กสร. เปิดประชาพิจารณ์ นโยบายและแผนระดับชาติต้านแรงงานเด็กฉบับแรกของประเทศ

ข่าวทั่วไป Thursday February 19, 2015 17:53 —สำนักโฆษก

กระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จัดประชาพิจารณ์ผลงานวิจัย เรื่อง “การดำเนินงานตามนโยบายและแผนระดับชาติ เพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย ปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๕๒ – ๒๕๕๗” เพื่อเป็นการนำเสนอผลการศึกษาต่อทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนเพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อผลการดำเนินงานตามนโยบายและแผนดังกล่าว รวมไปถึงการประชาพิจารณ์ร่างนโยบายและแผนระดับชาติเพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย ปีงบประมาณ ๒๕๕๘ – ๒๕๖๒ โดยมี นายพีรพัฒน์ พรศิริเลิศกิจ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เป็นประธานพิธีเปิด ในวันจันทร์ที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ ณ โรงแรมมารวยการ์เด้น กรุงเทพมหานคร

นายพีรพัฒน์ พรศิริเลิศกิจ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า ประเด็นปัญหาเรื่องแรงงานเด็กในประเทศไทยถือเป็นประเด็นร้อนที่ถูกจับตามองจากนานาประเทศ เนื่องจากมีความเชื่อมโยงกับปัญหาการค้ามนุษย์ ความสำคัญประการหนึ่งที่จะส่งผลให้การดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวสำเร็จได้ คือ ความเข้าใจในความหมายของคำว่า “แรงงานเด็ก (Child Labour)” ซึ่งตามความหมายขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ หมายถึง การให้เด็กทำงานที่เป็นอันตรายต่อสวัสดิภาพของเด็ก และขัดขวางโอกาสทางการศึกษาหรือพัฒนาการของเด็ก รวมถึงการดำรงชีพของเด็กในอนาคต ทั้งนี้ งานที่เข้าข่ายการใช้แรงงานเด็ก คือ งานที่โดยธรรมชาติของงานและวิธีทำงานเป็นอันตรายต่อเด็ก ทารุณกรรมต่อเด็กและแสวงประโยชน์โดยมิชอบจากเด็ก ตลอดจนทำให้เด็กไม่ได้รับโอกาสทางการศึกษา ดังนั้น จึงไม่ใช่เด็กทำงานทุกคนจะถูกถือว่าเป็นแรงงานเด็ก เพราะยังมีกลุ่มเด็กที่สามารถทำงานได้ถูกต้องตามกฎหมาย คือกลุ่มอายุ ๑๕ – ๑๘ ปี และกลุ่มเด็กที่ทำงานบ้านช่วยพ่อแม่ จึงจำเป็นต้องแบ่งกลุ่มเด็กดังกล่าวออกไปตามอายุและความต้องการของเด็กแต่ละกลุ่ม อาทิ กลุ่มเด็กเล็กที่ติดตามพ่อแม่มาในที่ทำงานต้องได้รับการดูแลช่วยเหลือ ตามความเหมาะสม เช่น การให้เด็กเข้าสู่ระบบการศึกษา ส่งเสริมให้มีศูนย์เลี้ยงเด็กในบริเวณใกล้เคียงหรือในสถานประกอบกิจการ เพื่อกันไม่ให้เด็กเข้ามาในบริเวณที่ทำงาน ก่อให้เกิดการเข้าใจผิดของคนภายนอกว่ามีการใช้แรงงานเด็ก และในส่วนของเด็กที่สามารถทำงานได้ตามกฎหมาย นายจ้างสามารถจ้างได้แต่ต้องเป็นงานที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจ ศีลธรรม และพัฒนาการของเด็ก อีกทั้งไม่เป็นอุปสรรคต่อการศึกษาหรือฝึกอาชีพและเป็นงานที่เกื้อหนุนให้เด็กได้รับประสบการณ์ที่ดีในเบื้องต้นของชีวิตการทำงาน และต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ ด้วย

และในวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ ๑๘๒ ว่าด้วยการห้ามและการดำเนินการโดยทันทีเพื่อขจัดรูปแบบที่เลวร้ายที่สุดของการใช้แรงงานเด็ก โดยมีกลไกการดำเนินงานคือ คณะกรรมการระดับชาติเพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย โดยมี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ เป็นประธาน อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเป็นเลขานุการและคณะกรรมการ พร้อมทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมถึงองค์กรพัฒนาเอกชนที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นคณะกรรมการและได้มีการจัดทำนโยบายและแผนระดับชาติเพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย ปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๕๒ – ๒๕๕๗ ซึ่งถือเป็นแผนฉบับแรกของประเทศไทยที่จัดทำขึ้นโดยคำนึงถึงหลักของการไม่เลือกปฏิบัติ หลักสิทธิมนุษยชน หลักการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคมและเป็นไปตามพันธะกรณีข้อตกลงระหว่างประเทศเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ใช้เป็นแผนแม่บท จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องจัดทำประชาพิจารณ์ เพื่อเป็นการถอดบทเรียนความสำเร็จ ความก้าวหน้าในการดำเนินงาน รวมไปถึงปัญหาอุปสรรค ตลอดจนรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการกำหนดทิศทางนโยบายและแผนระดับชาติฯ ฉบับต่อไป

กระทรวงแรงงาน บริการด้วยใจ เพื่อคนไทยมีงานทำ

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ