กรมควบคุมโรค-กทม.ร่วมขับเคลื่อนพ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มีผล 6 มี.ค.นี้

ข่าวทั่วไป Monday February 1, 2016 14:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงการประชุมพิจารณาและปรึกษาหารือ เรื่อง“แนวทางการขับเคลื่อนพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558"เพื่อเตรียมความพร้อมรับโรคติดต่อที่สำคัญๆ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 8 กันยายน 2558 และจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม 2559 เป็นต้นไป

สาระสำคัญของพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ที่ให้ความสำคัญกับการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคอุบัติใหม่และโรคติดต่อร้ายแรง อันเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพประชาชน พระราชบัญญัติฉบับนี้มี 60 มาตรา 9 หมวด ตามหลักการในกฎอนามัยระหว่างประเทศ 2548 (International Health Regulation 2005) เพื่อรับมือกับโรคติดต่อสำคัญๆให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น โรคติดต่อทางเดินหายใจตะวันออกกลาง(โรคเมอร์ส) ที่ต้องนำผู้ป่วยเข้าสู่การรักษาอย่างรวดเร็วและมีการแยกกักผู้สัมผัสเสี่ยงสูงให้ได้ครบถ้วนตามมาตรฐานการควบคุมโรค ในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีช่องทางเข้าออกระหว่างประเทศที่สำคัญ ทั้งทางอากาศและทางน้ำ เช่น สนามบินดอนเมือง ที่มีผู้โดยสารทั้งขาเข้าและขาออกจำนวนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในพระราชบัญญัติฉบับนี้ หมวดที่ 4 มาตราที่ 6 การจัดตั้งกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญที่เป็นประโยชน์ และเสริมพลังในการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคติดต่อให้กับประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครและประเทศไทย ให้มีสุขภาพที่ดีปลอดภัยจากโรคติดต่อต่างๆ

"พระราชบัญญัติฉบับนี้จะเป็นกฎหมายที่สำคัญที่ช่วยในการควบคุมโรคทั้งในกรุงเทพมหานครและในประเทศไทย โดยกฎหมายดังกล่าว มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเตรียมการรับการระบาดของโรคติดต่ออันตราย และเตรียมความพร้อมรองรับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขที่สำคัญ เพื่อให้ประชาชนได้รับการปกป้องจากโรคและภัยสุขภาพอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุม ทั่วถึงและเท่าเทียม และจากสถานการณ์โรคไข้เลือดออกที่มีแนวโน้มการระบาดในปีนี้ ประกอบกับข่าวการระบาดของ Zika Virus ในประเทศแถบลาตินอเมริกาและแคริบเบียน ทำให้มีความจำเป็นต้องพัฒนารูปแบบระบบการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรค ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ภายใต้ความร่วมมือของทั้งสองหน่วยงาน รวมทั้งภาคส่วนอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ผ่านคณะทำงานร่วม รวมถึงการยกระดับการประสานงานระหว่างศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านสาธารณสุขเพื่อตอบโต้ภาวะฉุกเฉินร่วมกัน เช่น กรณีสอบสวนควบคุมโรคติดต่อทางเดินหายใจตะวันออกกลาง(โรคเมอร์ส) และติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ร่วมกันอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนารูปแบบการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคในประชากรแรงงานต่างด้าวและแรงงานนอกระบบ เช่น การเฝ้าระวังโรคในแคมป์คนงานก่อสร้างที่มีโอกาสพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก อหิวาตกโรค วัณโรค โรคพิษสุนัขบ้า เป็นต้น"

สำหรับประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่มีประชากรมากถึง 1 ใน 6 ของทั้งประเทศ มีความซับซ้อนและหลากหลายของประชากรที่รวมกันมากกว่า 10 ล้านคน อย่างไรก็ตาม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรค ร่วมกับสำนักอนามัยและสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร อย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด เพื่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนในกรุงเทพมหานคร

นอกจากนี้ ในที่ประชุมได้มีการนำเสนอแนวทางการควบคุมโรคในรูปแบบใหม่ เช่น บางโคล่โมเดล เพื่อการควบคุมวัณโรค และคณะทำงาน Bangkok Dengue Unit (BDU) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมโรคไข้เลือดออก และ Zika Virus ซึ่งมียุงลายเป็นพาหะเช่นกัน โดยได้มีการอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวางก่อนจะนำไปขยายผลสู่การปฏิบัติเพื่อพัฒนางานควบคุมโรคติดต่อในเขตเมืองที่ยั่งยืนต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ