รมว.แรงงาน ชู “แรงงานปลอดภัย” ยึดหลักทำงานร่วมกันแบบหุ้นส่วน เข้มข้น!! ด้านการคุ้มครองแรงงาน

ข่าวทั่วไป Tuesday September 1, 2015 16:03 —สำนักโฆษก

'รัฐมนตรีแรงงาน' กระตุ้นความเข้มแข็งข้าราชการ สร้างความปลอดภัยในการทำงาน เข้มข้น!! ด้านการคุ้มครองแรงงาน ทุกฝ่ายต้องทำงานร่วมกันแบบหุ้นส่วน ลดปัญหาความขัดแย้ง ดูแลครอบคลุมแรงงานห่างไกล แนะใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียง ลดภาระหนี้สิน

พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ตรวจเยี่ยมและรับฟังภารกิจของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ณ ห้องประชุม ศ. นิคม จันทรวิทุร ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน โดยมีนายพีรพัฒน์ พรศิริเลิศกิจ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานให้การต้อนรับ โอกาสนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้มอบนโยบายและแนวทางการปฏิบัติราชการว่า การดำเนินงานของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานต้องถือว่าเป็นส่วนที่ทำให้แรงงานมีความมั่นคง ชีวิตการทำงานมีความปองดองสมานฉันท์มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลและต่อเนื่องจากพลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ทั้งนี้ จะสานต่อโยบายเหล่านั้นเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

“อยากให้สนใจในเรื่องของการสร้างความปลอดภัยในการทำงาน การคุ้มครองสิทธิแรงงาน กระบวนการแรงงานสัมพันธ์ เพราะการคุ้มครองแรงงานด้านความปลอดภัยถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ สถานประกอบการทุกแห่งจะต้องมีการรักษาความปลอดภัยในการทำงาน ทั้งนี้ เพื่อป้องกันอันตรายจากการทำงานและสร้างความเชื่อมั่นให้แรงงานในการปฏิบัติงาน จากข้อมูลด้านอุบัติเหตุอันเนื่องมาจากการทำงานที่ลดลงต้องขอชื่นชมการทำงานของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในการให้ความสำคัญในการรณรงค์เรื่องความปลอดภัยในการทำงาน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวต่อว่า สำหรับเรื่องแรงงานสัมพันธ์ ข้อพิพาทแรงงาน จะต้องเป็นการทำงานร่วมกันของทุกฝ่ายแบบหุ้นส่วน มีความเอื้ออาทรต่อกัน อาศัยหลักการพูดจากัน เพื่อไม่ให้เกิดการหยุดงานเพื่อร้องเรียนในเรื่องต่างๆ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ต้องดูแลผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย ทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง ให้มีความรับผิดชอบของแต่ละฝ่ายบนพื้นฐานของการทำงานร่วมกัน ภายใต้กฎหมายคุ้มครองแรงงานและกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ จะต้องมีการสร้างความเข้าใจให้นายจ้างลูกจ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับลูกจ้างให้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องสิทธิ หน้าที่ รวมทั้งปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานอย่างทั่วถึง และเน้นเป็นพิเศษกับแรงงานที่อยู่ห่างไกลและยากแก่การเข้าถึง แรงงานรับเหมาช่วง (ห้องแถว)

"ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต้องติดตามความเคลื่อนไหว สถานการณ์ที่อาจมีส่วนให้นายจ้าง ลูกจ้างกระทำการอันหนึ่งอันใดที่จะก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่ออีกฝ่ายหนึ่ง และก่อให้เกิดเป็นชนวนปัญหาขึ้น ซึ่งกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจะต้องติดตามและหาทางแก้ไขปัญหานั้นในเบื้องต้นโดยเร็ว ซึ่งต้องระวัง ป้องปรามเพื่อไม่ให้เกิดปัญหารุกรามก่อให้เกิดเป็นปัญหาใหญ่เกินกว่าที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานหรือกระทรวงแรงงานจะแก้ไขได้ นอกจากนี้ ต้องให้ความสำคัญเรื่องของการจัดทำฐานข้อมูลของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เพราะหากขาดฐานข้อมูลที่รอบครอบและแม่นยำก็คงทำงานไม่ได้ คงจะต้องมีการฟื้นฟู ทบทวนเรื่องของฐานข้อมูล” พลเอก ศิริชัย กล่าว

พลเอก ศิริชัย กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สิ่งสำคัญอีกประการในภารกิจของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน คือ การปลูกจิตสำนึกเรื่องความปลอดภัยในการทำงานของนายจ้าง สถานประกอบการ ลูกจ้าง รวมถึงทุกส่วนที่รับผิดชอบในเรื่องนี้ แม้แต่ข้าราชการที่มีภารกิจรับผิดชอบงาน ที่จะต้องมีจิตสำนึกที่จะเข้าไปดูแลทุกข์สุข ดูแลสวัสดิการ คุ้มครองแรงงาน เรื่องความปลอดภัยในการทำงานยังต้องรณรงค์กันอย่างจริงจังและต่อเนื่องต่อไป อย่างไรก็ตาม อยากให้มีการสอดแทรกความรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียง มุ่งเน้นความตระหนักให้ลูกจ้างรู้จักการออม ลดภาระหนี้สิน โดยกำหนดเข้าไปในการฝึกอบรมหลักสูตรต่างๆ ขององค์กรที่เกี่ยวข้องในทุกหลักสูตร

“ผมมีความตั้งใจที่มาทำงานที่กระทรวงแรงงาน และดีใจที่ได้มีโอกาสมาทำงานร่วมกับทุกคน เพื่อช่วยกันสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กร สร้างความเข้มแข็งให้กับรัฐบาลในการที่จะปูพื้นฐานทุกส่วนราชการ ให้สามารถที่จะเข้มแข็งและมุ่งเดินหน้าไปสู่ความเจริญก้าวหน้าของประเทศชาติต่อไป ขอให้ข้าราชการมีความรัก ความสามัคคี ความปองดองสมานฉันท์ การทำงานจะต้องทำงานเชิงรุก อย่ารอให้มีเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้วไปแก้ปัญหา หมั่นตรวจตรา กำกับดูแลในภารกิจงานที่เกี่ยวข้องให้เกิดความเรียบร้อย อยากให้มีการประชาสัมพันธ์และสร้างความรับรู้ให้กลุ่มเป้าหมายต่างๆ ที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานทำงานเกี่ยวข้องด้วยได้รับทราบอย่างทั่วถึง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวทิ้งท้าย

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ