เลือกตั้ง'57: นายกฯ ประชุมปฏิรูปร่วมเอกชน-นักวิชาการ ชูทำโรดแม็ปสู่การปฏิบัติ ยันไม่ชี้นำ

ข่าวการเมือง Thursday January 16, 2014 18:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมปฏิรูปประเทศไทย ครั้งที่ 1/2557 ร่วมกับผู้แทนองค์กรภาคเอกชนและภาควิชาการต่าง ๆ ว่า ถึงเวลาการปฎิรูปประเทศแล้ว ดังนั้นต้องมาจัดทำโรดแม็ปที่เป็นกลาง ซึ่งรัฐบาลจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง แต่จะเป็นคอยเป็นตัวประสานงาน และยืนยันว่า รัฐบาลไม่มีเจตนาโน้มน้าวการปฎิรูปทั้งสิ้น เพราะที่ผ่านมาภาคเอกชน ได้นำเสนอโรดแม็ปชัดเจนมาแล้ว ดังนั้นจะต้องนำมาหารือเพื่อเชื่อมโยงแผนไปสู่การปฎิบัติให้ และพร้อมเปิดรับฟังข้อมูลจาก ทุกภาคส่วน รวมถึงกลุ่มผู้ชุมนุม กปปส. ด้วย อีกทั้งขอให้สื่อมวลชนนำเสนอเวทีนี้สู่สาธารณชน เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบ พร้อมสะท้อนปัญหาเข้ามาก่อนสรุปผล

นายกรัฐมนตรี ยังแนะว่า ประเด็นที่จะหารือวันนี้ ส่วนตัวขอนำเสนอ 3 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนแรก หารือถึงกระบวนการดำเนินงาน ขั้นตอนที่ 2 การจัดทำโครงสร้าง ตั้งสภาปฏิรูป และขั้นตอนที่ 3 ขั้นตอนสุดท้าย สรุปเนื้อหาสาระสำคัญจากทุกภาคส่วนที่เสนอมา อาทิ ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น และอื่นๆ เพื่อมาจัดลำดับความสำคัญ

"ยืนยันพร้อมรับฟังทุกแนวคิดเห็นในวันนี้ แต่ยอมรับว่าขณะนี้สถานการณ์บ้านเมืองไม่ปกติ ซึ่งรัฐบาลก็ดำเนินการแก้ปัญหาอยู่แต่อาจจะติดขัดและล่าช้าไปบ้าง เพราะบางปัญหาแก้ไม่ได้โดยเร็ว พร้อมระบุตนเองไม่ใช่ตัวปัญหา หรือสร้างความขัดแย้ง แต่ต้องทำหน้าที่รักษาการตามระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนได้เลือกมาและรอจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง ดังนั้นตอนนี้จึงต้องประคับประคองสถานการณ์ และดูแลประชาชน ที่ได้รับความเดือดร้อน พร้อมขณะนี้อยู่ในนามรัฐบาลรักษาการ ก็ยังไม่สามารถมีอำนาจตัดสินใจอนุมัติงบประมาณช่วยเหลือเกษตรกรชาวนาได้ เพราะต้องถามไปยัง กกต.ก่อนว่า สามารถดำเนินได้หรือไม่"นายกรัฐมนตรี กล่าว

นายกรัฐมนตรี ยังระบุว่า เวทีนี้ ยังไม่ถือเป็นข้อสรุปปฎิรูปประเทศ แต่เป็นเวทีกลางรับฟังความเห็นอย่างแท้จริง เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ นอกจากนี้ให้ภาคเอกชน หรือเครือข่าย อาจจะแยกเวที เปิดโอกาส อย่างกว้างขวาง ก่อนนำเสนอสู่พรรคการเมือง เพื่อนำไปเป็นแนวทางปฎิบัติในอนาคต

ด้านนายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ เสนอทางออกในการปฏิรูปประเทศว่า หลังจากการเลือกตั้ง จะจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวหรือรัฐบาลรักษาการเท่านั้น ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยหาทางออกให้กับประเทศได้ และไม่มีทางที่รัฐบาลจะบริหารงานได้ครบ 4 ปีได้ จากปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ซึ่งรัฐบาลรักษาการจะทำหน้าที่ในการวางกลไกในการปฏิรูปเท่านั้น โดยจะนำข้อเสนอจากภาคองค์การเอกชนมาเป็นแนวทางปฏิรูปประเทศ หรือภาคเอกชนจะเสนอแนวทางไปยังพรรคการเมืองที่มีโอกาสจะจัดตั้งรัฐบาล แล้วให้พรรคนั้นลงสัตยาบันเพื่อยืนยันว่า จะทำตามที่ภาคเอกชน หรือองค์กรอื่นๆเสนอมา

ขณะที่นายวิชัย อัศรัสกร รองประธาน สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ตัวแทน 7 องค์กรภาคธุรกิจ และ 18 องค์กรเครือข่าย สรุปผลการหารือเมื่อวันที่ 9 ม.ค.ให้กับนายกรัฐมนตรีได้รับทราบ 4 ข้อเสนอ กล่าวสรุป คือให้มีการจัดตั้งองค์กรเพื่อปฎิรูปประเทศก่อนการเลือกตั้ง การทำข้อตกลงร่วมกันของพรรคการเมือง กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ และ การปรับรูปแบบของรัฐบาลรักษาการในช่วงก่อนการเลือกตั้ง

อีกทั้งย้ำให้นายกรัฐมนตรีรับทราบว่าน่าจะมีช่องทางของกฎหมายในการเลื่อนวันเลือกตั้งได้ และเวลานี้ 7 องค์กรอยากหยุดดำเนินการ แต่หากรัฐบาลจะให้เปิดเวทีก็พร้อม อีกทั้งขอให้รัฐบาลกลับมาดูแลเศรษฐกิจ ซึ่งตอนนี้ดูเหมือนสถานการณ์มีแน้วโน้มรุนแรงขึ้น

นายเอก อัฏฐากร ตัวแทนภาคประชาชน เสนอแนวคิดว่า อยากเห็นการเลือกตั้ง และไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมปิด กรุงเทพฯ และขอให้ยอมรับความคิดที่เห็นต่างในสังคม สอดคล้องกับสมัชชาปกป้องประชาธิปไตยที่เสนอให้มีการเปิดเวทีรับฟังเสียงสะท้อนจากประชาชน และการปฎิรูปต้องให้ทุกภาคส่วนต้องมีพื้นที่อยู่ร่วมกันได้ แม้จะมีความคิดเห็นต่าง เพราะมองว่าทุกคนมีสิทธิ์เท่าเทียมกันทุกคน

ส่วนนายยุทธพร อิสรชัย ผู้อำนวยการวิทยาลัยการเมือง มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เสนอแนวทางการปฏิรูปประเทศว่า หากต้องการออกจากวงจรความขัดแย้งทางการเมือง ต้องแยกเป็น 2 ส่วนคือ เรื่องการปฏิรูปและการเลือกตั้ง พร้อมแนะรัฐบาลจัดทำพิมพ์เขียวการปฏิรูปประเทศจะเป็นสิ่งที่ดี และให้ทุกพรรคการเมืองทำสัตยาบันร่วมกัน พร้อมแนะรัฐบาลต้องตั้งโจทย์ปฏิรูปในประเด็นที่สำคัญและสอดคล้องกับสถานการณ์ อย่าตั้งประเด็นกว้างมากเกินไป จะทำการปฏิรูปจะไม่สามารถสำเร็จได้ และแบ่งการปฏิรูประยะสั้น ด้วยการแก้ไขโครงสร้างสถาบันการเมือง หรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เน้นการปรับปรุงระบบการตรวจสอบให้เป็นไปอย่างสร้างสรรค์ นักการเมืองมาจากประชาชน มีกลไกรับฟังเสียงข้างน้อย

สำหรับการเลือกตั้งนั้น นายยุทธพร ได้ยกสถิติการเลือกตั้งในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่มีผู้ใช้สิทธิ์ประมาณ 70% ทุกครั้ง แต่ตั้งข้อสังเกตุว่าการเลือกตั้งครั้งนี้อาจจะไม่เหมือนกับทุกครั้งๆที่ผ่านมาจึงอยากให้รัฐบาลพิจารณาจากความต้องการประชาชนให้มากที่สุด

ขณะที่สภาเกษตรกรแห่งชาติ เสนอแนะให้มีการปฎิรูปทั้งการเมือง และประชาชนมีส่วนร่วม พร้อมดึงเครือข่ายประชาชนที่มีอยู่ นำข้อมูลมาเสนอแนะรัฐบาล เพื่อแก้ปัญหาความเป็นธรรม ลดความเลื่อมล่ำให้กับสังคม

ด้านนายธีรภัทธ์ เสรีรังสรรค์ ประธานสภาพัฒนาการเมือง สถาบันพระปกเกล้า ย้ำข้อเสนอ ของสภาพัฒนาการเมือง ที่เสนอรัฐบาลไปก่อนหน้านี้ว่า นายกรัฐมนตรี และ ครม. ต้องลาออกจากรัฐบาลรักษาการ เพราะถือเป็นสิทธิส่วนบุคคล ไม่ใช่ต้องยึดหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญ พร้อมหาคนกลางมาไกล่เกลี่ยปัญหาความขัดแย้งในขณะนี้ โดยหากรัฐบาลให้สภาพัฒนาการเมืองเป็นคนกลาง ก็พร้อมดำเนินการ

พร้อมมองว่าวิกฤติการเมืองในขณะนี้เป็นความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับประชาชน และหากรัฐบาลลาออกกลุ่มประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ก็ต้องให้คำมั่นว่าจะยุติการชุมนุม จากนั้นนำไปสู่การทำประชามติสอบถามความเห็นจากประชาชนว่าเห็นควรปฎิรูปก่อนการเลือกตั้ง หรือเลือกตั้งก่อนการปฎิรูป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ