ปชป.ยื่นเรื่องปธ.สภาฯ ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความออก พ.ร.ก.กู้เงิน โดยมิชอบ

ข่าวการเมือง Monday January 30, 2012 14:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกรณ์ จาติกวณิช นายวิรัตน์ กัลยาศิริ และนายถาวร เสนเนียม ได้เป็นตัวแทน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ นำรายชื่อ ส.ส. 128 คน เข้ายื่นต่อนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยถึงความชอบในการออก พ.ร.ก.กู้เงิน 2 ฉบับ คือ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบการบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ.2555 วงเงินกู้ประมาณ 3.5 แสนล้านบาท และ พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2555 การโอนหนี้กองเงินฟื้นฟู 1.14 ล้านบาท

เนื่องจากเห็นว่า พ.ร.ก.ทั้ง 2 ฉบับ อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 วรรค 1 และ 2 ว่าด้วยความจำเป็นในการออก พ.ร.ก.ที่จะเป็นการรักษาความปลอดภัยความมั่นคงของประเทศทางเศรษฐกิจของประเทศให้กระทำเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้

นายวิรัตน์ กล่าวว่า เหตุผลที่ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนในการออก พ.ร.ก. เพราะการกู้เงินจะนำไปใช้ในโครงการระยะยาว ซึ่งไม่สามารถนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรได้ อีกทั้งรัฐบาลมีเครื่องมือที่จะหาเงินมาใช้ได้อีกโดยไม่จำเป็นต้องออก พ.ร.ก. และจากคำแถลงของรัฐบาลพบว่าที่มีความจำเป็นใช้เงินไม่ถึงจำนวนที่ออก พ.ร.ก.กู้เงิน รวมทั้งไม่มีแผนการใช้เงินที่ชัดเจน กรอบวงเงินที่มีอยู่ยังสามารถใช้แหล่งเงินกู้ได้อีก และสภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้อยู่ในเกณฑ์ที่ดี จึงไม่จำเป็นต้องออก พ.ร.ก.กู้เงิน ดังนั้นเห็นว่า การออก พ.ร.ก.ดังกล่าวไม่ใช่การรักษาความมั่นคงของประเทศ แต่เป็นการทำลายความมั่นคงทางเศรษฐกิจ

ทั้งนี้หลังจากประธานสภาฯ รับเรื่องแล้ว จะต้องพิจารณาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความภายใน 3 วัน และหากพบว่าฉบับหนึ่งฉบับใดมิชอบ ก็ถือว่าไม่สมบูรณ์มาตั้งแต่ต้น รัฐบาลต้องลาอออกเพื่อรับผิดชอบทางจริยธรรม เนื่องจากเป็นกฎหมายที่มีความสำคัญเพราะเป็นวงเงินกว่า 4 ล้านล้านบาท

ด้านนายถาวร ได้ฝากให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องนี้อย่างรอบคอบและใช้ความเด็ดขาดในการพิจารณา เพราะไม่เช่นนั้นจะเป็นบรรทัดฐานให้รัฐบาลชุดต่อไปหลีกเลี่ยงการออกพระราชบัญญัติที่ต้องผ่านการพิจารณาและตรวจสอบจากฝ่ายนิติบัญญัติ

ด้านนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า จะขอตรวจสอบความถูกต้องก่อนดำเนินการยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญตามขั้นตอน โดยหากตรวจสอบแล้วของเรื่องที่ฝ่ายค้านยื่นมาไม่มีปัญหาก็จะแจ้งให้สมาชิกรับทราบและยุติการพิจารณาไว้ก่อน จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย แต่ทั้งนี้ได้บรรจุระเบียบวาระ พ.ร.ก.กู้เงิน 4 ฉบับ ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาในวันที่ 1 ก.พ.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ