างพลเมืองยุคใหม่ ขอชื่นชมผู้บริหาร ครูอาจารย์ที่ได้รับรางวัลจากมูลนิธิฯ เพื่อให้มีกำลังใจในการทำงานต่อไป"

กุณฑิกา พัชรชานนท์

บัลลังก์ โรหิตเสถียร

สรุป/รายงาน

27/12/2557

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ