ปชป.เสวนาฝ่าวิกฤตข้าวของแพง ชี้รัฐบาลแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจไม่ถูกจุด

ข่าวการเมือง Sunday March 18, 2012 11:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการเงากระทรวงพาณิชย์ กล่าวในเวทีเสวนา “ฝ่าวิกฤต ข้าวของแพง" ว่า จากการสำรวจราคาสินค้าอุปโภคบริโภคใน 10 จังหวัดช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2555 พบว่าราคาไข่ไก่ ผักคะน้า และมะนาว ปรับตัวสูงขึ้น ส่วนราคาอาหารตามสั่ง และก๋วยเตี๋ยว โดยรวมยังคงที่ ซึ่งเห็นว่ารัฐบาลควรมีมาตรการรองรับราคาต้นทุนผลิตสินค้าที่จะสูงขึ้นจากการปรับขึ้นค่าแรงทั่วประเทศในเดือนเมษายนนี้ และควรควบคุมราคาต้นทุนโดยเฉพาะการตรึงราคาน้ำมันดีเซลและ NGV ไม่ให้ปรับตัวสูงขึ้นแทนการกดราคาขายในตลาด เพราะถือเป็นการแทรกแซงกลไกตลาดและบังคับผู้ค้าขายสินค้าในราคาขาดทุน

ด้านนายพรายพล คุ้มทรัพย์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้ราคาสินค้าแพงเพราะราคาสินค้าในตลาดโลกสูงขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมา รวมถึงนโยบายของรัฐหลายส่วนที่เกิดความผิดพลาด ทำให้ไม่เกิดการค้าขายแบบเสรีและเกิดอำนาจผูกขาด ทั้งนี้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกสูงขึ้นส่งผลให้ราคาพลังงานอื่นสูงตามไปด้วย โดยเฉพาะราคาก๊าซธรรมชาติ หากไม่อยากให้ราคาน้ำมันในประเทศแพงขึ้นในระหว่างที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกสูงนั้น รัฐบาลจะต้องเข้าไปอุดหนุนจ่ายเงินสมทบกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ปัจจุบันติดลบกว่า 2 หมื่นล้านบาท

ขณะที่นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เห็นว่าที่ผ่านมาสมาคมค้าปลีกและผู้ค้าปลีกช่วยกันตรึงราคาสินค้าเพื่อช่วยเหลือผู้บริโภค แต่ก็เป็นเพียงปลายทางเท่านั้น ดังนั้นจึงเสนอตั้งเป็นกระทรวงค้าขาย โดยรวมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพาณิชย์ เพื่อให้สามารถดูแลราคาสินค้าตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง อย่างไรก็ตาม มองว่าควรปล่อยให้ราคาสินค้าเป็นตามกลไกตลาด เพื่อให้ประชาชนได้ปรับตัว

ส่วนนายชัยวัฒน์ แสงชัย ที่ปรึกษาสมาคมตลาดไทย เห็นว่า รัฐบาลจัดลำคับความสำคัญ ในการแก้ไขปัญหาผิดพลาด ซึ่งราคาสินค้าในตลาดที่สูงขึ้น ส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตร ที่มีความผันผวนตามฤดูกาล อาทิ หอม กระเทียม ส่วนกรอบเงินเฟ้อที่รัฐบาลตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 4 ทำให้ค่าของเงินลด เช่น มีเงิน 100 บาท ก็จะสามารถซื้อสินค้าได้เพียง 96 บาท และหากปล่อยให้อัตราเงินเฟ้อสูงถึงร้อยละ 6 ในอีก 10 ปีข้างหน้า เงิน 100 บาท ก็สามารถซื้อสินค้าได้เพียง 55 บาทเท่านั้น ขณะที่ค่าแรงที่เพิ่มสูงขึ้น กลับทำให้ประชาชนระมัดระวังค่าใช้จ่ายมากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ