"สาทิตย์"ยันรัฐบาลเต็มที่ช่วยน้ำท่วม พร้อมออกมาตรการเพิ่มให้เข้าถึงปัญหา

ข่าวการเมือง Thursday October 28, 2010 13:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมชัย ฉัตรพัฒนศิริ ส.ส.นครราชสีมา พรรครวมชาติพัฒนา ตั้งกระทู้ถามสดรัฐบาลในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เรื่องการแก้ปัญหาน้ำท่วมว่า ปัญหาอุทกภัยครั้งนี้ถือเป็นครั้งใหญ่ที่สุดแต่เหตุใดรัฐบาลกลับจ่ายชดเชยค่าเสียหายเพียงแค่ครอบครัวละ 5,000 บาท และเป็นไปได้หรือไม่ที่จะเพิ่มเงินช่วยเหลือขึ้นเป็นครอบครัวละ 20,000 บาท

นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า นายกรัฐมนตรีแสดงความเป็นห่วงเรื่องนี้ตั้งแต่แรก โดยได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำอยู่ตลอด ทั้งนี้ การช่วยเหลือรัฐบาลมีหลายรูปแบบไม่ใช่เพียงแค่จ่ายเงิน 5,000 บาทเท่านั้น เพราะยังมีเงินช่วยเหลือของกรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัย ตลอดจนเงินจากองทุนช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยที่สำนักนายกรัฐมนตรีได้รับบริจาคจากประชาชนทั่วประเทศ ล่าสุด ได้เพิ่มวงเงินค่าทำศพให้เป็น 75,000-100,000 บาท แยกตามกรณีว่าผู้เสียชีวิตเป็นหัวหน้าครอบครัวหรือคนในครอบครัว

ส่วนมาตรการอื่นๆ นั้น ครม.ได้เปลี่ยนแปลงระเบียบเพื่อให้การเบิกจ่ายเงินช่วยเหลือมีความคล่องตัวยิ่งขึ้น โดยจากเดิมที่มีการอนุมัติวงเงินการเบิกจ่ายช่วยเหลือจังหวัดละ 50 ล้านบาท ซึ่ง ครม.ให้อธิบดีกรมบรรเทาและป้องกันสาธารณภัย ปลัดกระทรวงคลังอนุมัติได้เพิ่มสูงสุดเป็น 500 ล้านบาท แต่หากยังไม่เพียงพอก็ให้เป็นอำนาจของ รมว.คลังอนุมัติได้เพื่อเพิ่มความคล่องตัวได้

กรณีการจ่ายเงินช่วยเหลือ 5,000 บาทนั้น หลักการคือ 1.ต้องได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมฉับพลันและ 2.ท่วมขังเกิน 7 วัน โดยจ่ายเป็นครัวเรือน ซึ่งกระทรวงมหาดไทยที่เป็นผู้เสนอ และยืนยันว่ามีทะเบียนผู้ได้รับความเสียหายครบถ้วน และสามารถตรวจสอบยืนยันได้จากภาพถ่ายทางอากาศ ขณะที่วิธีการจ่ายเงินจะสะดวกและรวดเร็ว โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจพิจารณากันในวันที่ 1 พ.ย.นี้ โดยเบื้องต้นรัฐบาลพร้อมจ่ายเงินช่วยเหลือ 5,000 - 6,000 ล้านบาท

นายสาทิตย์ กล่าวด้วยว่า วันที่ 1 พ.ย.นี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเสนอมาตรการจ่ายชดเชยกับเกษตรกรที่ได้รับปัญหาจากพืชผลการเกษตรตามเกณฑ์เดิมไปก่อน คือ ข้าวได้ไร่ละ 600 บาท พืชสวนไร่ละ 800 บาท แต่รัฐบาลจะประเมินตัวเลขชดเชยใหม่ โดยจะประเมินต้นทุนจริง เมื่อมีการตกลงเรื่องวงเงินชดเชยแล้ว การจ่ายจะเกิดขึ้นทันที โดยรัฐบาลจะเพิ่มวงเงินที่ชดเชยกับเกษตรกรที่ปลูกข้าว, พืชผล และพืชไร่มากกว่าเดิมอย่างน้อย 3-4 เท่า

ด้านนายวิทยา บุรณศิริ ส.ส.พระนครศรีอยุธยา พรรคเพื่อไทย(พท.) ตั้งกระทู้ถามสดเรื่องการไร้ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการปัญหาภัยพิบัติของรัฐบาลว่า ที่ผ่านมาทั่วโลกชื่นชมประธานาธิบดีชิลีที่ให้ความเอาใจใส่ช่วยเหลือคนงานที่ติดอยู่ในเหมือง แต่เมื่อเทียบกับเหตุการณ์น้ำท่วมในประเทศไทย ชี้ให้เห็นว่านายอภิสิทธิ์ ไร้ภาวะความเป็นผู้นำมากจนทำให้การแก้ปัญหาไม่ทันการณ์

ทั้งนี้ในสมัยรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้แก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างเป็นระบบและบูรณาการ มีทั้งการป้องกัน บรรเทา เยียวยา แต่รัฐบาลนี้คนที่มาเป็นประธานแก้ปัญหาเป็นรัฐมนตรีประสำนักนายกรัฐมนตรี จ.ตรัง ซึ่งเป็นจังหวัดที่เล็กกว่า จ.นครราชสีมาที่ใหญ่อันดับหนึ่งของประเทศ แต่หากนายกรัฐมนตรีเห็นว่านายสาทิตย์สามารถแก้ปัญหาได้ก็ไม่เป็นไร

นายวิทยา กล่าวว่า หมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบมีจำนวน 14,000 หมู่บ้าน ประชาชน 5 แสนครัวเรือน แต่รัฐบาลได้ประกาศจ่ายเงินทันที 5,000 บาทกับครัวเรือนที่ได้รับกระทบนั้นเชื่อว่าจะติดเงื่อนไขมาก และอาจอนุมัติไม่ทันการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 2 พ.ย.นี้

ขณะที่นายสาทิตย์ ชี้แจงว่า การทำงานของรัฐบาลครั้งนี้ถือว่าประสานงานกว้างขวางมากที่สุด เช่น ภาคธุรกิจ สื่อ ภาคประชาสังคม ทุกภาคส่วนราชการ นายกรัฐมนตรีได้พูดเตือนตั้งแต่วันที่ 29 ส.ค.53 ในรายการเชื่อมั่นประเทศไทยว่า ครม.ได้กำชับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้ดูแลเอาใจกับผลกระทบที่เกิดขึ้นเพราะมีการเตือนภัยจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสั่งการให้สำนักงบดูแลงบประมาณจากปัญหาน้ำท่วมในภาคเหนือแล้ว แต่วันที่ 10 ต.ค.เหตุการณ์ฉับพลันมาก ซึ่งถือว่านายกรัฐมนตรีได้ทำหน้าที่กระตุ้นเตือนส่วนราชการทุกส่วน และได้สั่งให้ตั้งศูนย์ประสานงานภัยพิบัติ โดยให้ศาลากลางจังหวัดเป็นศูนย์แต่ละจังหวัด

นายสาทิตย์ กล่าวว่า การช่วยเหลือขณะนี้คือ การเยียวยา แต่หลัวจากจากน้ำลดจะต้องเร่งฟื้นฟูบรูณะทันที ซึ่งคงต้องใช้ระยะเวลา แต่รัฐบาลก็พร้อมโดยในการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจวันจันทร์ และประชุมคณะรัฐมนตรีวันอังคาร จะมีมาตรการออกมาหลายอย่าง เช่น มาตรการดูแลที่อยู่อาศัย เส้นทางคมนาคม การป้องกันเส้นทางอุทกภัยในครั้งต่อไป

สำหรับสถานการณ์อุทกภัยล่าสุดขณะนี้ พบว่าในพื้นที่น้ำท่วมขังที่กังวลมากคือ ฝั่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำป่าสัก จ.ลพบุรี, ลุ่มน้ำมูล, ลุ่มน้ำชี ซึ่งรัฐบาลได้ติดตามสถานการณ์วันต่อวัน ชั่วโมงต่อชั่วโมง แม้นายกรัฐมนตรีจะอยู่ที่เวียดนามแต่ได้สั่งการให้รายงานสถานการณ์น้ำทุกชั่วโมงให้รับทราบ อย่างไรก็ดี หลังจากนี้ในช่วงของการฟื้นฟูนั้น เรื่องใหญ่คือการวางผังเมืองใหม่ในอนาคตที่ต้องพูดคุยกันให้ละเอียดมากขึ้นเพราะภัยพิบัติในอนาคตมีความรุนแรง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ