"อภิสิทธิ์"จี้รัฐทำแผนจัดการน้ำเป็นรูปธรรม, ปัดใช้ม.122เป็นเครื่องมือการเมือง

ข่าวการเมือง Wednesday February 1, 2012 15:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงแผนแม่บทบริหารจัดการน้ำฯ ของรัฐบาลว่า ตนได้อ่านรายละเอียดแล้ว และเห็นว่าโดยหลักก็เป็นไปตามที่หลายฝ่ายได้เสนอมาอยู่แล้ว เพียงแต่วันนี้อยากเห็นเป็นรูปธรรม เพราะจะเป็นตัวเร่งความเชื่อมั่น

ส่วนเรื่องการป้องกันนิคมอุตสาหกรรมที่อาจสร้างเขื่อน หรือสร้างกำแพงนั้น จากที่ได้คุยกับภาคเอกชนพบว่าเป็นการทำเพื่อปกป้องทรัพย์สิน แต่หากเกิดน้ำท่วมจริงโรงงานที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมก็ทำงานไม่ได้ เพราะคนงานในโรงงานอาศัยอยู่นอกนิคมอุตสาหกรรมก็ทำให้เกิดปัญหาอยู่ดี อีกทั้งการทำลักษณะนี้ก็เป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ แต่ตัวหลักคือแผนบริหารจัดการระบายน้ำที่เป็นภาพรวมของรัฐบาล

สำหรับกรณีที่ล่าสุด พ.ต.ท.ทักษิณ ออกมาให้สัมภาษณ์ รวมถึงการพูดผ่านส.ส. และสมาชิกพรรคเพื่อไทยที่เดินทางไปพบที่ดูไบนั้น โดยมองในประเด็นมาตรา 112 ว่าขณะนี้พรรคประชาธิปัตย์กำลังใช้เรื่องนี้เป็นเครื่องมือทางการเมือง นายอภิสิทธิ์กล่าวปฏิเสธเกี่ยวกับเรื่องนี้ พร้อมระบุว่าเป็นการแสดงจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์

นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวถึง ครม.มีมติให้ขึ้นเงินเดือนข้าราชการ ว่า การเพิ่มรายได้ก็เป็นนโยบายสำคัญที่รัฐบาลควรทำ ขณะที่รัฐบาลในอดีตตอนที่มีปัญหาค่าครองชีพสูงก็จะเพิ่มเงินค่าครองชีพ แต่ตอนพรรคเพื่อไทยหาเสียงนั้น บอกว่าจะขึ้นเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 ทำให้เข้าใจว่าหมายถึง “เงินเดือน" และเป็นการกำหนดบรรทัดฐานในการขึ้นเงินเดือนภาคเอกชนด้วย แต่เมื่อทางสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เสนอให้มีการปรับฐานเงินเดือนเพื่อให้วุฒิปริญญาตรีได้เงินเดือน 15,000 บาท ในการประชุมครม. ยังไม่อนุมัติ เพียงแต่เพิ่มเงินค่าครองชีพขึ้น

“จริงอยู่ที่เงินช่วยเหลือ หรือเงินเพิ่มนั้นก็จะทำให้มีเงินกลับบ้านไป 15,000 แต่ฐานเงินเดือนยังไม่ขึ้น ซึ่งก็จะไม่ค่อยตรง และแน่นอนในส่วนภาคเอกชนก็ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ นอกจากนั้นผมยังต้องไปดูว่ากรณีต่ำกว่าปริญญาตรีเขาได้เงินเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ แต่ในการประชุมครม.เงาจะเข้าไปดูรายละเอียด"

ทั้งนี้ นายอภิสิทธิ์แสดงความเป็นห่วงว่าจะทำให้เกิดปัญหาตามมาอีกมาก โดยเฉพาะกรณีการขึ้นค่าแรงที่รัฐบาลประกาศจะขึ้นในเดือนเมษายนนี้ เพราะการขึ้นค่าแรงดังกล่าวมีเงื่อนไขว่าเมื่อขึ้นค่าแรงถึง 300 บาทแล้วจะไม่มีการขึ้นค่าแรงไปอีก 2 ปี ดังนั้นจะทำให้เกิดช่องว่างระหว่างคนที่เพิ่งเข้าทำงานกับคนที่ทำงานมานานพอสมควรแต่ค่าจ้างอยู่ที่ 300 บาท หรือ 15,000 บาทแล้วทำให้อาจไม่ได้ขยับขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ