ผู้อำนวยการใหญ่องค์การยูเนสโก ร่วมถวายราชสดุดีเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

ข่าวทั่วไป Wednesday September 27, 2017 15:40 —สำนักโฆษก

ผู้อำนวยการใหญ่องค์การยูเนสโก ร่วมถวายราชสดุดีเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

วันนี้ (26 กันยายน พ.ศ. 2560) พลโทวีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยถึงรายงานจากสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงปารีส ว่า สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีสและคณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การยูเนสโก ได้เป็นเจ้าภาพร่วมกับองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (พสล.) จัดการประชุมถวายราชสดุดีเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร โดยมีนางอิริน่า โบโคว่า (Ms.Irina Bokova) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การยูเนสโก พร้อมด้วยคณะผู้แทนถาวรประจำองค์การยูเนสโกประเทศต่าง ๆ และผู้แทนองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (พสล.) เข้าร่วม

การประชุมถวายราชสดุดีฯ ภายใต้หัวข้อ Creating Sustainable Society of Peace : A Legacy of King Bhumibol Adulyadej of Thailand เป็นวันแรกของการประชุม International Peace Conference จัดโดยองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (พ.ส.ล.) และสำนักงานผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การยูเนสโกและ Pure land Learning College Association Inc. ระหว่างวันที่ 26 - 28 กันยายน 2560 โดยมีนายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว เอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส เป็นผู้กล่าวเปิดและต้อนรับผู้เข้าประชุม และมีบุคคลสำคัญ อาทิ นางอีริน่า โบโกวา ผู้อำนวยการใหญ่องค์การยูเนสโก นายไมเคิล ว็อป ประธานคณะกรรมการบริหารองค์การยูเนสโก ประธานกลุ่ม G77 และจีน ประธานกลุ่มเอเชีย-แปซิฟิก ประธานคณะกรรมการอาเซียนประจำกรุงปารีส และผู้แทนองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (พสล.) จากประเทศต่างๆ ทั้ง จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ มาเลเซีย เนปาล สหรัฐฯ เข้าร่วมงานเพื่อเทิดพระเกียรติและรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ทรงประกอบพระราชกรณียกิจต่างๆ ในการเสริมสร้างสันติสุข

โดยผู้แทนจากประเทศต่าง ๆ ได้กล่าวเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ซึ่งทรงเป็นที่เคารพรักของคนไทยอย่างแท้จริง และมีพระราชกรณียกิจเป็นที่ประจักษ์และเป็นที่ยอมรับจากนานาชาติดังที่ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลต่างๆ จากองค์การระหว่างประเทศ อีกทั้ง ทรงเป็นกษัตริย์ที่อยู่เคียงข้างประชาชนและทรงเป็นเสาหลักของประเทศไทย ทรงเป็นผู้บุกเบิกแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งเป็นพื้นฐานในการพัฒนาสังคม และสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนในสังคม อันเป็นหัวข้อหลักของการประชุมในครั้งนี้ ทั้งนี้ ในส่วนของนางอีริน่า โบโกวา ผู้อำนวยการใหญ่องค์การยูเนสโก ได้กล่าวสดุดีถึงเศรษฐกิจพอเพียงว่ามีความสำคัญยิ่งในโลกปัจจุบัน และยูเนสโกเห็นพ้องว่าหลักการดังกล่าวสามารถเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนภายในปี ค.ศ. 2030 ขององค์การสหประชาติ (Sustainable Development Goals : SGDs) นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ยังทรงตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษา และทรงปรารถนาให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษา เพราะไม่เพียงเพื่อสร้างโอกาสในชีวิต การศึกษายังช่วยสร้างสังคมที่ปราศจากความขัดแย้งได้ด้วย

ช่วงบ่าย เป็นการเสนอแนวคิดเชิงวิชาการในระดับโลกว่าด้วยศาสตร์ของพระราชาสู่การพัฒนาที่อย่างยั่งยืน ในหัวข้อ การสร้างสังคมแห่งสันติภาพที่ยั่งยืน - มรดกในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช “Creating Sustainable Society of Peace : A Legacy of King Bhumibol Adulyadej of Thailand” ซึ่งสอดคล้องกับกระบวนทัศน์การพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) จากนักวิชาการนานาชาติในหลากหลายมิติ อาทิ ศาสตราจารย์ สตีเฟน บี ยัง (Professor Stephen B. Young) Global Executive Director ของ Caux Round Table จากสหรัฐอเมริกา กล่าวหัวข้อ จะอยู่อย่างไรในโลกที่แตกแยก – พุทธจริยศาสตร์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช “Guidance for a broken world: the Buddhist Ethics of King Bhumibol of Thailand” เกี่ยวกับพระอัจฉริยภาพด้านพุทธจริยศาสตร์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในการแก้ไขปัญหาโลก อาทิ ความเหลือมล้ำทางสังคม ปัญหาความยากจน ปัญหาด้านการพัฒนา เป็นต้น นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เสนอหัวข้อ เศรษฐกิจพอเพียงสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน – พระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเชิงประจักษ์ “Sufficiency Economy to Sustainable Development Goals : His Majesty King Bhumibol Adulyadej’s Compassion in Action” ซึ่ง สศช. ได้บรรจุหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อให้ประเทศไทยมีการพัฒนาอย่างสมดุล ยั่งยืน และมีภูมิคุ้มกัน แสอดคล้องกับกรอบการพัฒนาที่องค์การสหประชาชาติ เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนภายในปี ค.ศ. 2030

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ