ศาลปกครองนัดพรุ่งนี้ชี้ชะตากรณีชาวบ้านฟ้อง ศปภ.-กทม.ปมกู้ถนนสาย 340

ข่าวการเมือง Wednesday March 14, 2012 16:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศาลปกครองกลางนัดอ่านคำพิพากษาในคดีที่นางทศสิริ พูลนวล ชาวบ้านใน จ.นนทบุรี ยื่นฟ้องศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย(ศปภ.) และกรุงเทพมหานคร(กทม.) เพื่อให้มีคำสั่งระงับการกู้ถนนสาย 340 ถนนกาญนาภิเษก และระงับการปิดประตูระบายน้ำ และเสริมกระสอบทรายตามแนวคลองมหาสวัสดิ์ช่วยรอยต่อกับพื้นที่ จ.นนทบุรี ในวันพรุ่งนี้(15 มี.ค.) เวลา 14.00 น.

คดีนี้นางทศสิริ ฟ้องว่า ศปภ.และ กทม.ปิดกั้นทางระบายน้ำทางด้านทิศเหนือและทิศใต้ของ จ.นนทบุรี ทำให้น้ำไม่สามารถไหลลงสู่ทะเลได้ เป็นเหตุให้น้ำท่วมขังและเน่าเสียบริเวณบ้านพักของตนเองในท้องที่ อ.บางบัวทอง และ อ.ใกล้เคียงใน จ.นนทบุรี จึงขอให้หน่วยงานทางปกครองทั้งสองดำเนินการระบายน้ำออกจากพื้นที่ จ.นนทบุรี

เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.54 ศาลปกครองกลางมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการใดๆ เพื่อบรรเทาทุกข์เป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษา โดยให้ ศปภ.และ กทม.ร่วมกันพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ในการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำคลองมหาสวัสดิ์เพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนที่เหมาะสมกับความสามารถในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่รับผิดชอบ นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น

แต่ยกคำขอที่ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ ศปภ.ระงับการกู้ทางหลวงหมายเลข 340(บางบัวทอง-สุพรรณบุรี) และทางหลวงหมายเลข 9(ถนนกาญจนาภิเษก) เนื่องจากเห็นว่า แม้คำสั่งของ ศปภ.มีวัตถุประสงค์ที่จะให้กู้ถนนทั้งสองสายเพื่อจะใช้เป็นเส้นทางเดินทางไปยังภาคใต้ในกรณีน้ำท่วมขังถนนพระราม 2 แต่เมื่อปรากฏว่าเส้นทางเดินทางไปยังภาคใต้ยังคงใช้สัญจรได้ตามปกติ หากแต่กลับปรากฏว่าปัจจุบันน้ำยังคงท่วมขังถนนเส้นทางหลวงหมายเลข 340 และทางหลวงหมายเลข 9 การกู้ถนนจึงได้มาใช้แก้ปัญหาในการสัญจรของรถยนต์ที่มีขนาดเล็กให้สามารถผ่านได้โดยสะดวกแทน แม้จะไม่ตรงตามวัตถุประสงค์เดิมแต่ก็ยังคงเป็นวัตถุประสงค์ที่เกี่ยวข้องกับการกู้ถนนเพื่อการสัญจรเช่นกัน และโดยที่ปรากฏว่าถนนสายดังกล่าวมีรถสัญจรจำนวนมากต่อวัน เนื่องจากเส้นทางหลวงหมายเลข 340 ถือเป็นเส้นทางที่เชื่อมโยงต่อเชื่อมกับทางหลวงหมายเลข 9 ซึ่งถนนทั้งสองสายสามารถใช้เดินทางไปยังภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ด้วย ประกอบกับถนนนอกทางที่มีการกู้ก็คงมีน้ำท่วมขังในระดับเกือบจะเท่ากันทั้งสองฝั่ง มิได้มีผลทำให้ถนนฝั่งใดฝั่งหนึ่งแห้งหรือมีน้ำท่วมขังน้อยกว่า อันแสดงให้เห็นว่า ท่อซีเมนต์ที่ ศปภ.ใช้ในการกู้ถนนมิได้ขวางทางระบายน้ำโดยตรง นอกจากนี้ยังปรากฏว่าในการวางท่อซีเมนต์ ศปภ.ได้วางเป็นช่วงๆ โดยวางเฉพาะช่วงถนนที่มีน้ำท่วมสูงและเป็นพื้นที่ต่ำ เช่น บริเวณถนนหน้าทางเข้าวัดลาดปลาดุก หรือบริเวณหน้าหมู่บ้านสมบัติบุรี เป็นต้น ดังนั้นแม้จะรื้อท่อซีเมนต์ออกไปจากถนนแล้ว น้ำก็คงจะไหลบ่าท่วมถนนโดยอาจจะไม่ตลอดทั้งสาย อันเนื่องจากน้ำเริ่มลดลง และถนนบางช่วงสูงซึ่งจะไม่เกิดผลกระทบกับการสัญจรของรถ แต่ในถนนช่วงที่มีพื้นที่ต่ำรถเล็กก็จะไม่สามารถสัญจรผ่านได้ การกู้ถนนของ ศปภ.ทำให้ถนนยังคงมีน้ำท่วมขังอยู่เล็กน้อย รถเล็กจึงสามารถสัญจรผ่านได้โดยสะดวก กรณีจึงถือเป็นภารกิจหนึ่งของ ศปภ. อีกทั้งประชาชนส่วนรวมก็ได้รับประโยชน์ด้วย

ส่วนช่วงเช้าเวลา 09.30 น. ศาลปกครองกลางได้นัดไต่สวนคดีพิพาทระหว่างบริษัท มูราตะ อิเล็กทรอนิกส์(ประเทศไทย) จำกัด กับคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ ๑๘ กระทรวงแรงงาน กรณีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท โดยบริษัท มูราตะฯ เห็นว่า คณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ ๑๘ กระทรวงแรงงาน ออกประกาศเรื่องดังกล่าวโดยไม่มีอำนาจและไม่ชอบด้วยกฎหมาย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ