In Focusการเมืองแดนซากุระถึงคราผลัดใบ ก่อนรอวันผลิบาน

ข่าวต่างประเทศ Wednesday June 8, 2011 15:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ในขณะที่บ้านเรากำลังคึกคักกับบรรยากาศการหาเสียงก่อนถึงวันเลือกตั้งในช่วงต้นเดือนหน้านั้น การเมืองประเทศเพื่อนบ้านไม่ใกล้ไม่ไกลอย่างญี่ปุ่น ก็กำลังร้อนระอุใกล้ถึงจุดเดือดเต็มที

ญี่ปุ่นได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่เปลี่ยนผู้นำรัฐบาลบ่อยที่สุดประเทศหนึ่ง โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ญี่ปุ่นมีนายกรัฐมนตรีถึง 5 คน หรือเท่ากับว่าญี่ปุ่นเปลี่ยนนายกฯเฉลี่ยปีละครั้งเลยทีเดียว ซึ่งผู้นำคนล่าสุดที่กำลังตกอยู่ในภาวะหมิ่นเหม่ที่จะตกเก้าอี้ก็คือ นายนาโอโตะ คัง ที่ขึ้นครองตำแหน่งครบ 1 ปี ในวันนี้ (8 มิ.ย.) พอดิบพอดี

หนึ่งปีบนเส้นทางวิบาก

นับตั้งแต่นาย จุนอิชิโร่ โคอิซูมิ ทำสถิติเป็นนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นยุคหลังสงครามโลกที่ครองตำแหน่งยาวนานที่สุดเป็นอันดับ 3 ด้วยระยะเวลา 5 ปี (26 เม.ย. 2544 — 26 ก.ย. 2549) จนถึงขณะนี้ ก็ยังไม่มีนายกฯคนใดได้เฉียดใกล้สถิติดังกล่าวอีกเลย ไล่ตั้งแต่นายชินโซ อาเบะ, ยาสุโอะ ฟูกูดะ, ทาโร อาโสะ และยูกิโอะ ฮาโตยามะ ซึ่งต่างก็ทำหน้าที่บริหารประเทศได้เฉลี่ยคนละหนึ่งปีเท่านั้น

เหตุการณ์เดจาวูดังกล่าวกำลังจะหวนกลับมาเกิดขึ้นอีกครั้งกับ นาโอโตะ คัง นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ที่กำลังถูกแรงกดดันจากทุกทิศทุกทางถาโถมเข้าใส่เพื่อบีบให้เขาก้าวลงจากตำแหน่ง ด้วยข้อหาไร้ความสามารถในการนำพาประเทศผ่านพ้นวิกฤตการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น

เส้นทางเดินในฐานะนายกฯของนายคังไม่ได้โรยด้วยกลีบซากุระ เพราะนอกจากเงินเยนแข็งค่าและเงินฝืดซึ่งเป็นปัญหายืดเยื้อเรื้อรังที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจของประเทศมานานหลายสิบปี รวมถึงการหาทางออกเรื่องการย้ายฐานทัพอากาศฟุเทนมะของกองทัพสหรัฐออกจากเกาะโอกินาว่าที่เขารับไม้ต่อมาจากอดีตนายกฯฮาโตยามะแล้ว นายคังยังต้องเผชิญกับสถานการณ์เฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นในวาระการดำรงตำแหน่งของเขาเองอีกด้วย

ลำดับเหตุการณ์สำคัญช่วงขวบปีแรกในสมัยนายกรัฐมนตรี นาโอโตะ คัง:

8 มิถุนายน 2553 -- นายนาโอโตะ คัง ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 94 ของประเทศญี่ปุ่น และคนที่ 29 ในยุคหลังสงครามโลก โดยนายคังเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปไตยญี่ปุ่น หรือ ดีพีเจ (Democratic Party of Japan: DPJ) คนที่ 2 ที่ได้ครองตำแหน่งผู้นำประเทศ ต่อจากนายยูกิโอะ ฮาโตยามะ หลังจากที่ก่อนหน้านั้นพรรคเสรีประชาธิปไตย หรือ แอลดีพี (Liberal Democratic Party: LDP) ครองอำนาจบริหารประเทศในฐานะแกนนำฝ่ายรัฐบาลมาอย่างยาวนานถึง 15 ปี (ตั้งแต่ปี 2537)

นายคังเริ่มต้นบทบาทหัวหน้ารัฐบาลอย่างมีความหวัง เมื่อผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศโดยสำนักข่าวเกียวโด เผยให้เห็นว่า คะแนนสนับสนุนคณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของนายคัง ดีดตัวขึ้นอย่างพรวดพราดเป็นรูปตัว V หลังจากที่เขาทำพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง โดยคะแนนสนับสนุนครม.ดีดขึ้นมาอยู่ที่ 61.5% จากระดับต่ำที่ 19.1% ของครม.ภายใต้การนำของอดีตนายกฯฮาโตยามะ ที่ทางเกียวโดได้สำรวจไว้ก่อนที่เขาจะประกาศลาออกจากตำแหน่งอย่างกะทันหัน

11 กรกฎาคม 2553 -- การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาญี่ปุ่น หรือสภาสูง (กลางสมัย) ซึ่งผลปรากฏว่าพรรคแอลดีพี ซึ่งเป็นพรรคแกนนำฝ่ายค้านได้รับชัยชนะเหนือพรรคดีพีเจ ทำให้ปัจจุบันพรรคฝ่ายรัฐบาลครองที่นั่งในวุฒิสภาเพียง 110 ที่นั่ง จากทั้งหมด 242 ที่นั่ง ซึ่งไม่ถึงกึ่งหนึ่งคือ 121 ที่นั่ง

7 กันยายน 2554 -- เกิดอุบัติเหตุเรือประมงของจีนชนเข้ากับเรือตรวจการณ์ของญี่ปุ่น ใกล้หมู่เกาะเซนกากุในเขตทะเลจีนตะวันออก ซึ่งเป็นพื้นที่พิพาทที่ทั้งสองชาติต่างแย่งกันครอบครองกรรมสิทธิ์ ส่งผลให้ทางการญี่ปุ่นจับกุมไต้ก๋งเรือประมงของจีน ก่อนที่จะปล่อยตัวในเวลาหลายวันต่อมา

เหตุการณ์นี้ได้กลายเป็นศึกใหญ่ที่ท้าทายความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับประเทศมหาอำนาจอันดับหนึ่งของเอเชีย และยังอาจถือเป็นมรสุมใหญ่ลูกแรกที่นายคังต้องเผชิญอีกด้วย ดังจะเห็นได้จากคะแนนนิยมของชาวญี่ปุ่นที่มีต่อการบริหารงานของคณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของนายกฯคังที่ลดลงเหลือเพียง 47.6% นอกจากนี้ ผลการสำรวจยังพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามถึง 72.3% เห็นว่ารัฐบาลญี่ปุ่นทำไม่ถูกที่ปล่อยตัวไต้ก๋งเรือประมงชาวจีนที่ถูกจับกุม

14 กันยายน 2553 -- นายคังได้รับเลือกจากส.ส.และสมาชิกพรรคดีพีเจให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคต่อไป โดยสามารถเอาชนะนายอิจิโร โอซาว่า อดีตเลขาธิการพรรคดีพีเจผู้ทรงอิทธิพลไปได้ ส่งผลให้นายคังยังคงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น

17 กันยายน 2553 -- นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นประกาศปรับคณะรัฐมนตรีครั้งแรก ด้วยความหวังจะช่วยเรียกคะแนนศรัทธาจากประชาชนให้กลับคืนมาได้อีกครั้ง หลังชาวญี่ปุ่นไม่พอใจการแก้ปัญหาข้อพิพาทกับจีน สืบเนื่องจากเหตุการณ์เรือประมงชนเรือตรวจการณ์

14 มกราคม 2554 -- นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นประกาศปรับคณะรัฐมนตรีครั้งที่ 2 ด้วยความหวังที่จะฟื้นคะแนนนิยมในหมู่ประชาชน และปรับความสัมพันธ์กับพรรคฝ่ายค้าน อย่างไรก็ตาม อดีตนายกฯฮาโตยามะวิจารณ์การปรับครม.ครั้งนี้ของนายคัง โดยระบุว่านายคังดึงแต่พวกพ้องของตนเข้ามา

11 มีนาคม 2554 -- และแล้วนาโอโตะ คัง ก็ต้องเผชิญบททดสอบที่ท้าทายที่สุดในชีวิตจากศึกสามเส้า ได้แก่ แผ่นดินไหว สึนามิ และวิกฤตนิวเคลียร์ ซึ่งนายคังประกาศให้เป็นวิกฤตการณ์ที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นยุคหลังสงคราม โดยส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 23,000 คน ตลอดจนสร้างความเสียหายอย่างมิอาจประเมินค่า ทั้งที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้

อย่างไรก็ดี เหตุภัยพิบัติครั้งเลวร้ายได้ช่วยให้ความขัดแย้งทางการเมืองยุติลงได้ช่วงหนึ่ง เมื่อทุกฝ่ายหันหน้าเข้าหากันเพื่อกอบกู้และเยียวยาประเทศชาติ

10 เม.ย. -- ก่อนครบรอบหนึ่งเดือนเหตุแผ่นดินไหว 9.0 ริกเตอร์เพียงหนึ่งวัน ญี่ปุ่นได้จัดการเลือกตั้งท้องถิ่นทั่วประเทศรอบแรกขึ้น ซึ่งผลปรากฏว่าพรรคดีพีเจซึ่งนำโดยนายนาโอโตะ คัง ต้องประสบกับความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ โดยผลการเลือกตั้งที่ออกมาย่ำแย่บ่งชี้ว่า ประชาชนไม่พอใจวิธีการแก้ปัญหาของนายคังหลังเกิดพิบัติภัยทางธรรมชาติครั้งใหญ่ รวมถึงวิกฤตการณ์ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิม่า ไดอิจิ ที่ยังไม่มีวี่แววว่าจะยุติลง

1 มิถุนายน 2554 -- ฝ่ายค้านยื่นญัตติไม่ไว้วางใจนายกฯและครม.ญี่ปุ่นต่อสภาผู้แทนราษฎรหรือสภาล่าง ด้วยสาเหตุที่นายคังไม่มีความสามารถในการเป็นผู้นำประเทศ ระบุการฟื้นฟูประเทศหลังเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิล่าช้ากว่าที่หลายฝ่ายคาดหวังไว้มาก ซึ่งหากญัตติไม่ไว้วางใจผ่านความเห็นชอบจากสภาฯ นายคังและคณะรัฐมนตรีก็จะต้องลาออกทั้งคณะ หรือยุบสภา

2 มิถุนายน 2554 -- สภาผู้แทนราษฎรญี่ปุ่นได้ลงคะแนนเสียงคัดค้านญัตติไม่ไว้วางใจนายนาโอโตะ คัง ด้วยคะแนน 293 ต่อ 152 เสียง ซึ่งช่วยต่อเวลาให้นายคังสามารถนั่งเก้าอี้นายกฯต่อไปอีกสักระยะตามที่ได้ประกาศเจตนารมณ์ก่อนการลงมติว่า เขาจะลาออกจากตำแหน่งนายกฯเมื่อการควบคุมวิกฤตนิวเคลียร์และการฟื้นฟูประเทศจากภัยพิบัติมีความคืบหน้าอย่างชัดเจน

"ผมต้องการให้คนรุ่นใหม่เข้ามารับช่วงภาระความรับผิดชอบต่างๆ ทันทีที่ผมเสร็จสิ้นบทบาทหน้าที่ในการจัดการกับภัยพิบัติครั้งนี้" นายคังกล่าวต่อสมาชิกพรรคดีพีเจของเขา

สลายขั้วตั้งรัฐบาลผสมดีพีเจ+แอลดีพี... ความหวังใหม่ของการเมืองญี่ปุ่น

อย่างไรก็ตาม แม้รอดตัวจากญัตติไม่ไว้วางใจมาได้ แต่ดูเหมือนว่านายคังอาจยื้อเวลาในการเป็นหัวหน้ารัฐบาลไม่ได้ดังใจปรารถนาเสียแล้ว เมื่อพรรคฝ่ายค้านและแม้แต่สมาชิกพรรคดีพีเจเองได้ออกมาเคลื่อนไหวกดดันอีกครั้งให้นายคังลาออก สืบเนื่องจากถ้อยแถลงของนายคังที่ออกมาประกาศภายหลังรับทราบผลการลงคะแนนที่จุดประเด็นให้หลายฝ่ายตีความว่าเขามีแผนที่จะทำหน้าที่ต่อไปจนถึงประมาณเดือนมกราคมปีหน้าเป็นอย่างช้า ซึ่งพวกเขามองว่านานเกินไป

ท่ามกลางปัญหาที่ยังไม่มีทางออก การจัดตั้งรัฐบาลผสมระหว่างสองพรรคใหญ่ต่างขั้วอย่าง ดีพีเจ และ แอลดีพี หรือที่เรียกว่า "grand coalition" กำลังได้รับแรงผลักดันเพิ่มมากขึ้น ด้วยความหวังว่าจะเป็นการยุติภาวะชะงักงันด้านกฎหมายและนโยบายต่างๆ ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนในยามที่ญี่ปุ่นยังคงต้องพยายามดิ้นรนเพื่อฟื้นฟูประเทศ

แนวคิด "grand coalition" คือการที่ทุกขั้วการเมืองปรองดองกันเพื่อให้งานเดินหน้าโดยยึดประโยชน์ของชาติบ้านเมืองและประชาชนเป็นที่ตั้ง โดยล่าสุด เหล่าผู้บริหารของทั้งพรรคดีพีเจและแอลดีพีได้เริ่มหารือถึงความเป็นไปได้ที่จะจัดตั้งรัฐบาลผสมดังกล่าว ซึ่งนอกจากผู้บริหารบางคนของพรรคดีพีเจได้ออกมาแสดงความเห็นสนับสนุนการจับมือกันชั่วคราวระหว่างสองพรรคการเมืองใหญ่แล้ว นายยูกิโอะ เอดาโนะ หัวหน้าเลขาธิการครม.ก็ยอมรับเช่นกันว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่จำเป็น

ด้านผู้บริหารบางรายของพรรคแอลดีพีแสดงความหวังว่าจะได้จัดตั้งรัฐบาลผสมกับพรรคดีพีเจเช่นกัน อย่างไรก็ตามเงื่อนไขสำคัญที่พรรคแอลดีพีตั้งไว้เป็นด่านแรกคือ นายกรัฐมนตรีนาโอโตะ คัง จะต้องลาออกจากตำแหน่งอย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งอย่างเร็วที่สุดตามความเห็นของฝ่ายค้านก็คือต้นเดือนมิ.ย. จากนั้นจึงเป็นขั้นตอนของการเลือกหัวหน้าพรรคดีพีเจคนใหม่ ซึ่งจะได้ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อนำรัฐบาลผสมชุดใหม่ด้วย

ล่าสุดในวันอังคาร (7 มิ.ย.) พรรคดีพีเจได้เริ่มเตรียมการเพื่อจัดการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคคนใหม่ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมนี้ แล้ว แต่ถึงกระนั้น พรรคฝ่ายค้านก็ไม่อยากจะรอจนถึงเดือนหน้า โดยยังคงยืนกรานว่านายคังต้องลาออกในทันทีหลังจากที่มีการออกกฎหมายฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นวันที่ 17 มิ.ย.นี้

การลาออกเร็วกว่ากำหนดของนายคังจะเปิดทางให้พรรคดีพีเจร่วมรัฐบาลกับพรรคฝ่ายค้าน ซึ่งอาจจะทำให้มีการผ่านร่างกฎหมายที่จะช่วยให้รัฐบาลสามารถออกพันธบัตรมากขึ้นเพื่อนำมาสนับสนุนงบประมาณ 1 ล้านล้านเยนในปีนี้ได้ รวมถึงผ่านงบประมาณพิเศษเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายด้านการฟื้นฟูประเทศ บูรณะก่อสร้างอาคารบ้านเรือน ตลอดจนสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติเมื่อเดือนมี.ค.

แค่เริ่มต้นก็ยุ่งยากแล้วกับเงื่อนไขที่แอลดีพีตั้งขึ้น ยังไม่นับประเด็นสำคัญๆอีกหลายประเด็นที่สองพรรคมีความเห็นไม่ลงรอยกันอยู่ตามประสาพรรคการเมืองที่อยู่กันคนละขั้ว อาทิ การขึ้นภาษีการบริโภค และการปฏิรูประบบประกันสังคม

โทโมอากิ อิวาอิ อาจารย์มหาวิทยาลัยนิฮง แสดงความเห็นว่า “การจัดตั้งรัฐบาลผสมอาจเป็นเรื่องยากอย่างน่าแปลกใจ จริงอยู่ที่มีแรงผลักดันในเรื่องดังกล่าวอยู่ในเวลานี้ แต่มันจะมีความหมายก็ต่อเมื่อทุกฝ่ายสามารถตกลงกันได้เรื่องการปฏิรูปภาษีและระบบประกันสังคม"

ขณะเดียวกัน มีผู้ตั้งข้อสงสัยว่า ความพยายามจัดตั้งรัฐบาลผสมดังกล่าวอาจไม่ประสบผลสำเร็จ “ผมไม่คิดว่ามันจะเกิดขึ้นในเร็วๆนี้" สตีเวน รีด อาจารย์มหาวิทยาลัยชูโอกล่าว “มันเป็นเป็นทฤษฎีเกมตาขาวหรือเกมวัดใจ (Game of Chicken) ที่แต่ละฝ่ายต่างบอกว่า 'เราต้องการรัฐบาลผสม และนี่คือเงื่อนไข' ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่พวกเขาต้องการจริงๆ ไม่ใช่การร่วมมือกัน"

ทั้งนี้ หากต่างฝ่ายยอมประนีประนอม ลดทิฐิ ละเว้นเงื่อนไข เลิกตั้งแง่ ถอยกันคนละก้าว ต้นซากุระที่ผลัดใบ ก็คงจะผลิดอกออกผลสวยงาม พร้อมขยายกิ่งก้านสาขาให้ความสงบร่มรื่น ในช่วงเวลาที่ญี่ปุ่นต้องการความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันมากที่สุดดังเช่นเวลานี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ